• สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติพระราชกิจทางพระพุทธศาสนาอย่างสมบูรณ์ มาตั้งแต่พระชนมพรรษายังน้อย ทรงพอพระราชหฤทัยในการฟังเทศน์ที่มีอยู่เป็นประจำ เมื่อได้ทรงพบปะกับพระมหาเถระผู้ใหญ่ ก็มีพระราชปุจฉา และทรงสดับข้อธรรมนั้นๆ อยู่เนืองๆ”
• ในหลวงกับหลวงปู่ฝั้น
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร
เมื่อ พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และทูลกระหม่อมเจ้าฟ้า ได้เสด็จพระราชดำเนินไปกราบนมัสการหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ณ วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ในคราวเสด็จพระราชทานผ้าพระกฐินส่วนพระองค์ครั้งแรก พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นมัสการถามหลวงปู่ฝั้น ความสำคัญว่า.....
“ทำอย่างไร ประเทศชาติ ประชาชน จะอยู่ดีกินดี มีความสามัคคีปรองดองกัน?”
หลวงปู่ฝั้นฯ ถวายวิสัชนาว่า “ให้เข้าหาพระศาสนา เพราะศาสนาสอนให้ละชั่ว กระทำความดี ทำใจให้ผ่องใส”
ในหลวงจึงตรัสถามอีกว่า “คนส่วนมากทำดี คนส่วนน้อยทำชั่ว จะทำให้คนส่วนมากเดือดร้อนไหม? ทำอย่างไรจึงจะแก้ไขได้?”
หลวง ปู่ฝั้นฯ ถวายวิสัชนาว่า “ขอถวายพระพร ทุกวันนี้ คนไม่รู้ศาสนา จึงเบียดเบียนกัน ถ้าคนเรานึกถึงศาสนาแล้ว ก็ไม่เบียดเบียนกัน เพราะต้องการความสุข ความเจริญ คนอื่นก็เช่นกัน คนทุกวันนี้ เข้าใจว่า ศาสนาอยู่กับวัด อยู่ในตู้ ในหีบ ในใบลาน อยู่กับพระพุทธเจ้า ประเทศอินเดียโน่น จึงไม่สนใจ บ้านเมืองจึงเดือดร้อนวุ่นวาย มองหน้ากันไม่ได้ ถ้าคนเราถือกันเป็นบิดามารดา เป็นพี่น้องกันแล้ว ก็สบาย ไปมาหาสู่กันได้ เพราะใจเราไม่มีเวร เวรก็ไม่มี ใจเราไม่มีกรรม กรรมก็ไม่มี ฉะนั้น ให้มีพรหมวิหารธรรม อย่างมหาบพิตรเสด็จมานี้ ทุกอย่างเรียบร้อยหมด”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชศรัทธาในหลวงปู่ฝั้นเป็นอย่างสูง ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดป่าอุดมสมพรหลายครั้ง
และเมื่อหลวงปู่ฝั้นเข้ามาในกรุงเทพฯ ก็โปรดให้อาราธนาเข้าไปแสดงธรรมในพระราชฐาน บางคราวทรงรับสั่งสนทนากับหลวงปู่จนดึกมาก เวลาหลวงปู่จะลุกขึ้น เพราะนั่งอยู่อิริยาบถเดียวนานเกินควร จึงลุกขึ้นไม่ได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเสด็จเข้าทรงช่วยพยุงหลวงปู่ด้วยพระองค์เอง
• ในหลวงกับหลวงปู่ดู่
หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ วัดสะแก จ.พระนครศรีอยุธยา
“เพราะพระเจ้าแผ่นดิน(ร.9) ท่านปฏิบัติ(ธรรม) ต่อไปพุทธศาสนาในเมืองไทยจะเจริญขึ้น เพราะท่านเป็นผู้นำเป็นแบบอย่าง”
