รศ.ดร.เดือนเพ็ญ ธีรวรรณวิวัฒน์
สาขาวิชาประชากรและการพัฒนา
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
สาขาวิชาประชากรและการพัฒนา
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงมีสายพระเนตรอันกว้างไกลในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศและราษฎรของพระองค์ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้วยความวิริยะอุตสาหะในฐานะพ่อของแผ่นดิน ทรงสนพระทัยในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในถิ่นทุรกันดารห่างไกลความเจริญทั้งเหนือใต้ออกตกและไม่ว่าจะเป็นที่ราบน้ำท่วมหรือแม้แต่ป่าเขาลำเนาไพรอย่างทั่วถึง
สายพระเนตรอันกว้างไกลของพระองค์ท่านสะท้อนออกมาให้ราษฎรได้ประจักษ์อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาของการครองสิริราชสมบัติ ทั้งในพระราชดำรัส หลักการปฏิบัติและแนวคิดที่ทรงพระราชทานให้กับบุคคล-คณะบุคคลที่เข้าเฝ้า รวมทั้งในโครงการที่พระราชทานพระราชดำริให้มีการจัดตั้งขึ้นกว่า 3000 โครงการ จึงทรงเป็นที่ยอมรับไม่ใช่เฉพาะปวงชนชาวไทยเท่านั้น แต่จากชาวโลกด้วยว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุด นานาประเทศทั่วโลกทูลเกล้าฯถวายรางวัลเกียรติคุณแด่พระองค์ท่านมากมาย หนึ่งในนั้นคือรางวัลเกียรติยศ ดร.นอร์แมน อี บอร์ ประจำปี 2549 ในฐานะ “พระมหากษัตริย์นักพัฒนา” (จากหนังสือ พระมหากษัตริย์นักพัฒนา เพื่อประโยชน์สุขสู่ปวงประชา โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)
ในที่นี้จะขอยกมากล่าวถึงเพียงสองตัวอย่างเท่านั้นที่เกี่ยวข้องกับประชากรศาสตร์ที่จะชี้ให้เห็นถึงสายพระเนตรอันกว้างไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช อันได้แก่ เรื่องของการที่ทรงเห็นความสำคัญของข้อมูลสถิติในการวางแผนพัฒนาประเทศ ดังได้กล่าวไปบ้างแล้วในบทความของ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ เรื่อง วิสัยทัศน์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชต่อวงวิชาการสถิติศาสตร์ แต่ในบทความนี้จะเน้นถึงความสำคัญของการใช้สถิติประชากรเพื่อการวางแผนพัฒนาประเทศ และอีกเรื่องเกี่ยวข้องกับแนวพระราชดำริปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระองค์ท่าน
การฉายภาพประชากร เป็นระเบียบวิธีหรือเทคนิคหนึ่งในสถิติประชากร การฉายภาพประชากรเป็นการคาดประมาณขนาด โครงสร้างอายุและเพศของประชากรไปในอนาคตข้างหน้าประมาณ 20-30 ปี โดยต้องมีข้อสมมติของสถิติประชากรด้านภาวะเจริญพันธุ์ ภาวะการตาย และการย้ายถิ่น ผลของการคาดประมาณดังกล่าวจะทำให้เราได้ข้อมูลพื้นฐานสำคัญที่จะนำมาใช้ในการวางแผนพัฒนาประเทศ เช่นล่าสุดในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ใช้ข้อมูลที่ได้จากการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2583 ซึ่งจากการคาดประมาณนี้ชี้ให้เห็นว่าที่ข้อสมมติภาวะเจริญพันธ์ลดลงปกติ จำนวนประชากรโดยรวมของประเทศไทยจะเริ่มลดลงในปีในปี พ.ศ. 2569 (รูปข้างล่าง ซ้าย) ดังนั้นจำนวนประชากรของประเทศไทยจะมีมากสุดที่ประมาณ 66 ล้านคน ในขณะเดียวกันจากรูปล่างขวาก็พบว่ากำลังแรงงานมีแนวโน้มลดลง (แต่ผลิตภาพแรงงานเพิ่มช้า) และมีสัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น สถิติประชากรนี้จึงส่งผลให้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) มีเป้าหมายประการหนึ่ง คือ “การพัฒนาศักยภาพคนตามช่วงวัยและการปฏิรูประบบเพื่อสร้างสังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ” (จากหนังสือ ทิศทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)
