xs
xsm
sm
md
lg

มองเป็นเห็นธรรม : ปัพพโตปมคาถา ผู้มีปกติประพฤติธรรม ย่อมพ้นจากมหาภัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ เวลา ๑๕.๕๒ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคต ยังความอาลัยโศกาดูรให้บังเกิดขึ้นในดวงใจของพสกนิกรไทยทุกหมู่เหล่า ความปรารถนาที่จะได้ถวายความอาลัยต่อพระองค์ท่าน ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ท่านทรงมีต่อตนเองและประเทศชาติ นำให้ทุกคนร่วมใจกันบำเพ็ญกุศลตามธรรมเนียมประเพณีของศาสนาที่ตนนับถือ

เมื่อมาพินิจถึงวันแรกที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ทรงรับเชิญเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ สืบสันตติวงศ์จากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช รัชกาลที่ ๘ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ดังความในคำถวายพระพรชัยมงคลของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ที่ทรงกราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวันฉลองรัชดาภิเษก ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๔ ความว่า

“...เมื่อ ๒๕ ปีโพ้น ต่อหน้ามหาสมาคม กอปรด้วยประธานสภาผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี พระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ พระราชาพระองค์หนึ่งตรัสมีความโดยสังเขปว่า “ข้าพเจ้าขอขอบใจที่ได้มอบราชสมบัติให้ ข้าพเจ้าจะทำทุกอย่างเพื่อประเทศชาติ และเพื่อความผาสุกของประชาชน อย่างเต็มความสามารถ ขอให้ท่านจงช่วยร่วมกันทำดังกล่าว” แล้วก็เสด็จก้าวไปจากมหาสมาคมนั้น ครั้นแล้วก็ทรงหันกลับมาใหม่ ตรัสอย่างหนักหน่วงว่า “และด้วยใจสุจริต” พระมหากษัตริย์พระองค์นั้น คือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ดวงมณี ดวงประทีป และดวงใจของปวงชนชาวไทย

พระราชกระแสรับสั่งและสีพระพักตร์ตอนที่รับสั่ง เป็นที่ซาบซึ้งจับจิตและตื้นตันใจผู้ที่มีวาสนาได้เห็นได้ฟัง อย่างยากยิ่งที่จะพรรณนาให้ถูกต้องได้ เพราะว่า ประการแรก ขณะนั้นทรงมีพระชนม์เพียง ๑๘ พรรษา อีกทั้งขณะนั้นเป็นยามที่ตื่นตระหนก และยามเศร้าหมองอย่างสุดที่พระมหากษัตริย์หรือบุคคลใดจะพึงกำลังเผชิญในชีวิต อีกทั้งเป็นกาลเวลาที่บ้านเมืองกำลังปั่นป่วน มิอาจที่จะทรงทราบหรือทรงเดาได้ว่าเหตุการณ์ภายในประเทศต่อไป แม้เพียงในชั่วโมงข้างหน้าวันหน้าจะเป็นอย่างไร

ประการที่สอง พระราชกระแสและพระสุรเสียง ตลอดจนสีพระพักตร์ในขณะรับสั่งนั้น แสดงถึงความจริงจัง ความแน่ชัด และความเด็ดขาด เห็นได้ชัดว่า เป็นพระราชกระแสรับสั่งที่มาจากเบื้องลึกสุดของพระราชหฤทัย จึงเป็นราชปฏิญาณที่แน่นอนและเด่นชัด และเห็นได้ว่าเป็นพระราชดำรัสที่รับสั่งโดยที่มิได้ทรงตระเตรียมหรือเขียนไว้ก่อน จึงไม่มีผู้ใดได้เตรียมบันทึกพระราชกระแสนั้น...”

ต่อมาเมื่อถึงวันบรมราชาภิเษก ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ขณะประทับเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ทรงพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการ ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” แล้วทรงหลั่งทักษิโณทก ตั้งพระราชสัจจาธิษฐาน จะทรงปกครองพระราชอาณาจักรโดยทศพิธราชธรรมจริยา

๗๐ ปีที่ทรงครองราชย์สมบัติมา ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจโดยทศพิธราชธรรม เพื่อยังสุขประโยชน์ให้บังเกิดขึ้นแก่พสกนิกรของพระองค์ ทศพิธราชธรรมจริยาที่ทรงประพฤติมาอย่างสม่ำเสมอโดยตลอด ๗๐ ปี ได้สร้างกุศลผลบุญก่อสุขประโยชน์แผ่ไพศาลไปทั่วพระราชอาณาจักร ยังสุขประโยชน์ให้บังเกิดแก่พสกนิกรตามควรแก่ฐานะ ภาพพสกนิกรที่ถวายความอาลัยแด่พระองค์ทั่วพระราชอาณาจักรและในต่างประเทศ จึงเป็นพยานแห่งพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานมาตลอด ๗๐ ปี

ปัพพโตปมสูตร ที่พระพุทธเจ้าทรงตอบคำถามของพระเจ้าปเสนทิโกศล ย่อมนำให้เห็นทศพิธราชธรรมจริยา อันเป็นปกติวิสัย ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้อย่างชัดเจน ดังนี้