• ในหลวงกับหลวงปู่แหวน
หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่
ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงครองราชย์ พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมพระบรมวงศานุวงศ์ไปยังวัดดอยแม่ปั๋ง เพื่อนมัสการและสนทนาธรรมกับหลวงปู่แหวนหลายครั้งหลายหน ตั้งแต่บ่ายสองโมง จนถึงหนึ่งทุ่มสองทุ่มเป็นประจำ การเสด็จมาวัดดอยแม่ปั๋งแต่ละครั้ง ถือเป็นการส่วนพระองค์
เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรและประทับที่เชียงใหม่ หลังจากนั้นก็เสด็จไปดอยแม่ปั๋ง หลวงปู่แหวนได้กราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตอนหนึ่งว่า
“พระองค์นั้นมัวแต่ห่วงคนอื่น ไม่ห่วงพระองค์เองเลย”
เมื่อได้ฟังเช่นนั้นแล้ว ล้นเกล้าทรงพระสรวลด้วยความพอพระทัย
มีอีกครั้งหนึ่ง สมัยที่ในหลวงทรงพระประชวรที่เชียงใหม่ ข้าราชบริพารได้นำเฮลิคอปเตอร์มานิมนต์หลวงปู่ให้ไปที่พระตำหนัก เพื่อแผ่พลังจิตช่วยรักษาอาการประชวรของพระองค์ หลวงปู่ท่านปฏิเสธการนิมนต์ และได้บอกว่า
“อยู่ที่ไหนเฮาก็ส่งใจไปถึงพระองค์ได้ ก็ส่งไปทุกวันอยู่แล้ว”
หลวงปู่แหวนท่านตั้งสัจจะอธิษฐานว่า แม้ท่านจะเจ็บป่วยก็จะไม่ไปรักษาที่โรงพยาบาล แต่ในช่วงท้ายของชีวิต เมื่อในหลวงทรงอาราธนา ท่านจึงยอมทำตาม และบอกว่าที่ไปเพราะในฐานะประชาชนคนหนึ่ง หลวงปู่จึงไม่กล้าขัดพระราชประสงค์ได้
นอกจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณจัดสร้างสิ่งมงคล โดยใช้รูปของหลวงปู่ นำมาแจกในพระราชพิธีสำคัญอีกด้วย
• ในหลวงกับหลวงพ่อพุธ
พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา
“เวลานี้บ้านเมืองของเราอยู่เพราะในหลวงองค์เดียวเท่านั้น ไม่เคยมีในประวัติศาสตร์ที่ในหลวงจะเสด็จเหยียบแผ่นดินไทยไปทุกหย่อมหญ้า เหมือนในหลวงพระองค์นี้ เพราะฉะนั้น ใครๆสวดมนต์ภาวนาอธิษฐานให้ท่านมีพระชนมายุยิ่งยืนนานเป็นร้อยปี พันปี หมื่นปี แสนปี ก็ยิ่งดี ถ้าเป็นไปได้”
• ในหลวงกับหลวงปู่เทสก์
พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์(เทสก์ เทสรังสี) วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงกราบนมัสการและสนททนาธรรมกับหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เป็นประจำทุกๆปี
ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จไปเยี่ยมหลวงปู่เทสก์ ท่านถามหลวงปู่เทสก์ ว่า
“หลวงปู่ ที่สุดของศีลคืออะไร ที่สุดของสมาธิคืออะไร ที่สุดของปัญญาคืออะไร”
หลวงปู่เทสก์ตอบในหลวงว่า “ที่สุดของศีลคือเจตนาวิรัติ เจตนางดเว้นทำชั่ว ที่สุดของสมาธิคืออัปนาสมาธิ ที่สุดของปัญญาคือไตรลักษณ์”
