xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

บทบาทสำนักงานสถิติแห่งชาติในการพัฒนาประเทศ ตามแนวทางพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

เผยแพร่:   โดย: อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์


อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชามีข้อสั่งการให้สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นหน่วยงานหลักในการจัดระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริหาร (Management Information System: MIS) ของทุกส่วนราชการ รวมทั้งให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างส่วนราชการ เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ประกอบการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายด้านต่างๆ ของรัฐบาล ทั้งนี้ให้ศึกษาแนวทางการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวจากประเทศที่ได้รับการยอมรับในเรื่องการจัดระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริหารแล้วนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย

ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ประการใด เมื่อห้าสิบปีก่อนมีพระมหากษัตริย์หนุ่มพระองค์หนึ่ง มีพระราชดำริกับ ม.ล.เดช สนิทวงศ์ ประธานกรรมการบริหารสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ (และต่อมาประธานองคมนตรี) ว่าในการพัฒนานั้นต้องใช้ข้อมูล ใช้สถิติมาก ดังที่ทรงมีพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ครั้งแรก เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 พฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน 2513 ณ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ความว่า “…เดิมทีเดียวข้าพเจ้าตั้งข้อคิดเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศไว้ว่า ในการทำโครงการพัฒนาเศรษฐกิจต่างๆ จะต้องอาศัยใช้ข้อมูลที่ถูกต้องเป็นหลัก และจะต้องใช้นักสถิติที่มีความรู้ความสามารถชั้นสูงเป็นผู้ปฏิบัติ…”

นอกจากมีพระราชดำริลงมาแล้วยังดำเนินการโดยพระองค์เอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นธุระในการติดต่อกับ Dr. David Rockefeller จาก Rockefeller Foundation ด้วยพระองค์เอง โดยทรงขอให้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านสถิติ (Dr. Stacey May) จากสหรัฐอเมริกามาช่วยพัฒนาบุคลากรทางสถิติและระบบสถิติในประเทศไทย โดยมีการจัดตั้งสำนักงานสถิติแห่งชาติ และทรงตราพระราชบัญญัติสถิติ ในปี พุทธศักราช 2508 ทั้งยังทรงรับเป็นธุระใส่ใจในรายละเอียดของการทำสำมะโนประชากรโดยโปรดเกล้าให้ข้าราชการสำนักงานสถิติแห่งชาติเข้าเฝ้าเพื่อรับพระราชทานพระราชดำริและคำแนะนำต่างๆ ในการสำมะโนประชากรมาโดยตลอด โปรดดูรายละเอียดได้ใน บทความ สถิติคือวิชาว่าด้วย “รัฐ” www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9570000146666

แนวพระราชดำริในการใช้ข้อมูล สถิติ และ สารสนเทศ เพื่อการจัดการและการพัฒนาประเทศยังคงเหมือนเดิม ไม่มีวันล้าสมัย เป็นวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลบ้าง สิ่งที่ทรงทอดพระเนตรเห็นการไกลไปล่วงหน้าได้แก่ 1) การพัฒนาประเทศต้องใช้ข้อมูลที่ถูกต้องและมากเพียงพอ 2) การพัฒนาประเทศต้องอาศัยนักสถิติที่มีความรู้ความสามารถชั้นสูงเป็นผู้ปฏิบัติ โดยเฉพาะในการวิเคราะห์ข้อมูล และ 3) การทำโครงการพัฒนาต่างๆ จะต้องอาศัยใช้ข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์โครงการและการประเมินผลโครงการ

คำถามคือเมื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่เช่น Internet of Things (IOTs) สื่อสังคม (Social Media and Networks) เข้ามาเกิดข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มากมาย เกิดวิชาวิทยาการข้อมูล (Data Sciences) ซึ่งลองศึกษาได้จากบทความข้างล่างนี้

เทคโนโลยีการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ ใหญ่ตรงไหน? ยากตรงไหน? ทำไมต้องรู้?
Open Data, Open Analytics, and Open Innovation
Big Data กับการพยากรณ์อากาศ
Big Data กับ Small Sample Size Data คืออะไร อะไรยากหรือง่ายกว่ากัน?

