EGA เผยผลสำรวจหน่วยงานรัฐไทยมีความพร้อมด้านการบริการภาครัฐที่สะดวก และเข้าถึงได้ง่ายน้อยที่สุด ขณะที่บุคลากรด้านไอทีขาดแคลน และมีผู้ได้รับการรับรองความเชี่ยวชาญด้านไอทีน้อย แต่ภาพรวมนับว่ามีความพร้อมในการพัฒนาสู่รัฐบาลดิจิตอล สามารถต่อยอดเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกันได้ง่าย
นายศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA เปิดเผยว่า จากผลการสำรวจระดับความพร้อมการพัฒนารัฐบาลดิจิตอล ประจำปี 2559 ของ EGA ในระดับกระทรวง พบว่า หน่วยงานที่มีพัฒนาการยอดเยี่ยมในภาพรวม 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย อันดับ 1 กระทรวงการต่างประเทศ อันดับ 2 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และอันดับ 3 กระทรวงมหาดไทย
สำหรับการสำรวจ มีหน่วยงานภาครัฐระดับกรม 272 หน่วยงาน แบ่งเป็น หน่วยงานภาครัฐ 146 หน่วยงาน รัฐวิสาหกิจ 47 หน่วยงาน องค์การมหาชน และหน่วยงานอิสระ 79 หน่วยงาน โดยมีหน่วยงานตอบกลับจำนวนทั้งสิ้น 234 หน่วยงาน หรือ 86% ของหน่วยงานทั้งหมด
โดยการวัดความพร้อมด้านการพัฒนารัฐบาลดิจิตอลในภาพรวมตามมิติทั้ง 6 ด้าน จาก 100 คะแนนเต็ม ประกอบด้วย 1.ด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีความมั่นคงปลอดภัย และประสิทธิภาพ (Secure and Efficient Infrastructure) และ 2.ด้านระบบบริหารจัดการภายในในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Smart Back Office Practices) เป็นด้านที่มีระดับความพร้อมมากที่สุด โดยมีค่าเท่ากัน คือ 79 คะแนน
3.ด้านนโยบาย และแนวปฏิบัติในการพัฒนารัฐบาลดิจิตอล (Policies and Practices) เป็นด้านที่มีระดับความพร้อมมากรองลงมาที่ 75 คะแนน 4.ด้านเทคโนโลยีอัจฉริยะ และการนำมาใช้ (Smart Technologies and Practices) เป็นด้านที่มีระดับความพร้อมปานกลาง มี 64 คะแนน 5.ด้านศักยภาพของเจ้าหน้าที่ภาครัฐด้านดิจิตอล (E-Officer with digital capability) และ 6.ด้านการบริการภาครัฐที่สะดวก และเข้าถึงได้ง่าย (Accessible and convenient public services) เป็นด้านที่มีความพร้อมน้อยที่สุด มี 60 คะแนน
นายศักดิ์ กล่าวว่า หมวดของการให้บริการ E-Services ในภาครัฐ พบว่า มีการให้บริการ E-Services ผ่านช่องทางต่างๆ แล้วถึง 79.9% โดยแบ่งเป็น บริการผ่านเว็บไซต์ 72% บริการผ่านแอปพลิเคชั่นโทรศัพท์มือถือ 51% และผ่านเครื่องคีออส 13% ซึ่งหน่วยงานต่างๆ มีแนวปฏิบัติในการให้บริการ การรับข้อร้องเรียน และข้อเสนอแนะจากผู้รับบริการแตกต่างกัน
โดยหน่วยงานที่มีการกำหนดแนวปฏิบัติมีถึง 90% แบ่งเป็น มีขั้นตอนวิธีการตอบรับที่ชัดเจน 76% มีรูปแบบสำหรับการตอบกลับที่ชัดเจน 46% มีการกำหนดเวลาในการตอบกลับที่แน่นอน 33% และอื่นๆ รวม 21% ประกอบด้วย มีช่องทางในการให้บริการ การรับข้อร้องเรียนฯ 50% ดำเนินการตามระเบียบ ข้อกำหนดของหน่วยงาน 32% อยู่ระหว่างการปรับปรุง และการดำเนินการ 9% พิจารณาเป็นรายกรณี 7% และจัดจ้างหน่วยงานภายนอกในการดำเนินการ 2% ส่วนหน่วยงานที่ยังไม่มีการกำหนดแนวทางยังมีสูงถึง 10% ของหน่วยงานทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม การให้บริการ E-Service นั้น จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงความต้องการใหม่ๆ ของผู้บริโภคที่มีมากขึ้น โดยในปีนี้หน่วยงานรัฐมีการทบทวน และปรับปรุงคุณภาพของบริการ E-Services มากถึง 67% โดยเป็นปรับปรุงบริการทุกปีสูงถึง 83.3% จึงถือว่าหน่วยงานรัฐไทยมีความทันสมัยในการให้บริการกับประชาชนอย่างมาก ส่วนหน่วยงานรัฐที่ไม่มีการทบทวน และปรับปรุงคุณภาพนั้นแม้จะมีถึง 33% ของการสำรวจ แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้วพบว่า 45% เป็นหน่วยงานไม่ได้มีหน้าที่ในการให้บริการ และ 24% อยู่ระหว่างการจัดทำการทบทวนปรับปรุงคุณภาพของบริการ
การสำรวจความต้องการเจ้าหน้าที่ภาครัฐด้าน IT นั้น พบว่า ตำแหน่งที่ต้องการ ได้แก่ เจ้าหน้าที่ด้าน ICT และ Network Security สูงเป็นอันดับหนึ่ง คือ 76% อันดับสอง คือ โปรแกรมเมอร์ 75% และอันดับสาม คือ เว็บมาสเตอร์ 48% นอกจากนั้น เป็นตำแหน่งอื่นๆ 31% เช่น System Administration หรือเจ้าหน้าที่ดูและระบบ Database Officer หรือเจ้าหน้าที่จัดการฐานข้อมูล 41% System Analyst หรือ นักวิเคราะห์ระบบ 29% เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพบว่า เจ้าหน้าที่ด้านไอทียังมีจำนวนน้อยที่ได้รับใบรับรองความเชี่ยวชาญด้านไอที เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการอบรมสูง
