xs
xsm
sm
md
lg

“คนพร้อม” ไม่ท้อง “คนไม่พร้อม” ท้องกันจัง วิกฤตคุณภาพประชากรไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

ประเทศไทยขณะนี้กำลังเผชิญปัญหา “เด็กเกิดน้อย...ด้อยคุณภาพ” เรื่องนี้เกิดขึ้นจากสาเหตุหลักๆ สำคัญ 2 ประการคือ 1. คนที่มีความพร้อม ทั้งด้วยวัยและหน้าที่การงาน กลับแต่งงานช้าลง อยู่เป็นโสดมากขึ้น รวมถึงมีลูกช้า ซึ่งการมีลูกช้าจะส่งผลต่อความเสี่ยงทางสุขภาพของเด็กที่เกิดมาด้วย และ 2. คนที่ไม่พร้อม เช่น วัยเรียน วัยรุ่น กลับมีการตั้งครรภ์และคลอดสูงมาก

เมื่อ “คนพร้อม” ไม่ยอมมีลูก

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย อธิบายถึงสาเหตุของการที่คนไทยแต่งงานและมีลูกช้า ว่า เป็นเพราะคนไทยมีการศึกษาที่สูงขึ้น จบปริญญาตรีก็อายุประมาณ 21 ปี บางคนเรียนต่อ บางคนเลือกทำงานสร้างฐานะ โดยเฉพาะผู้หญิงปัจจุบันเป็น Working Woman มากขึ้น คือ พึ่งพาเลี้ยงดูตนเอง ทำให้มีคนเป็นโสดมากขึ้น แต่งงานช้าลง หรือน้อยลง ทำให้อัตราการเกิดของประชากรไทยลดลง ซึ่งจากเดิมยุคเบบี้บูมเมอร์อัตราการเกิดของเด็กต่อปีอยู่ที่เกิน 1 ล้านคน แต่ตอนนี้กลับลดลงเรื่อย เหลือเพียงปีละประมาณ 7 แสนคน และทำให้อัตราการเพิ่มประชากรของประเทศไทยลดลงด้วย ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 0.4 เท่านั้น ซึ่งน่ากังวลว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งประชากรสูงอายุที่มีจำนวนมากเริ่มเสียชีวิตมากขึ้น ทำให้อัตราการตายเพิ่มขึ้น อัตราการเกิดลดลงจนมาเท่ากัน จะทำให้อัตราการเพิ่มประชากรของไทยอยู่ที่ร้อยละ 0.0 การจะเพิ่มอัตราประชากรของประเทศไทยให้เพียงพอ อัตราการเจริญพันธุ์รวมของประเทศไทยต้องอยู่ที่ 2.1 คือ เฉลี่ยแต่ละครอบครัวต้องมีลูกมากกว่า 2 คน คือ แทนพ่อ 1 คน แทนแม่ 1 คน และอีก 0.1 คือ ทดแทนการสูญเสีย

มี “ลูกช้า” เด็กเสี่ยงพิการ

นอกจากการแต่งงานช้าลง มีลูกช้าลง เด็กที่เกิดมายังเสี่ยงต่อการเกิดที่ด้อยคุณภาพด้วย โดยมีข้อมูลว่าการมีบุตรเมื่ออายุมากขึ้นนั้น จะเพิ่มความเสี่ยงต่ออาการดาวน์ 2 - 3 เท่า

นพ.วชิระ กล่าวว่า ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย มีข้อมูลว่า ช่วงเวลาทองของการมีลูกคือช่วงอายุ 20 - 34 ปี แต่เวลาทองของเวลาทองจริงๆ คือ ช่วงอายุ 24 - 29 ปี ที่สมควรจะต้องมีลูก และยิ่งหากมีการเตรียมความพร้อมที่ดีก็จะช่วยให้เด็กมีคุณภาพตั้งแต่อยู่ในครรภ์ นั่นคือ การเสริมด้วยวิตามินโฟลิกและธาตุเหล็ก กินสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 3 เดือนก่อนการตั้งครรภ์ จะช่วยลดความเสี่ยงภาวะพิการของเด็กในท้องได้ ดังนั้น ผู้หญิงเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ก็สามารถกินวิตามินดังกล่าวได้เลย เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม ซึ่งไม่มีผลข้างเคียงใดๆ ส่วนหญิงที่ตั้งครรภ์แล้วเมื่อมาฝากครรภ์ก็จะได้รับวิตามินรวม 3 ตัว คือ เหล็ก โฟลิก และ ไอโอดีน