การเกิดข้อมูลขนาดใหญ่ วิชาวิทยาการข้อมูล ซึ่งผู้เข้ามาเล่นหลักคือนักคอมพิวเตอร์ทำให้นักสถิติเกิดความหวั่นไหวกันมากพอสมควร และเริ่มมีการอภิปรายถึงประเด็นเหล่านี้อย่างกว้างขวางสามารถศึกษาได้จากบทความด้านล่างต่อไปนี้

เมื่อ Big Data และ Data sciences เข้ามา สถิติจะหาที่ยืนได้หรือไม่?
ประกาศของสมาคมสถิติอเมริกันเกี่ยวกับบทบาทของสถิติในวิทยาการข้อมูล (DATA SCIENCES)

คำถามคือในเมื่อวิชาสถิติต้องหาที่ยืนในข้อมูลขนาดใหญ่และวิทยาการข้อมูล แล้วบทบาทของสำนักงานสถิติแห่งชาติของไทยจะอยู่ที่ตรงไหน? และสถิติศาสตร์นั้นยังคงเป็นศาสตร์ที่มีประโยชน์จริงหรือไม่?

ทุกวันนี้คนทั่วไปเมื่อนึกถึงสำนักงานสถิติแห่งชาติจะนึกถึงได้แค่เพียงจัดทำสำมะโน (Census) และการสำรวจด้วยตัวอย่าง (Sample survey) โดยเข้าใจกันว่างานส่วนใหญ่แทบทั้งหมดที่สำนักงานสถิติแห่งชาติดำเนินการคือการเป็นเพียงสำนักงานสำรวจด้วยตัวอย่างแห่งชาติ (National Survey House) แม้จะได้มีการปรับบทบาทแม้แล้วระยะเวลาหนึ่งก็ยังไม่เป็นที่ปรากฎชัดเจนแก่สาธารณชนว่าสำนักงานสถิติแห่งชาติได้มีบทบาทอย่างอื่นมากนักตามการรับรู้ของหน่วยราชการอื่น นักวิชาการในสาขาต่าง ๆ และประชาชน หรือแม้รัฐบาลเอง

คำถามคือหากบทบาทของสำนักงานสถิติแห่งชาติส่วนใหญ่ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจะมีความสอดคล้องกับข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีหรือไม่ แต่ที่สำคัญกว่าคือมีความสอดคล้องกับแนวพระราชดำริในการจัดตั้งสำนักงานสถิติแห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศหรือไม่ และจะตอบสนองสอดคล้องกับเทคโนโลยีข้อมูลขนาดใหญ่และวิทยาการข้อมูลหรือไม่

ผู้เขียนขอเสนอว่าหากสำนักงานสถิติแห่งชาติจะปรับตัวให้ตอบสนองกับแนวพระราชดำริในการพัฒนาประเทศและเทคโนโลยีข้อมูลขนาดใหญ่และวิทยาการข้อมูล เพียงทำตามแนวพระราชดำริให้ได้ครบถ้วนเท่านั้นดังนี้

บทบาทที่ 1: สำนักงานสถิติแห่งชาติต้องเป็นหน่วยงานที่ผลิตและจัดทำสถิติทางการ (Official Statistics) และเป็นคลังข้อมูลขนาดใหญ่ของชาติ (National Big Data Warehouse)
สำหรับบทบาทนี้สำนักงานสถิติแห่งชาติต้องมีหน้าที่ผลิตข้อมูลสถิติทางการที่เชื่อถือได้ตามหลักวิชาการสถิติในมาตรฐานสากลและเพียงพอสำหรับนำไปใช้ในการบริหารจัดการประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะสอดคล้องกับแนวพระราชดำริด้าน 1) การพัฒนาประเทศต้องใช้ข้อมูลที่ถูกต้องและมากเพียงพอ