• ในหลวงกับหลวงพ่อปัญญา
พระธรรมโกศาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) วัดชลประทานรังสฤษดิ์ จ.นนทบุรี
“ในหลวงพระองค์นี้มีพระราชจริยวัตรอันงดงาม นอกจากทรงมีพระเมตตากรุณาแล้ว ยังมีพระราชวิริยะอุตสาหะพยายามเป็นเลิศ เสด็จไปเยี่ยมประชาชนในที่ต่างๆตลอดเวลา เสด็จไปเหนือ ไปใต้ ไปตะวันออก ไปตะวันตก ทุกแห่ง เพื่อดูแลทุกข์สุขของประชาชน ที่ใดมีทุกข์พระองค์เสด็จไปช่วย น้ำท่วมก็เสด็จไปช่วย ฝนแล้งก็เสด็จไปช่วย ทรงทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน สมดังพระราชปณิธานที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ซึ่งพระองค์ทรงพระราชวิริยะอุตสาหะ กระทำทุกอย่างตามเป้าหมายที่ทรงวางไว้
ชีวิตพระองค์เป็นชีวิตแห่งการให้ เสด็จไปไหนก็เสด็จไปเพื่อให้ ให้แต่ความสุขแก่ประชาชนทุกถ้วนหน้า ทรงปฏิบัติงานเหน็ดเหนื่อยตลอดเวลา ทำงานโดยไม่พักร้อน ทำงานตลอดเวลา ไม่จำกัดว่าเช้าสายบ่ายเย็น แม้กลางคืนก็ทรงงาน
เมื่ออยู่ในพระราชวังอันเป็นที่ประทับ ก็ทรงปฏิบัติหน้าที่ของพระองค์อยู่ พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินตลอด 24 ชั่วโมง ทรงปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์สุขแห่งประชาชน เป็นที่ประจักษ์แก่ใจคนไทยทุกถ้วนหน้า
คนไทยรู้จักพระองค์ในฐานะพระผู้เมตตากรุณาต่อประชาราษฎร์ เราทั้งหลายอยู่ภายใต้พระบารมีของพระองค์ ควรจะเอาอย่างพระองค์ พระองค์ทนทำงานเหน็ดเหนื่อยจนพระเสโทไหลตามพระนาสิก”
• ในหลวงกับหลวงปู่ดูลย์
พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล) วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์
วันที่ 12 มีนาคม 2526 เวลา 18.19 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จมาเยี่ยมหลวงปู่ (ซึ่งอาพาธและพักรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ) ทำให้ผู้รักษาพยาบาลหลวงปู่ต้องตกตะลึงเป็นอันมาก เนื่องจากไม่มีผู้ใดได้ทราบมาก่อนว่าพระองค์ท่านจะเสด็จ ทราบก็ต่อเมื่อพระองค์ท่านเสด็จมาถึงห้องหลวงปู่แล้ว แต่หลวงปู่ท่านนั่งเตรียมพร้อมอยู่แล้ว
ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนทนากับหลวงปู่นั้น สมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงจัดดอกไม้ หน้าโต๊ะหมู่บูชา ด้วยพระองค์เอง และทรงปรุงน้ำปานะจากส้มเขียวหวาน ด้วยฝีพระหัตถ์ แล้วน้อมเกล้าถวายในหลวง เพื่อทรงถวายหลวงปู่
หลวงปู่ฉันน้ำปานะพระราชทานโดยใช้หลอดดูด พระครูนันทปัญญาภรณ์กราบเรียนหลวงปู่ว่า “ในหลวงถวายแล้ว หลวงปู่ต้องฉันให้หมด”
หลวงปู่ตอบว่า “ไม่หมดหรอก”
