ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ฮิลลารี คลินตัน ต้องเผชิญกับมรสุมข่าวฉาวที่ซัดกระหน่ำในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียง เมื่อสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) สั่งเปิดการสอบสวนอีเมลของเธออีกระลอก จนอาจบั่นทอนคะแนนนิยมที่เธอกำลังเป็นฝ่ายนำมหาเศรษฐี โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน ขณะที่โพลหลายสำนักยังคงทำนายว่าอดีตรัฐมนตรีหญิงจากพรรคเดโมแครตผู้นี้จะเป็นฝ่ายคว้าชัยในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะเปิดฉากในวันที่ 8 พ.ย.
เรื่องที่ ฮิลลารี คลินตัน ใช้อีเมลส่วนตัวรับส่งข้อมูลขณะทำงานเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศในช่วงปี 2009-2013 จนอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ กลับมาเป็นกระแสร้อนแรงในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจาก เจมส์ โคมีย์ ผู้อำนวยการเอฟบีไอ ได้ส่งจดหมายแจ้งไปยังรัฐสภาเมื่อวันที่ 28 ต.ค. ว่าจะเริ่มตรวจสอบชุดอีเมลใหม่ที่เพิ่งค้นได้จากคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปของผู้ช่วยคนสนิทคลินตัน
เอฟบีไอ ได้ปิดการสอบสวน คลินตัน ไปเมื่อเดือน ก.ค. โดยเวลานั้น โคมีย์ เพียงแต่ตำหนิอดีตรัฐมนตรีหญิงว่า “สะเพร่าอย่างรุนแรง” ที่ใช้เซิร์ฟเวอร์ส่วนตัวติดต่อเรื่องงานซึ่งถือเป็นความลับของรัฐบาล แต่ไม่พบหลักฐานความผิดอื่นๆ และไม่เห็นสมควรส่งฟ้องเธอในความผิดทางอาญา
สำหรับครั้งนี้ ผอ.เอฟบีไอยังไม่ระบุว่าข้อมูลที่พบจะทำให้ผลการสอบสวนเดิมเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่อย่างไร
แหล่งข่าวเผยว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมหลายคนไม่เห็นด้วยที่ โคมีย์ จะรื้อฟื้นเรื่องนี้ในขณะที่การเลือกตั้งกำลังจะมีขึ้นอยู่ร่อมรอ แต่ก็ไม่ได้ยับยั้งการขอหมายค้นของเอฟบีไอ เนื่องจากเห็นด้วยว่าควรตรวจสอบให้กระจ่างโดยเร็ว
เจ้าหน้าที่เอฟบีไอได้ยึดและตรวจสอบข้อมูลในคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปของ ฮูมา อาเบดิน ผู้ช่วยคนสนิทของคลินตัน และ แอนโธนี วีเนอร์ อดีตสามีของ อาเบดิน
วีเนอร์ ลาออกจากตำแหน่ง ส.ส.รัฐนิวยอร์ก เมื่อปี 2011 หลังตกเป็นข่าวฉาวโฉ่จากการทวีตรูปของสงวนไปถึงสาวๆ 6 คน จนได้ฉายาว่า “ส.ส.เป้าตุง” และเวลานี้ก็กำลังถูกเอฟบีไอสืบสวนในข้อหาส่งสื่อลามกไปให้เด็กสาวที่อายุต่ำกว่า 15 ปี
ก่อนหน้านี้ เอฟบีไอมีเพียงหมายสำหรับตรวจสอบการสนทนาระหว่าง วีเนอร์ กับเด็กสาวผู้เยาว์ ทว่าภายหลังได้รับหมายให้ค้นข้อมูลที่เชื่อมโยงไปถึง คลินตัน ด้วย
ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า เอฟบีไอค้นพบอีเมลชุดนี้มานานหลายสัปดาห์แล้ว แต่เพิ่งจะเปิดเผยให้สาธารณชนทราบเมื่อวันที่ 28 ต.ค.