“นอกจากนี้ หญิงที่ตั้งครรภ์ควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ตามหลักโภชนาการ เน้นอาหารที่อุดมด้วยธาตุเหล็ก ได้แก่ ตับ เลือด เนื้อสัตว์ เนื้อแดงต่างๆ เครื่องในสัตว์ เป็นต้น โดยกินเนื้อสัตว์วันละ 8 ช้อนกินข้าว สำหรับแหล่งอาหารที่อุดมด้วยโฟลิก ได้แก่ ผักใบเขียวจำพวก คะน้า บรอกโคลี ดอกกะหล่ำ ผักตระกูลกะหล่ำ แตงกวา หน่อไม้ฝรั่ง ถั่วฝักยาว ซึ่งควรกินผักวันละ 4 - 6 ทัพพี ควบคู่ผลไม้สด เช่น องุ่น สตรอว์เบอร์รี ส้ม ฝรั่งกิมจู มะม่วงเขียวเสวย และ มะละกอสุก เป็นต้น เพื่อเสริมสร้างธาตุเหล็กและโฟลิกที่ร่างกายต้องการ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ด้าน ศ.เกียรติคุณ พญ.พรสวรรค์ วสันต์ นายกสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด กล่าวว่า แต่ละปีมีเด็กพิการแต่กำเนิดประมาณ 30,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่สะสมมากขึ้นทุกปี การเตรียมความพร้อมด้วยการให้วิตามินดังกล่าวสามารถช่วยลดความเสี่ยงลงได้ 30 - 50% ทั้งภาวะหลอดประสาทไม่ปิด ปากแหว่งเพดานโหว่ ความผิดปกติของแขนขา หัวใจพิการแต่กำเนิด ระบบทางเดินปัสสาวะผิดปกติ ไม่มีรูทวารหนัก และกลุ่มอาการดาวน์ เนื่องจากวิตามินโฟลิกช่วยการสร้างและแบ่งเซลล์ในตัวอ่อนให้สมบูรณ์ตั้งแต่หลังปฏิสนธิภายใน 28 วัน ดังนั้น จึงต้องกินวิตามินก่อนท้อง ซึ่งวิตามินนี้ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปราคาเม็ดละไม่เกิน 1 บาท ขนาด 5 มิลลิกรัม

ถึงเวลาที่ต้อง “มีลูก” ช่วยชาติ!!!

คนที่มีความพร้อมกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แนะนำให้กินวิตามินเหล็กและโฟลิก เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ที่มีคุณภาพ จึงมีความร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในการให้นายทะเบียน ช่วยให้ความรู้และความเข้าใจในแก่คู่สมรสที่มาจดทะเบียนในการให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมตั้งครรภ์ เพราะเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีความพร้อมที่จะมีบุตรและมีการเกิดอย่างมีคุณภาพ โดยจะเริ่มคิกออฟในวันที่ 14 ก.พ. 2560 ซึ่งเป็นวันวาเลนไทน์ที่มีคู่รักมาจดทะเบียนสมรสมากที่สุด ด้วยการแจกวิตามินเหล็กและโฟลิกให้รับประทาน

สวัสดิการส่งเสริม “มีลูกมีผัว”

แม้จะส่งเสริมให้คนที่มีความพร้อมมีลูกอย่างมีคุณภาพ แต่อัตราจำนวนประชากรอาจไม่เพิ่มขึ้น เพราะคนที่ยังโสกก็ยังมีอีกมาก เรื่องนี้รัฐบาลควรมีการจัดสวัสดิการเพื่อส่งเสริมหรือไม่ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยอาจยังไม่ต้องไปไกลถึงขั้นนั้น ตอนนี้ยังต้องเน้นเรื่องแม้การเกิดจะน้อยแต่ทำอย่างไรถึงจะมีคุณภาพ