การจัดทำสถิติทางการด้วยการสำมะโนและสำรวจตัวอย่างนั้นต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้องตามหลักวิชาการสถิติ โดยต้องคำนึงถึงทั้งความเชื่อถือได้ตรวจสอบ (Validate) ผลกับข้อมูลอื่นๆ ได้ ภายใต้งบประมาณที่จำกัดและเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้แหล่งข้อมูลสำหรับสถิติทางการนั้นไม่ได้มาจากสำมะโนหรือการสำรวจด้วยตัวอย่างเพียงแค่นั้น แต่ฐานข้อมูลของหน่วยราชการต่างๆ Log file จากหน่วยราชการที่ดูแล Gateway เช่น กสทช ฐานข้อมูลจากการลงทะเบียน (Registration-based) เช่นทะเบียนราษฎร์ สื่อสังคมและเครือข่ายสังคม (Social Media and Network) เป็นแหล่งข้อมูลสมัยใหม่ที่จำเป็นสำหรับสำนักงานสถิติแห่งชาติและสามารถนำมาใช้คู่ขนานและตรวจสอบกับข้อมูลจากการสำรวจด้วยตัวอย่างตลอดจนสำมะโนได้

สำมะโนและการสำรวจด้วยตัวอย่างในประเทศไทยซึ่งยังมีความแตกต่างระหว่างพื้นที่อยู่นั้นมีความจำเป็นและต้องทำให้ดีและทำให้ถูกต้องตามหลักวิชาการทางสถิติด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงใส่พระทัยเรื่องสำมะโนมากเพราะทรงทราบดีสำมะโนช่วยกำหนดทิศทางในการพัฒนาประเทศและช่วยให้ทราบว่าที่มีการพัฒนามาประเทศได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างไรบ้างในทิศทางใด อย่างไรก็ตามการทำสำมะโนและการสำรวจด้วยตัวอย่างจะค่อยๆ ลดความสำคัญลงเพราะฐานข้อมูลขนาดใหญ่และ Registration-based ที่มาจากการลงทะเบียนจะค่อยๆ มีมากขึ้น ที่สำคัญคือมีความผิดพลาดที่น้อยกว่ามากหากดำเนินการอย่างเหมาะสม ในต่างประเทศเช่น แคนาดาและอังกฤษวางแผนที่จะใช้ข้อมูลขนาดใหญ่จากภาครัฐหลายหน่วยงานผนวกบูรณาการกันกับข้อมูลลงทะเบียน (Registration-based) เพื่อจะยกเลิกการสำมะโนประชากรในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เนื่องจากการสำมะโนประชากรมีต้นทุนสูงมาก ได้ข้อมูลช้า (เช่น สำรวจทุก 10 ปี) มีปัญหาความถูกต้องแม่นยำ เช่น มีปัญหาความคลาดเคลื่อนจากการเลือกตัวอย่าง (Sampling error) และความคลาดเคลื่อนจากการตอบคำถาม (Response error) ความคลาดเคลื่อนจากการรายงาน (Response error) เช่น การไม่ยอมให้ข้อมูล (Non-response) เป็นปัญหาอย่างหนักในแทบทุกโครงการของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในประเทศไทยเองการสำรวจด้วยตัวอย่างบางประเภท เช่น การสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ทอาจจะไม่มีความจำเป็นมากนักเพราะมี log file จาก gateway ของกสทช ซึ่งบันทึกไว้ครบถ้วนว่า IP address ใดไปเข้า IP address ใดในเวลาใดนานเท่าใด ซึ่งเป็นข้อมูลประชากร ไม่มีการสุ่มตัวอย่างและไม่ปนเปื้อนจากความคลาดเคลื่อนจากการตอบจึงมีความถูกต้องมากกว่า