ในหลวงทรงแย้มพระโอษฐ์ แล้วทรงสนทนาธรรมกับหลวงปู่ต่อไป โดยหลวงปู่ได้แสดงถวายถึงการเข้าฌาน เข้าสู่ปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ในระหว่างนั้น คณะแพทย์ผู้ให้การรักษา ได้เปิดโอกาสให้หลวงปู่พิจารณาตามอัธยาศัยว่า จะกลับไปรักษาพยาบาลที่วัดก็ได้ ท่านพระครูนันทฯ กำหนดว่าจะรับหลวงปู่กลับวัดในวันที่ ๒๒ มีนาคม จึงถือโอกาสถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงทราบ
พระองค์ทรงยินดี และตรัสว่า “ถ้าหลวงปู่ได้กลับไปก็คงทำประโยชน์ได้มาก”
พระองค์จึงได้พระราชทานยานพาหะรถยนต์ของพระราชสำนัก พร้อมรถพยาบาล และตำรวจทางหลวงนำทาง ก่อนเสด็จกลับ ทั้งสองพระองค์ทรงถวายพรหลวงปู่เหมือนกับครั้งก่อนว่า “ขอให้หลวงปู่ดำรงขันธ์อยู่มากกว่าหนึ่งร้อยปี”
หลวงปู่ก็ตอบเหมือนครั้งก่อนว่า “แล้วแต่สังขารเขาจะเป็นไปเองของเขาหรอก”
• ในหลวงกับหลวงปู่โต๊ะ
หลวงปู่โต๊ะ อินทสุวัณโณ วัดประดู่ฉิมพลี กรุงเทพฯ
“ทำอย่างพระเจ้าแผ่นดิน พากันทำ ให้เอาอย่าง ถึงไม่เท่าก็ให้ทำ ทำเข้า อย่างไหนที่ทำได้ก็พากันทำ เอาอย่างพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินองค์นี้(พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช) มีพระคุณและทรงคุณอันประเสริฐ”
• ในหลวงกับพ่อท่านคล้าย
พระครูพิศิษฐ์อรรถการ(คล้าย จันทสุวัณโณ) วัดสวนขัน จ.นครศรีธรรมราช
กิตติศัพท์ทางคุณงามความดีของพ่อท่านคล้าย จันทสุวัณโณ วัดสวนขัน จ.นครศรีธรรมราช ทรงทราบถึงในหลวง ทรงมีความสนพระทัยและศรัทธา จึงทรงพระกรุณาให้นิมนต์พ่อท่านคล้าย เข้ารับพระราชทานภัตกิจในพระราชวังสวนจิตรลดา เมื่อพ่อท่านคล้ายกลับวัด ลูกศิษย์ลูกหาต่างพากันไปกราบที่บนกุฏิ เพื่อให้ท่านเล่าให้ฟัง
ท่านลำดับเหตุการณ์ ตั้งแต่เจ้าพนักงานนำท่านเข้าไปนั่งรอภายในห้องต้อนรับ ขณะที่รอในหลวงเสด็จออก ท่านว่า “หัวใจมันเต้นแรงเหมือนนั่งอยู่ปากถ้ำพระยาราชสีย์ยังไงยังงั้น”
เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกก้มกราบ ทำให้อิ่มใจพองคับอก ชื่นชมในพระบารมี ช่างงดงามเป็นสง่าน่าเกรงขามยิ่งนัก ในหลวงทรงสนทนาไต่ถาม โดยมีพระปลัดสุพจน์คอยชี้แจงถวายระหว่างสำเนียงปักษ์ใต้กับภาษากลาง จนในที่สุดในหลวงทรงก้มพระเศียรเข้าใกล้พ่อท่านคล้ายด้วยพระราชประสงค์ให้ท่านรดน้ำมนต์ พรมพระเศียรให้พร ด้วยทรงพระราชศรัทธาเคารพ
ถึงตรงนี้พ่อท่านคล้ายพูดว่า “กูขนพองไปหมด พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงกฤดาภินิหาร ครองบ้านครองเมือง จะมาก้มให้พระป่าสามัญลูบพระเศียร ท่านเป็นเทวดาของปวงชน”