พระเจ้าปเสนทิโกศล ตรัสถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระราชาผู้กษัตริย์ ได้มูรธาภิเษกแล้ว ผู้เมาแล้วเพราะความเมาในความเป็นใหญ่ ผู้อันความกำหนัดในกามกลุ้มรุมแล้ว ผู้ถึงแล้วซึ่งความมั่นคงในชนบท ผู้ชำนะซึ่งปฐพีมณฑลอันใหญ่แล้วครอบครองอยู่ ย่อมมีราชกรณียะอันใด บัดนี้หม่อมฉันถึงแล้วซึ่งความขวนขวายในราชกรณียะเหล่านั้น”

พระพุทธเจ้า ตรัสตอบว่า “ดูกรมหาบพิตร มีข้าราชการของพระองค์ ผู้ควรเชื่อถือ มีวาจาเป็นหลักฐาน มาแต่ทิศตะวันออก ๑ ทิศใต้ ๑ ทิศตะวันตก ๑ ทิศเหนือ ๑ เข้ามาเฝ้าพระองค์ แล้วแต่ละคนกราบทูลว่า ขอเดชะพระมหาราชเจ้า ขอพระองค์พึงทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ข้าพระพุทธเจ้าพึงมาจากทิศนั้น ได้เห็นภูเขาใหญ่สูงเทียมเมฆ กำลังกลิ้งบดปวงสัตว์มา พระพุทธเจ้าข้า สิ่งใดที่พระองค์จะพึงทรงกระทำ ขอได้โปรดกระทำเถิด

ดูกร มหาบพิตร เมื่อมหาภัยอันร้ายกาจ ที่ทำให้มนุษย์พินาศใหญ่โตถึงเพียงนี้ บังเกิดขึ้นแล้วแก่พระองค์ อะไรเล่า ที่พระองค์จะพึงทรงกระทำในภาวะแห่งมนุษย์ที่ได้แสนยาก”

พระเจ้าปเสนทิโกศล ตรัสตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้นเมื่อมหาภัยอันร้ายกาจ ที่ทำให้มนุษย์พินาศอันใหญ่โตถึงเพียงนั้น บังเกิดขึ้นแก่หม่อมฉัน อะไรจะพึงเป็นกิจที่หม่อมฉัน พึงกระทำ ในภาวะแห่งมนุษย์ที่ได้แสนยากเล่า นอกจากการประพฤติธรรม นอกจากการประพฤติสม่ำเสมอ นอกจากการสร้างกุศล นอกจากการทำบุญ”

พระพุทธเจ้า ตรัสว่า “ดูกร มหาบพิตร อาตมภาพขอถวายพระพรให้พระองค์ทรงทราบ ชราและมรณะย่อมครอบงำพระองค์ อะไรเล่า จะพึงเป็นกิจที่มหาบพิตรพึงกระทำ”

พระเจ้าปเสนทิโกศล ตรัสตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อชรามรณะครอบงำ คติวิสัยแห่งการรบด้วยทรัพย์แม้เหล่านั้นหามีไม่ เมื่อชรามรณะครอบงำอยู่ อะไรเล่าจะพึงเป็นกิจที่หม่อมฉันควรทำ นอกจากการประพฤติธรรม นอกจากการประพฤติสม่ำเสมอ นอกจากการสร้างกุศล นอกจากการทำบุญ”

พระพุทธเจ้า ตรัสว่า “ถูกแล้วๆ มหาบพิตร ก็เมื่อชรามรณะครอบงำอยู่ อะไรเล่าจะพึงเป็นกิจที่พระองค์ควรทำนอกจากการประพฤติธรรม นอกจากประพฤติสม่ำเสมอ นอกจากการสร้างกุศล นอกจากการทำบุญ” แล้วทรงแสดงปัพพโตปมคาถา ความว่า

“ภูเขาใหญ่แล้วด้วยศิลา จดท้องฟ้า กลิ้งบดสัตว์มาโดยรอบทั้ง ๔ ทิศ แม้ฉันใด ชราและมัจจุก็ฉันนั้น ย่อมครอบงำสัตว์ทั้งหลาย คือ พวกกษัตริย์ พวกพราหมณ์ พวกแพศย์ พวกศูทร พวกจัณฑาล และคนเทมูลฝอย ไม่เว้นใครๆไว้เลย ย่อมย่ำยีเสียสิ้น ณ ที่นั้น ไม่มียุทธภูมิสำหรับพลช้าง พลม้า ไม่มียุทธภูมิสำหรับพลรถ ไม่มียุทธภูมิสำหรับพลราบ และไม่อาจจะเอาชนะแม้ด้วยการรบด้วยมนต์หรือด้วยทรัพย์

เพราะฉะนั้นแล บุรุษผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญา เมื่อเล็งเห็นประโยชน์ตน พึงตั้งศรัทธาไว้ในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม และในพระสงฆ์ ผู้ใดมีปรกติประพฤติธรรมด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจ บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญผู้นั้นในโลกนี้นั่นเทียว ผู้นั้นละโลกนี้ไป ย่อมบันเทิงในสวรรค์”


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงปฏิบัติพระราชทศพิธราชธรรมจริยา จนเป็นปกติวิสัย ดังนัยแห่งปัพพโตปมคาถา เมื่อเสด็จสวรรคต จึงจุติในดุสิตสวรรค์ตามวิสัยแห่งพระโพธิสัตว์แล

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 191 พฤศจิกายน 2559 โดย พระครูพิศาลสรนาท วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม.)
กำลังโหลดความคิดเห็น