การสร้างคลังข้อมูลขนาดใหญ่ของชาติต้องบูรณาการความรู้ความเข้าใจฐานข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้ามาไว้ด้วยกัน ต้องสามารถวิเคราะห์ได้ว่าหน่วยงานใดมีข้อมูลใด มีความน่าเชื่อถือแม่นยำเพียงใด หากมีหลายแหล่งข้อมูล จะเชื่อถือข้อมูลของใครได้มากกว่ากัน เพื่อให้สามารถตรวจสอบความถูกต้อง (Validate statistical results) ของการวิเคราะห์สถิติได้ นอกจากนี้ฐานข้อมูลต่างๆ ของหน่วยราชการไทยขาดความเชื่อมโยงกัน (Disintegration) และไม่ได้อยู่ใน Format เดียวกันดังนั้นต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในการเชื่อมโยงข้อมูล ต้องหา Primary key ให้ได้ เช่น เลขบัตรประจำตัวประชาชน รหัสพื้นที่ รหัสไปรษณีย์ บ้านเลขที่และครัวเรือน เป็นต้น ต้องวิเคราะห์ให้ชัดเจนว่าหน่วยของการวิเคราะห์ (Unit of analysis) คือหน่วยใด ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นความท้าทายและทำได้ยากทั้งสิ้น เนื่องจากต้องใช้ทั้งความรู้ความเข้าใจเชิงลึกในวิชาสถิติผนวกกับความรู้ความเข้าใจในระบบการทำงานของหน่วยงานและความรู้ในสาขาวิชาการนั้นๆ เป็นอย่างดียิ่ง

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือสำนักงานสถิติแห่งชาติต้องทำหน้าที่เป็น Think Tank ของรัฐบาล สามารถสนับสนุนและคัดค้านรัฐบาลในเรื่องที่รัฐบาลทำได้ถูกต้องและหลงทางโดยมีหลักฐานข้อมูลที่แน่ชัด ข้อมูลในคลังข้อมูลต้องตอบคำถามยุทธศาสตร์ชาติในแต่ละด้านได้อย่างสอดคล้อง การออกแบบและเชื่อมโยงฐานข้อมูลเหล่านี้จึงมีความสำคัญมากและเหนืออื่นใดต้องตรวจสอบคุณภาพของข้อมูลเหล่านี้ด้วย

บทบาทของสำนักงานสถิติแห่งชาติในการสร้างคลังข้อมูลขนาดใหญ่ของชาติจึงไม่ได้จำกัดแค่ Hardware แต่ต้องรวมถึงการเป็นนักกลยุทธ์ (Strategist) ที่ช่วยรัฐบาลและหน่วยราชการอื่นๆ ในการคิดเพื่อหาคำตอบหรือวิธีการที่ดีที่สุดและมีหลักฐานรองรับในการพัฒนาประเทศด้วย

บทบาทที่ 2: สำนักงานสถิติแห่งชาติต้องเป็นสำนักวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่แห่งชาติ (National Big Data Analytics House)
พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชดำริว่าการพัฒนาประเทศต้องอาศัยนักสถิติที่มีความรู้ความสามารถชั้นสูงเป็นผู้ปฏิบัติ โดยเฉพาะในการวิเคราะห์ข้อมูล การจะเป็น National Big Data Analytics House จะทำให้สำนักงานสถิติแห่งชาติมี insight จากข้อมูล มีความรู้ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ (Actionable Knowledge) แนะนำรัฐบาลได้ว่าควรทำอะไร บอกได้ว่าในขณะนี้สังคมไทยอยู่ที่ตรงไหนและต้องแก้ไขอะไรอย่างไร ความรู้เรื่องสถิติวิเคราะห์แบบดั้งเดิมและการสร้างแบบจำลองที่ซับซ้อนสมัยใหม่เช่นแบบจำลองการวิเคราะห์ถดถอยเชิงพื้นที่ (Spatial regression analysis) ที่จะช่วยให้เห็นความสัมพันธ์ระดับพื้นที่และทำให้การพัฒนาท้องถิ่นทำได้ง่ายขึ้น หรือการวิเคราะห์ข้อมูลเครือข่ายสังคม (Social Network Analysis) จะช่วยให้เข้าใจการแพร่กระจายของข่าว การเผยแพร่นวัตกรรม และเข้าใจอารมณ์ความรู้สึก (Sentiment Analysis) ของประชาชนได้มากขึ้น การวิเคราะห์เชิงเศรษฐมิติ (Econometric analysis) จะช่วยให้เข้าใจกลไกและความสัมพันธ์ต่างๆ ในทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