พ่อท่านคล้ายเลยทูลว่า “มหาบพิตรได้ทรงโปรดยื่นพระหัตถ์มาเถิด” ในหลวงทรงเงยพระพักตร์ยิ้ม และทรงยื่นพระหัตถ์ทั้งสองให้พ่อท่านคล้ายจับขึ้นเสมออก อธิษฐานพระชัยมนต์คาถาถวาย แล้วรดน้ำมนต์ใส่ฝ่าพระหัตถ์ของพระองค์เอง พร้อมถวายพระพรตลอดเวลา ในหลวงทรงอิ่มเอิบปลาบปลื้มพระราชหฤทัยและทรงปวารณาทรงรับอุปัฏฐากเป็นการส่วนพระองค์ ครั้นลูกศิษย์ถามท่านว่า “พ่อท่านถวายของดีอะไรหรือเปล่า” ท่านตอบว่า “ไม่ให้เทวดาผู้เป็นยอดคนแล้ว จะให้ใครเล่า” และกล่าวอีกว่า “ในหลวงพ่อองค์นี้ ทรงบุญญาภินิหาร ทรงทศพิธราชธรรมบริบูรณ์”
• ในหลวงกับหลวงปู่สิม
พระญาณสิทธาจารย์ (สิม พุทธาจาโร) วัดถ้ำผาปล่อง จ.เชียงใหม่
“ครูบาขาวปี วัดพระพุทธบาทผาหนามเคยเป็นช้างนาฬาคิรี ส่วนในหลวงองค์ปัจจุบันเป็นช้างป่าเลไลยก์นะ”
• ในหลวงกับหลวงปู่ขาว
หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู
ครั้งแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช ได้เสด็จไปนมัสการหลวงปู่ขาว ซึ่งขณะนั้นหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ได้อยู่ด้วย เมื่อถึงวันที่กำหนด หลวงปู่ทั้งสององค์ครองจีวรอย่างเรียบร้อย รออยู่จนเย็น จึงบ่นกันว่า "ไม่เห็นมา ให้รออยู่" "นั่นซี ไม่เห็นมา มีแต่ทหารสองคนพ่อลูก มาคุยกันอยู่เป็นนานสองนาน"
แล้วหลวงปู่ทั้งสององค์ก็หัวเราะกัน เมื่อพระเณรช่วยกันชี้แจงว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินแล้ว พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ที่หลวงปู่ว่าทหารสองคนพ่อลูกนั่นแหละ...!!
หลวงปู่ท่านว่า “ไม่เห็นมีขบวนแห่!!”
ด้วยความที่ทรงเคารพรัก และห่วงใยหลวงปู่ ล้นเกล้าฯทั้งสองพระองค์ ทรงพระกรุณาเสด็จไปเยี่ยมอาการอาพาธหลายครั้ง ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระอุตสาหะประกอบพิธี "ยืดอายุ" ของหลวงปู่ โดยทรงถือขัน(อย่างขันน้ำ) บรรจุดอกไม้ 5 สี เข้าไปประเคน พอหลวงปู่รับแล้ว ก็ทรงไม่ให้หลวงปู่ “ทิ้งขันธ์” (เล่นคำ ขัน กับขันธ์) ขอให้หลวงปู่ อยู่ไปอีกนานๆ
หลวงปู่หัวเราะ แต่ไม่ได้รับสนองพระราชดำรัส
หลวงปู่ปรารภต่อมาว่า “มันหนักกระดูก ขันธ์มันเป็นทุกข์หนัก แบกขันธ์มันหนักกว่าแบกครก”
หลังจากนั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็ได้ทรงขอเช่นกัน และทุกครั้งที่ได้รับข่าวว่า จะเสด็จฯไปทรงเยี่ยม หลวงปู่จะมีอาการกระปรี้กระเปร่าขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
• ในหลวงกับหลวงปู่หลุย
หลวงปู่หลุย จันทสาโร วัดถ้ำผาบิ้ง จ.เลย