จอห์น โปเดสตา ประธานทีมหาเสียงของคลินตัน ให้สัมภาษณ์ในรายการ State of the Union ทางสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นว่า จดหมายที่ โคมีย์ ส่งถึงรัฐสภาเต็มไปด้วยถ้อยคำเสียดสีแต่ไร้ข้อเท็จจริง และอาจเข้าข่ายละเมิดกฎหมาย เนื่องจากนำข้อมูลมาเผยแพร่ก่อนจะถึงกำหนดเลือกตั้งเพียงไม่กี่วัน
คลินตัน ได้ท้าให้ ผอ.เอฟบีไอ ชี้แจงขั้นตอนการสอบสวนโดยละเอียด พร้อมโจมตีว่าสิ่งที่ โคมีย์ ทำกำลัง “ก่อปัญหาอย่างร้ายแรง” เพราะนอกจากจะกระทบต่อคะแนนเสียงของเธอในช่วงโค้งสุดท้ายแล้ว ยังอาจส่งผลต่อเนื่องไปถึงการรับมอบอำนาจเพื่อขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ในกรณีที่เธอชนะเลือกตั้ง
แฮร์รี รีด ผู้นำ ส.ว.เดโมแครตเสียงข้างน้อย กล่าวตำหนิ โคมีย์ ว่า “ได้ข้อมูลอะไรที่ไม่เป็นผลดีต่อรัฐมนตรีคลินตันเข้าสักหน่อยก็รีบป่าวประกาศ เพื่อให้ผู้คนมองเธอในแง่ลบ” แต่กลับจงใจปกปิด “ข้อมูลอื้อฉาวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ใกล้ชิดและความร่วมมือระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ บรรดาที่ปรึกษาคนสนิทของเขา และรัฐบาลรัสเซีย”
รีด ชี้ว่าพฤติกรรมของ โคมีย์ ส่อแสดงถึงการเลือกข้าง และเข้าข่ายละเมิดกฎหมาย Hatch Act ที่ห้ามมิให้เอฟบีไอกระทำการใดๆ ที่จะแทรกแซงผลการเลือกตั้ง
ร็อบบี มุก ผู้จัดการแคมเปญหาเสียงของคลินตัน เรียกร้องในวันอังคาร (1 พ.ย.) ให้เอฟบีไอเปิดเผยความสัมพันธ์ระหว่าง ทรัมป์ กับมอสโก และอย่าพุ่งเป้าโจมตี คลินตัน ฝ่ายเดียว
สัปดาห์นี้ เอฟบีไอ ยังได้เปิดเผยชุดเอกสารเกี่ยวกับกรณีที่อดีตประธานาธิบดี บิล คลินตัน เคยอภัยโทษให้แก่ มาร์ก ริช สามีของเศรษฐีนีคนหนึ่งซึ่งบริจาคเงินจำนวนมากเข้าพรรคเดโมแครต
มาร์ก ริช ถูกดำเนินคดีฐานเลี่ยงภาษีในสหรัฐฯ และเคยเป็นผู้ต้องหาที่เอฟบีไอต้องการตัวมากที่สุดในยุคหนึ่ง เขาใช้ชีวิตอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์เพื่อหลบหนีคดีจนกระทั่งถึงแก่กรรมในปี 2013
ประธานาธิบดี คลินตัน ซึ่งเป็นสามีของ ฮิลลารี ได้ประกาศอภัยโทษให้แก่ ริช ในวันที่ 20 ม.ค. ปี 2001 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่เขาดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ต่อมาในปลายปีเดียวกันเอฟบีไอก็ได้เปิดการสอบสวนคำสั่งอภัยโทษ เนื่องจากพบว่า เดนีส ไอเซ็นเบิร์ก ริช อดีตภรรยาของ มาร์ก ริช “เป็นผู้บริจาคสนับสนุนพรรคเดโมแครตรายใหญ่ ซึ่งเงินบริจาคเหล่านี้อาจมีวัตถุประสงค์เพื่อโน้มน้าวให้มีการอภัยโทษแก่ผู้ต้องหาหนีคดี”
การที่ เอฟบีไอ ขุดคุ้ยเรื่องอีเมลคลินตันในช่วงนี้ถือเป็นโอกาสทองสำหรับ ทรัมป์ ที่จะตอกย้ำว่าอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ มีพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจสำหรับการเป็นผู้นำประเทศ
มหาเศรษฐีปากเปราะวัย 70 ปี เตือนเมื่อวันจันทร์ (31 ต.ค.) ว่าสหรัฐฯ อาจเผชิญวิกฤตรัฐธรรมนูญถ้า คลินตัน ชนะเลือกตั้ง เพราะ “ดูเหมือนเธอยังจะต้องถูกสอบสวนอีกเป็นเวลานาน”
ทรัมป์ ชี้ว่า คลินตัน ขาดคุณสมบัติที่จะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ “การเลือกเธอมาเป็นผู้นำประเทศจะทำให้รัฐบาลต้องแปดเปื้อน ประเทศเราจะดำดิ่งสู่วิกฤตรัฐธรรมนูญ ซึ่งเราไม่อาจปล่อยให้เป็นเช่นนั้นได้”
ทรัมป์ ยังเตือนว่าการลงคะแนนให้ คลินตัน จะทำให้ชาวอเมริกันได้เห็นผู้นำสูงสุดถูกฟ้องคดีอาญา
เศรษฐีอสังหาริมทรัพย์ผู้นี้ยังเอ่ยชม “ความกล้าหาญ” ของ โคมีย์ ซึ่งสามารถ “กอบกู้ชื่อเสียง” กลับมาได้ หลังจากที่ปล่อยให้ คลินตัน ลอยนวลไปได้ครั้งหนึ่งเมื่อเดือน ก.ค.