ทางด้านนักวิชาการอย่าง ดร.กนกวรรณ ธราวรรณ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สะท้อนว่า สวัสดิการที่รัฐควรจัดให้ คือ สวัสดิการที่เอื้อต่อการให้พ่อแม่ได้เลี้ยงดูบุตรมากกว่า ซึ่งปัจจุบันสิทธิในการลาคลอดอยู่ที่ 3 เดือน แต่ในความเป็นจริง โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างไม่สามารถหยุดงานได้ถึง 3 เดือน ต้องกลับมาทำงาน มิเช่นนั้น นายจ้างก็จ้างคนอื่น ขณะที่งานวิจัยจากประเทศญี่ปุ่นชัดเจนว่า ลูกที่แม่ลาออกจากงานมาเลี้ยงด้วยตัวเองเป็นเวลา 3 ปี กับลูกที่ฝากคนอื่นเลี้ยง โดยพ่อแม่ต้องออกไปทำงานนั้น พบว่า ลูกที่แม่เลี้ยงเองโตมามีคุณภาพมากกว่า สุขภาพกายและจิตดีกว่า ไม่ป่วยบ่อย เป็นตัวของตัวเอง เรียนรู้ได้ดีกว่าเด็กที่ฝากคนอื่นเลี้ยง ดังนั้น หากมีการส่งเสริมให้แม่เลี้ยงลูกเองด้วยการให้เงินอุดหนุน ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 600 บาทต่อเดือน หากเพิ่มเป็น 10,000 บาทต่อเดือน ให้เท่ากับค่าแรงขึ้นต่ำ 300 บาท เชื่อว่าเป็นการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ที่คุ้มค่ามากกว่า

ปัญหา “ป่องวัยเรียน” เพิ่มขึ้น

อีกกลุ่มที่ส่งผลต่อการ “เกิดน้อยด้อยคุณภาพ” คือ กลุ่มแม่วัยรุ่นหรือแม่วัยเรียน ที่ยังไม่มีความพร้อม แต่เกิดการตั้งครรภ์ขึ้นมาเสียก่อน นอกจากปัญหาการลักลอบทำแท้งแล้ว หากตั้งครรภ์ต่อไปที่ผ่านมาจะพบฝ่ายหญิงต้องออกจากการเรียน แม้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะมีนโยบายห้ามไล่เด็กออกก็ตาม ซึ่งเมื่อยังเรียนไม่จบ ยังหาเลี้ยงชีพด้วยตัวเองไม่เป็น ทั้งตัวแม่และเด็กก็จะกลายเป็นภาระแก่บุคคลอื่น และเมื่อต้นทุนไม่ดีตั้งแต่แรก โอกาสที่เด็กเกิดมาจะก่อปัญหาแก่สังคมก็มีโอกาสสูงตามไปด้วย

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยพบปัญหาแม่วัยรุ่นมีจำนวนมากขึ้น โดยข้อมูลจากกรมอนามัย ปี 2558 พบว่า หญิงคลอดบุตรวัย 10 - 19 ปี มีจำนวน 104,289 คน หรือเฉลี่ยวันละ 286 คน คิดเป็นอัตราสูงถึงร้อยละ 15 ของการคลอดทั้งหมด หรือเท่ากับวัยรุ่นหญิงไทยทุก 1,000 คน จะมีคนคลอดลูก 43 คน นอกจากนี้ ยังพบปัญหาและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นที่มีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงภาวะแทรกซ้อนจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย การทอดทิ้งทารก และคุณภาพของประชากรที่เกิดจากการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น

สอดคล้องกับผลสำรวจของกรมสุขภาพจิตที่พบว่า การมีเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่นนั้น ไม่ได้เปิดซิงกันแค่เฉพาะวันวาเลนไทน์ที่คนมองว่าเป็นวันเสียตัวแห่งชาติ แต่พบว่าวัยรุ่นมองว่าการมีเพศสัมพันธ์สามารถทำได้ทุกวัน

นพ.ปิยะสกล บอกอีกว่า จากการมี พ.ร.บ. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ซึ่งเป็นความร่วมมือของ 5 กระทรวงหลัก คือ สธ. ศธ. กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ กระทรวงแรงงาน ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม จึงตั้งเป้าว่าภายในปี 2569 จะต้องลดแม่วัยรุ่นให้ได้ร้อยละ 50