สำหรับการบริการเกี่ยวกับสังคมออนไลน์ที่กำลังได้รับความนิยมในขณะนี้ การสำรวจยังพบว่า หน่วยงานรัฐมีแนวนโยบาย และแนวปฏิบัติในการใช้สื่อโซเชียลมีเดียของภาครัฐแตกต่างกันออกไป โดยพบว่า มีหน่วยงานถึง 69% ได้จัดทำแนวนโยบาย และแนวปฏิบัติในการใช้สื่อโซเชียลมีเดียแล้ว โดยทำการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ 42.86% เผยแพร่ให้พนักงานภายในรับทราบ 40% และอื่นๆ 17.14% ประกอบด้วย ผู้บริหารมีนโยบายในการดำเนินการ 42% อยู่ระหว่างดำเนินการ 33% ผ่านสัมมนา/บทความวิชาการ 17% และผ่านแผ่นพับประชาสัมพันธ์ 8%
ส่วนเรื่องการใช้ระบบ e-Payment ที่จะกลายเป็นบริการใหม่ๆ ที่จะเป็นมาตรฐานการใช้งานภาครัฐต่อไปพบว่า การรับ/จ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ยังมีไม่สูงมากนัก คือ มีการรับ/จ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพียงแค่ 31% แบ่งเป็น การใช้งานผ่านธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ 60% ผ่านเครื่องรับจ่ายเงินอัตโนมัติ (ATM) 42% ระบบบัตรเครดิต 35% และอื่นๆ 28% ซึ่งมีนัยสำคัญอย่างมาก คือ เป็นการใช้งานผ่านระบบเคาน์เตอร์เซอร์วิสถึง 50% และผ่านอีเพย์เมนต์ใหม่ๆ ถึง 20% รวมถึงเป็นการรับจ่ายผ่านระบบ GFMIS ของกรมบัญชีกลาง 15% แต่คาดว่าหลังจากการผลักดันนโยบายพร้อมเพย์ ของรัฐบาลแล้ว จำนวน 69% ที่ยังไม่มีระบบอีเพย์เมนต์ จะเริ่มเข้าสู่ระบบมากขึ้นตามลำดับ
ด้านของการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ หรือ Open Data ที่รัฐบาลกำลังเร่งผลักดันในขณะนี้ก็พบว่า 95.73% ของหน่วยงานทั้งหมดมีการเปิดเผยข้อมูลที่อนุญาตให้ผู้ใช้นำไปใช้แบบไม่มีเงื่อนไข และอยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก โดยมีผู้นำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้งานประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ 83% และภาคประชาชน 60% ที่สำคัญ คือ ข้อมูลที่เปิดเผยมีผู้นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาแอปพลิเคชั่นถึง 31% ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดีมาก
อีกจุดหนึ่งที่มีการกล่าวถึงกันมากก็คือ การให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สาย หรือ WiFi Hotspot ของหน่วยงานราชการ ซึ่งในการสำรวจครั้งนี้ได้มีการระบุถึงด้วย โดยพบว่า หน่วยงานรัฐ 99% มีการเปิดให้ใช้เรียบร้อยแล้ว แต่ยังเปิดให้ผู้มาติดต่อขอรับบริการใช้งานเพียง 41% นอกจากนั้น เป็นการเปิดให้เจ้าหน้าที่ และหน่วยงานภายนอกที่เข้ามาทำงานร่วมกันใช้งาน ส่วนรัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชน/หน่วยงานอิสระ มีสัดส่วนที่เท่ากัน คือ มี WiFi Hotspot ให้ใช้แล้ว 95% และทั้งสองหน่วยงานมีแนวโน้มให้ผู้มาติดต่อใช้งานในปริมาณที่สูงขึ้น โดยในปีนี้อยู่ที่ 65% จุดที่น่าสนใจ คือ วิธีการใช้งาน พบว่า หน่วยงานรัฐวิสาหกิจกำหนดให้ต้องลงทะเบียนก่อนเข้าใช้งานถึง 100% ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดีมาก
ด้านการใช้งานระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) พบว่า มีการใช้ถึง 64% โดยเป็น ด้านซอฟต์แวร์ (SaaS) 43% ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (IaaS) 63% ด้านแพลตฟอร์ม (PaaS) 29% และด้านอื่นๆ 11% ขณะที่ภาครัฐเองก็มีการบริหารระบบสำรองข้อมูลสารสนเทศในยามฉุกเฉินด้วย พบว่า มีการใช้งานในขณะนี้ถึง 97%
'ส่วนของเทคโนโลยีใหม่ที่หน่วยงานภาครัฐเริ่มใช้งานกันแล้ว ปรากฏว่า เทคโนโลยี Big Data หรือการจัดการข้อมูลมหาศาล พบว่ามีหน่วยงานที่ริเริ่มใช้งานแล้วถึง 36%
นายศักดิ์ กล่าวต่อว่า เทคโนโลยี IoT หรือ Internet of Things เริ่มมีการใช้งานในหน่วยงานภาครัฐแล้ว 11% และจากการสำรวจยังพบว่าแนวโน้มที่ภาครัฐที่อยู่ระหว่างการติดตั้งเทคโนโลยีทั้งสองเพื่อนำมาใช้งานเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น