“อยู่หัวหิน อยู่ใกล้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มักจะเกิดธรรมแปลกๆ เป็นอัศจรรย์ เป็นเพราะทั้งสองพระองค์ทรงมีพรหมวิหารอยู่ในน้ำพระทัยของพระองค์ ทั้งสองพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์และพระราชินี ที่เพียบพร้อมทุกอย่าง ไม่ทรงทิ้งธรรม เป็นคนมีบุญเสด็จอวตารมาจากสวรรค์มาเกิด มาบริหารชาติ มาทำนุบำรุงศาสนาให้เจริญ ประเทศไทยไม่สิ้นจากคนดี นี้เป็นอัศจรรย์ประการหนึ่งของประเทศไทย”
• ในหลวงกับสมเด็จพระมหาวีรวงศ์
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสาโร) วัดราชผาติการาม กรุงเทพฯ
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสาโร มหาเถร) มีชื่อเสียงในการแสดงพระธรรมเทศนายิ่งนัก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชศรัทธาในพระธรรมเทศนาของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์เป็นอย่างยิ่ง โปรดให้เจ้าหน้าที่มาบันทึกเสียงการแสดงพระธรรมเทศนาเกือบทุกกัณฑ์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระธรรมเทศนาพระราชทานในโอกาสพิเศษ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงสดับพระธรรมเทศนาของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เรื่องพระมหาชนกเสด็จทอดพระเนตรพระราชอุทยาน ในกรุงมิถิลา ทำให้ทรงสนพระราชหฤทัย ทรงพระราชดำริว่า พระมหาชนกชาดก มีคติที่แจ่มแจ้ง และน่าจะเป็นประโยชน์แก่ชนทุกหมู่ จึงทรงค้นเรื่องพระมหาชนกในพระไตรปิฎก และทรงแปลเป็นภาษาอังกฤษ และภาษาสันสกฤตอีกภาษาหนึ่ง ตรงจากมหาชนกชาดก ตั้งแต่ต้นเรื่อง โดยทรงดัดแปลงเนื้อเรื่องเล็กๆน้อยๆ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น และเหมาะสมกับสังคมปัจจุบันตั้งแต่ พ.ศ. 2531
• ในหลวงกับหลวงตามหาบัว
พระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสัมปันโน) วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี
“ขอให้พี่น้องทั้งหลาย ได้ระลึกธรรมทั้งสองประเภท คือ วงศ์กษัตริย์ หนึ่ง พระพุทธศาสนา หนึ่ง ให้เข้าครองภายในจิตใจ จะเป็นเหมือนว่าเรามีพ่อมีแม่ ไปที่ไหนอบอุ่น ผิดกับลูกกำพร้าเป็นไหนๆ
นี่เรามีทั้งเกาะเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของเรา หมุนไปทางศาสนาก็เป็นธรรมอันเลิศเลอ หมุนไปทางพระมหากษัตริย์ ท่านก็ทรงเลิศเลอด้วยคุณธรรมมาแล้ว ไม่มีใครเสมอเหมือนแล้วแหละสำหรับเมืองไทยเรา ในการที่ทรงสนใจต่อพระพุทธศาสนา พระองค์มอบทุกสิ่งทุกอย่างกับพระพุทธศาสนา เป็นต้นมา จึงเรียกว่าเป็นน้ำอันเย็นฉ่ำแก่พี่น้องชาวไทยเรา ขอให้ยึดหลักทั้งสองประเภทที่เลิศเลอนี้ไว้ เป็นขวัญตาขวัญใจของเรา”
• ในหลวงกับพระอาจารย์จวน
พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ วัดเจติยาคีรีวิหาร จ.หนองคาย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมนมัสการท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ณ ภูทอก และทรงมีพระราชดำรัสทางธรรมะ ทรงมีพระราชปรารภจะให้จัดสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อช่วยราษฎรในการเกษตร ท่านพระอาจารย์จวนก็อนุโมทนาในพระราชดำรินั้น และตั้งต้นคิดจัดทำฝายน้ำตามบริเวณหมู่บ้านหลายแห่ง โดยเฉพาะระหว่างภูทอกน้อยและภูทอกใหญ่ ให้รถแทรกเตอร์มาปรับพูนดิน สร้างอ่างเก็บน้ำ เงินกฐิน ผ้าป่า และแม้แต่เงินพระราชทานที่โปรดเกล้าฯ ถวายในวาระต่างๆ ที่ท่านได้รับนิมนต์ไปในงานพิธีในพระราชวังก็เช่นเดียวกัน ท่านสั่งจ่ายเป็นค่าแทรกเตอร์หมด
ท่านพระอาจารย์จวนบอกว่า "เงินของท่าน ก็ทำบุญให้ท่าน ความจริงแผ่นดินนี้เป็นของท่าน ราษฎรก็เป็นของท่าน ก็เอาเงินของท่าน ทำให้แผ่นดินของท่าน ทำให้ราษฎรของท่าน"
• ในหลวงกับหลวงพ่อคูณ
พระเทพวิทยาคม(คูณ ปริสุทโธ) วัดบ้านไร่ จ.นครราชสีมา
เมื่อปี 2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ มาที่วัดบ้านไร่ เพื่อทรงประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่บุษบกเหนือพระอุโบสถวัดบ้านไร่ โดยก่อนหน้าที่จะมีงานใหญ่ บรรดาลูกศิษย์ต่างก็พากันเป็นห่วง กลัวว่าหลวงพ่อคูณท่านจะพูดราชาศัพท์ไม่ได้
เรื่องนี้หลวงพ่อท่านก็บอกว่า “จะไปยากอะไร ก็พูดว่าขอถวายพระพรมหาบพิตร หรือไม่ก็ถวายพระพรคุณโยม ท่านสบายดีหรือ ... ท่านคงจะไม่ถือ เพราะท่านเป็นจอมปราชญ์ พูดอย่างไรกับท่าน ท่านก็ย่อมรู้ดี”
หลังวันงานใหญ่ผ่านไป ลูกศิษย์ได้ถามหลวงพ่อคูณว่า ในหลวงทรงตรัสอะไรกับหลวงพ่อบ้าง หลวงพ่อคูณเงียบเพียงครู่ ก่อนจะตอบเบาๆ ว่า
“มึงรู้ไหม มือพระองค์เป็นมือคนทำงานอย่างก๊ะชาวไร่ชาวนา แข็งกระด้างมากๆ”
และเมื่อถูกถามอีกว่า “หลวงพ่อใช้คำเรียกพระองค์ว่าอะไร” หลวงพ่อท่านเงียบ แล้วก็ตอบว่า พระองค์ตรัสประโยคแรกว่า…“หลวงพ่อครับ พูดตามปกตินะครับ ผมเป็นคนไทย”
• ในหลวงกับหลวงพ่อเกษม
หลวงพ่อเกษม เขมโก สำนักสงฆ์สุสานไตรลักษณ์ จ.ลำปาง
นับแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พบและสนทนาธรรมกับหลวงพ่อเกษม ซึ่งไปรับเสด็จฯอยู่ที่วัดคะตึกเชียงมั่น จ.ลำปาง จากนั้นมาพระองค์ก็ได้เสด็จมานมัสการหลวงพ่อเกษมบ่อยครั้ง และนี่คือส่วนหนึ่งของการสนทนาธรรมในครั้งนั้น
ในหลวง : หลวงพ่ออยู่ตามป่ามีความสงบ ย่อมจะมีโอกาสปฏิบัติธรรมได้มากกว่าพระที่วัดในเมือง ซึ่งมีภารกิจเกี่ยวกับการปกครองและงานอื่นๆ จะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า