เมื่อวันที่ 31 ต.ค. เว็บไซต์วิกิลีกได้เผยแพร่อีเมลที่แฮ็กมาจากบัญชีของ จอห์น โปเดสตา ประธานทีมหาเสียงของคลินตัน ซึ่งกลายเป็นหลักฐานยืนยันว่า คลินตัน มี “พรายกระซิบ” คอยบอกประเด็นคำถามให้รู้ล่วงหน้าก่อนจะขึ้นเวทีดีเบตในศึกเลือกตั้งขั้นต้นไพรแมรี
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นออกมาประกาศตัดสัมพันธ์กับ ดอนนา บราซิล รักษาการประธานคณะกรรมการพรรคเดโมแครตแห่งชาติ หลังจากวิกิลีกส์เปิดโปงว่า บราซิล ซึ่งทำงานเป็นนักวิเคราะห์การเมืองให้แก่ซีเอ็นเอ็นในขณะนั้น ได้แอบส่งคำถามให้ทีมงานคลินตันรู้ล่วงหน้า ก่อนที่เธอจะขึ้นประชันวิสัยทัศน์กับ ส.ว. เบอร์นี แซนเดอร์ส ที่เมืองฟลินท์ มลรัฐมิชิแกน ในวันที่ 6 มี.ค. โดยการดีเบตครั้งนั้นซีเอ็นเอ็นเป็นเจ้าภาพ
ซีเอ็นเอ็นยืนยันว่า คำถามที่ใช้ในการดีเบต ตลอดจนรายชื่อผู้เข้าฟังและอุปกรณ์ต่างๆ ที่เตรียมไว้เป็นความลับที่บริษัทไม่เคยเปิดเผยให้ บราซิล ล่วงรู้ก่อน
ทรัมป์ โจมตีมาโดยตลอดว่า คลินตัน ได้รับการเอื้อประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรมขณะที่แข่งขันกับ แซนเดอร์ส เพื่อชิงตำแหน่งผู้แทนพรรคเดโมแครต ทว่าสิ่งที่เขากล่าวหาเพิ่งจะปรากฏหลักฐานชัดเจนในวันนี้
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่ต้องเลือกระหว่าง ทรัมป์ กับ คลินตัน ซึ่งมีแผลเหวอะหวะด้วยกันทั้งคู่ทำให้คนอเมริกันจำนวนมากรู้สึกเบื่อหน่าย ผลเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ ครั้งนี้จึงยากที่จะฟันธง โดยเฉพาะในรัฐสำคัญๆ ที่จะเป็นตัวตัดสินว่าใครจะได้คะแนนโหวตจากคณะผู้เลือกตั้ง (electoral college) ไปมากที่สุด
ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ซึ่งเดินทางไปช่วย คลินตัน หาเสียงที่รัฐนอร์ทแคโรไลนาเมื่อวันพุธ (2 พ.ย.) เตือนชาวอเมริกันทั้งหลายว่าระบอบประชาธิปไตยของอเมริกาอยู่ในมือของพวกเขา
นอร์ทแคโรไลนา เป็นหนึ่งในไม่กี่รัฐที่คะแนนเสียงแกว่งไปมาไม่แน่นอน (swing states) และอาจเป็นตัวแปรที่ชี้ขาดผลแพ้-ชนะในศึกเลือกตั้งผู้นำทำเนียบขาว
ผลกระทบจากคำประกาศของเอฟบีไอเริ่มสะท้อนให้เห็นผ่านโพลบางสำนัก โดยเฉพาะโพลของเอบีซีนิวส์/วอชิงตันโพสต์ ซึ่งจัดทำระหว่างวันที่ 27-30 ต.ค. พบว่า ทรัมป์ มีคะแนนนิยมขยับแซงหน้าคลินตัน 1 จุด 46% ต่อ 45% โดยโพลนี้มีค่าความผิดพลาดบวกลบไม่เกิน 3%