บทบาทด้านนี้สำนักงานสถิติแห่งชาติต้องปรับบทบาทโดยนำข้อมูลจากบทบาทที่ 1 มาวิเคราะห์และสร้างแบบจำลองเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรจากฐานข้อมูลและนำมาเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายของรัฐบาล เป็นต้น ทั้งนี้ต้องอาศัยความรู้ความสามารถทั้งด้านสถิติขั้นสูง การทำเหมืองข้อมูล (Data Mining) และการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine learning) ทั้งยังต้องมีผู้เชี่ยวชาญในเนื้อหาต่างๆ เช่น เศรษฐศาสตร์ สาธารณสุข ประชากรศาสตร์ และอื่นๆ ต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านสถิติวิเคราะห์ขั้นสูง ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ ด้านการทำเหมืองข้อมูล เพื่อทำงานวิจัยทางวิชาการที่สามารถอธิบายสภาพความเป็นไปที่เกิดขึ้นทั้งหมดในประเทศออกมาอย่างต่อเนื่องตามระยะเวลาที่เหมาะสม ช่วยให้เข้าใจถึงรากฐานของปัญหาซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นสำนักงานสถิติแห่งชาติต้องมีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกเป็นจำนวนมาก โดยมีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเนื้อหาวิชาการด้านต่างๆ ดังที่อธิบายมาข้างต้นอย่างครบถ้วน นอกจากที่มีเพียงนักสถิติเพียงอย่างเดียว เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้รอบด้านครบทุกสาขาวิชาที่จำเป็นในการพัฒนาประเทศ และเป็นขุมกำลังทางวิชาการที่เข้มแข็งและเชื่อถือได้ของประเทศไทย

บทบาทที่ 3: สำนักงานสถิติแห่งชาติต้องเป็นสำนักวิเคราะห์และประเมินผลนโยบายแห่งชาติ (National Policy Analysis and Evaluation House)
ในข้อนี้สำนักงานสถิติแห่งชาติต้องทำหน้าที่อย่างเที่ยงธรรม มีจริยธรรม ตามหลักวิชาการ ต้องไม่มีอคติ ไม่กลัวรัฐบาลและไม่เชียร์รัฐบาลในเรื่องที่ไม่สมควรเนื่องจากจะทำให้เป็นผู้ประเมินที่ไม่เป็นกลางได้ สำนักงานสถิติแห่งชาติต้องมีหน้าที่ในการวิเคราะห์นโยบาลและประเมินผลนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลอย่างมีหลักฐาน (Evidence-based policy analysis and evaluation) ดังแนวพระราชดำริที่ว่าการทำโครงการพัฒนาต่างๆ จะต้องอาศัยใช้ข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์โครงการและการประเมินผลโครงการ

บทบาทด้านนี้ของสำนักงานสถิติแห่งชาติจะต้องเป็นกลางมีความน่าเชื่อถือทางวิชาการสูงสุด มีความเป็นอิสระจากอามิสสินจ้างและการแทรกแซงทางการเมืองเพื่อให้การประเมินผลและการวิเคราะห์นโยบายเป็นไปอย่างอิสระบนหลักวิชาที่ถูกต้องและมีหลักฐานรองรับโดยอาศัยข้อมูลจากบทบาทที่ 1 และ 2

ถ้าหากสำนักงานสถิติแห่งชาติจะปรับบทบาทใหม่ให้กว้างขวางขึ้น ซึ่งต้องทำได้ทั้งสามบทบาทครบถ้วน มากกว่าการเป็นเพียง National Survey House ตามที่คนทั่วไปคิดกัน ก็น่าที่จะเป็นประโยชน์กับประเทศในการพัฒนามากยิ่งขึ้นและตรงกับแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชผู้ทรงพระคุณอันสูงสุดต่อวงวิชาการสถิติศาสตร์และปวงชนชาวไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น