สำหรับประเด็น แนวพระราชดำริปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นั้น ขออัญเชิญพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่คณะที่ปรึกษาเยาวชนและเยาวชนดีเด่น ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2513 ความว่า “...คำว่า “พัฒนา”ก็หมายถึงทำให้มั่นคง ทำให้ก้าวหน้า การพัฒนาประเทศก็ทำให้บ้านเมืองมั่นคงมีความเจริญ ความหมายของการพัฒนาประเทศนี้ก็เท่ากับตั้งใจที่จะทำให้ชีวิตของแต่ละคนมีความปลอดภัย มีความเจริญ มีความสุข...” (จากหนังสือ พระมหากษัตริย์นักพัฒนา เพื่อประโยชน์สุขสู่ปวงประชา โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) พระบรมราโชวาทนี้มีนัยที่แฝงไว้ด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งทรงทอดพระเนตรเห็นความเสี่ยงของสังคมไทยที่พึ่งพิงปัจจัยภายนอกสูง ตลอดระยะเวลาที่ทรงงานช่วยเหลือประชาชน พระองค์ทรงชี้แนะถึงแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนให้ดำเนินไปในทางสายกลาง คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล และมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี เพื่อให้ราษฎรของพระองค์แต่ละคนมีความปลอดภัย มีความเจริญ และมีความสุขอย่างยั่งยืน และทรงเน้นย้ำว่าปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในทุกระดับของสังคม
นักประชากรได้ใช้เวลาหลายทศวรรษในการถกเถียงกันว่าคำ 2 คำ คำหนึ่ง คือ “ประชากร” และอีกคำ คือ “การพัฒนา” มีความสัมพันธ์กันอย่างไร มันควรจะเป็น “ประชากรและการพัฒนา” หรือ “ประชากรหรือการพัฒนา” อย่างไรก็ดีในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะมองความสัมพันธ์ดังกล่าวในเชิงพลวัตและกว้างขวางขึ้น มาเป็น “ประชากรในบริบทของการพัฒนาอย่างยั่งยืน” และก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมออกมา ทั้งๆที่ได้มีการสัมมนาระดมความคิดระหว่างนักวิชาการที่สนใจ มีการทำวิจัยเผยแพร่-ต่อยอดองค์ความรู้กัน แต่ด้วยสายพระเนตรอันกว้างไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงนำความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ในการช่วยเหลือพัฒนาราษฎรในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศมาบูรณาการเข้าด้วยกัน ดังพระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ที่พระราชทานสัมภาษณ์เกี่ยวกับหลักการทรงงานพัฒนาประเทศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ความว่า “... พระองค์ทรงเห็นอะไรที่กระทบ หรือเห็นว่ามีปัญหา ก็ทรงหาทางแก้ไข และเมื่อทำไปมากๆก็ออกมาเป็นทฤษฎี ฉันเห็นว่าพระองค์ไม่ได้ตั้งทฤษฎีโดยที่คิดตามปรัชญาและทฤษฎีมาก่อน แล้วหาตัวอย่างเข้าไปปฏิบัติตาม แต่มีความรู้สึกว่าพระองค์ทรงมีตัวอย่างมากมายจากการเสด็จไปยังที่ต่างๆเพื่อทอดพระเนตรสภาพปัญหาที่แท้จริง” (จากหนังสือ พระมหากษัตริย์นักพัฒนา เพื่อประโยชน์สุขสู่ปวงประชา โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)