หลวงพ่อเกษม : ขอถวายพระพร อาจจะเป็นอย่างนั้นก็ได้ เพราะอยู่ป่าไม่มีภารกิจอย่างอื่น แต่ก็ขึ้นอยู่กับศีลบริสุทธิ์ด้วย เพราะเมื่อศีลบริสุทธิ์จิตใจไม่ฟุ้งซ่าน นิวรณ์ไม่ครอบงำ ก็ปฏิบัติได้
ในหลวง : การปฏิบัติอย่างพระมีเวลามากย่อมจะได้ผลเร็ว ส่วนผู้ที่มีเวลาน้อยมีภารกิจมาก จะปฏิบัติอย่างหลวงพ่อก็ไม่อาจทำได้ แล้วจะมีวิธีปฏิบัติอย่างไร เราจะหั่นแลกช่วงเวลาช่วงเช้าให้สั้นเข้าจะได้ไหม คือ ซอยเวลาออกจากหนึ่งชั่วโมงเป็นครึ่งชั่วโมง จากครึ่งชั่วโมงเป็นสิบนาที หรือห้านาที แต่ให้ได้ผล คือ ได้รับความสุขเท่ากัน ยกตัวอย่างเช่น นั่งรถยนต์จากเชียงใหม่มาลำปางก็สามารถปฏิบัติได้ หรือระหว่างที่มาอยู่ในพิธีนี้มีช่วงที่ว่างอยู่ ก็ปฏิบัติเป็นระยะไป อย่างนี้จะถูกหรือเปล่าก็ไม่ทราบ อยากจะเรียนถาม
หลวงพ่อเกษม : ขอถวายพระพร จะปฏิบัติอย่างนั้นก็ได้ ถ้าแบ่งเวลาได้
ในหลวง : ไม่ถึงแบ่งเวลาต่างหากออกมาทีเดียว ก็อาศัยเวลาขณะที่ออกมาทำงานอย่างอื่นอยู่นั้นแหละ ได้หรือไม่ คือ ใช้สติอยู่ทุกขณะจิตที่เกิดดับ ทำงานด้วยความรอบคอบให้สติตั้งอยู่ตลอดเวลา
หลวงพ่อเกษม : ขอถวายพระพร มหาบพิตรทรงปฏิบัติอย่างนั้นถูกแล้ว การที่มหาบพิตรเสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติงานอย่างนี้ ก็เรียกว่าได้ทรงเจริญเมตตาในพรหมวิหารอยู่
• ในหลวงกับพระอาจารย์วัน
พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร(วัน อุตฺตโม) วัดถ้ำอภัยดำรงชัย จ.สกลนคร
“มีแต่คนไม่ฉลาดเท่านั้นที่จะไม่รู้ว่า ในหลวงพระองค์นี้มีดีอย่างไร..”
• ในหลวงกับครูบาพรหมจักร
พระสุพรหมยานเถร (ครูบาพรหมจักร) วัดพระพุทธบาทตากผ้า จ.ลำพูน
“กระแสจิตของพระองค์ท่านมีพลัง พลังที่เกิดจากการปฏิบัติที่ดี”
• ในหลวงกับหลวงพ่อฤาษีลิงดำ
พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี
“พระองค์ทรงมีกระแสจิตแรงมาก ฉันเองยังสู้ท่านไม่ได้”
• ในหลวงกับหลวงพ่ออุตตมะ
พระราชอุดมมงคล (หลวงพ่ออุตตมะ) วัดวังก์วิเวการาม จ.กาญจนบุรี
มีผู้พูดถึงผู้ยิ่งใหญ่ระดับประเทศให้หลวงพ่ออุตตมะฟัง ท่านเฉยมาก ก่อนจะปรารภว่า
“เขาไม่ได้ทำประโยชน์อะไรมากเหมือนกับในหลวงหรอก”
• ในหลวงกับหลวงพ่อวิริยังค์
พระธรรมมงคลญาณ (วิริยังค์ สิรินธโร) วัดธรรมมงคล กรุงเทพฯ
“ท่านมิได้เสด็จไปไหน ท่านเพียงแต่เปลี่ยนภพภูมิที่สูงขึ้น ความดีของท่านยังสถิตอยู่ในใจเรา เรามีหน้าที่ทำดีต่อไปตามพ่อสอน มีพุทธพจน์กล่าวว่า ผู้ทำความดีแม้มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียวก็มีค่า แต่คนไม่ดีแม้มีอายุยืนยาวก็ชื่อว่าไร้ค่า”
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 191 พฤศจิกายน 2559 โดย กองบรรณาธิการ)