แม้การพลิกกลับมานำคลินตัน 1 จุดของ ทรัมป์ จะแทบไม่มีนัยยะสำคัญในทางสถิติ แต่ก็ถือเป็นการขึ้นนำครั้งแรกจากการสำรวจของเอบีซี/โพสต์ตั้งแต่เดือน พ.ค. เป็นต้นมา และพอจะทำให้ผู้สนับสนุน ทรัมป์ ใจชื้นขึ้นมาได้บ้าง
เอบีซี/โพสต์ ยังพบว่า กระแสสนับสนุน คลินตัน เริ่มที่จะแผ่วปลาย โดยมีฐานเสียง คลินตัน เพียง 45% เท่านั้นที่รู้สึก “กระตือรือร้นอย่างมาก” ที่จะไปโหวตให้เธอ ลดลงจากการสำรวจช่วงแรกๆ 7% และต่ำกว่าฐานเสียงที่กระตือรือร้นจะไปโหวตให้ ทรัมป์ ถึง 8%
เว็บไซต์ RealClearPolitics ซึ่งรวบรวมผลสำรวจความคิดเห็นระดับชาติ พบว่า คลินตัน มีช่วงคะแนนนำ ทรัมป์ อยู่เพียง 2.5% ในวันจันทร์ (31) จากที่เคยนำห่างถึง 4.6% ในวันศุกร์ (28)
ผลสำรวจของรอยเตอร์ ซึ่งจัดทำขึ้นหลังจากที่เอฟบีไอประกาศรื้อสอบอีเมลคลินตัน พบว่าคะแนนนิยมของอดีตรัฐมนตรีหญิงอยู่ที่ 44% และ ทรัมป์ 39% โดยช่วงห่างของคะแนนลดลงจาก 6% มาอยู่ที่ 5%
อย่างไรก็ดี คลินตัน ยังคงเป็นฝ่ายนำ ทรัมป์ อยู่พอสมควรเมื่อพิจารณาจากค่าเฉลี่ยโพลทุกสำนัก โดยโพล The Upshot ในเครือหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส คาดการณ์ในวันพุธ (2 พ.ย.) ว่า คลินตัน มีโอกาสสูงถึง 87% ที่จะคว้าเก้าอี้ประธานาธิบดีมาครอง ขณะที่สถาบันมูดีส์ทำนายไว้ในวันเดียวกันว่า คลินตัน จะกวาดคะแนนจากคณะผู้เลือกตั้งมาได้ถึง 332 เสียงจากทั้งหมด 538 เสียง ส่วน ทรัมป์ นั้นจะได้ไปเพียง 206 เสียง
มูดีส์ ซึ่งมีตัวชี้วัดที่ทำนายผลการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ได้ถูกต้องแม่นยำทุกครั้งตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา ยังฟันธงว่าผลเลือกตั้งในวันที่ 8 พ.ย.นี้จะไม่ออกมาสูสี โดย คลินตัน จะชนะขาด ทรัมป์ ด้วยคะแนนทิ้งห่างพอสมควร
ด้านโพล Reuters-Ipsos States of the Nation ก็ทำนายว่า คลินตัน มีโอกาสถึง 95% ที่จะได้คะแนนโหวต 278 เสียงจากคณะผู้เลือกตั้งซึ่งเป็นตัวแทนจากทุกมลรัฐ โดยผู้สมัครจะต้องชนะอย่างน้อย 270 เสียงจึงจะได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