ให้ความรู้ ฝึกทักษะชีวิต ช่วยป้องกันท้องวัยเรียน

การดำเนินงานภายใต้ พ.ร.บ. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 หน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการป้องกัน คือ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ต้องให้ความรู้แก่นักเรียน แต่ปัญหาคือการเรียนการสอนเพศศึกษาในปัจจุบันยังไม่ได้พัฒนาความรู้ของเด็กมากพอที่ที่จะเข้าใจอย่างถูกต้องและนำไปปฏิบัติได้จริง

นายชัยชาญ ช่วยโพธิ์กลาง ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมกิจการการศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า จริงๆ การสอนเรื่องเพศศึกษามีอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีการอบรมครู ยังไม่มีการเอาไปใช้อย่างจริงจัง สอนบ้างไม่สอนบ้าง หลังจาก พ.ร.บ. นี้ออกมา ก็ต้องทำให้หลักสูตรเพศศึกษาของ ศธ. ซึ่งเป็นหลักสูตรแกนกลาง พัฒนาเป็นหลักสูตรท้องถิ่นให้ได้ เพราะแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ก็ต้องนำหลักสูตรแกนกลางมาปรับให้เหมาะสมกับพื้นที่ ซึ่งอาจจะปรับหรือไม่ปรับก็ได้ ซึ่งขณะนี้โรงเรียนหลายแห่งก็มีการเดินหน้าในเรื่องนี้ไปแล้ว ที่ไหนเดินหน้าแล้วก็ส่งเสริม ที่ไหนยังไม่เริ่มก็ต้องเข้าไปดูว่าขาดเหลืออะไรเพื่อสนับสนุน

สำหรับการเรียนการสอนด้านเพศศึกษา จะต้องสอนในลักษณะที่เรียกว่าเพศวิถี คือ สอนเรื่องเพศอย่างรอบด้าน ตั้งแต่เรื่องกายภาพของแต่ละเพศ เรื่องอารมณ์ทางเพศเป็นอย่างไร จัดการกับอารมณ์ทางเพศ ของตนเองอย่างไร ทักษะการปฏิเสธเมื่อถูกร้องขอมีเพศสัมพันธ์ และหากมีเพศสัมพันธ์ต้องป้องกันอย่างไรเพื่อความปลอดภัย รวมไปถึงเรื่องของการวางตัวและการให้เกียรติต่างๆ (อ่านเพิ่มจาก ตีตรา “ป่องวัยเรียน” ทำหมดอนาคต “ร.ร.บุญวัฒนา” ให้โอกาสช่วยชีวิตที่พลั้งพลาด)

จัดสวัสดิการช่วย “แม่วัยรุ่น” พลาดพลั้ง

นอกจากการให้ความรู้เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรแล้ว แต่หากเกิดความพลาดพลั้งขึ้นมา นพ.วชิระ กล่าวว่า การดำเนินงานตาม พ.ร.บ. นี้ คือ ให้วัยรุ่นมีสิทธิในการตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิตได้เอง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ให้ข้อมูลแต่ละทางเลือกแก่เด็กว่า ทางเลือกแต่ละทางมีข้อดีข้อเสียอย่างไร เช่น หากเลือกตั้งครรภ์ต่อไปโรงเรียนจะช่วยเหลือให้เกิดการเรียนต่ออย่างไร โรงพยาบาลช่วยดูแลเรื่องการตั้งครรภ์ให้มีคุณภาพ ขณะที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็ดูแลเรื่องสวัสดิการเมื่อคลอดออกมา เช่น เงินอุดหนุนการเลี้ยงดูบุตร การจัดที่อยู่อาศัยสำหรับแม่วัยรุ่น การประสานจัดอบรมอาชีพเพื่อให้สามารถประกอบอาชีพดูแลตัวเองและลูกได้ รวมไปถึงการหาครอบครัวช่วยเลี้ยงชั่วคราว เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการในเรื่องเหล่านี้อยู่ระหว่างการออกกฎกระทรวงของแต่ละหน่วยงาน เพื่อประกาศใช้ดำเนินการในทางปฏิบัติให้ชัดเจนต่อไป

หากสามารถลดการตั้งครรภ์ในกลุ่มคนที่ไม่พร้อม และส่งเสริมคนที่พร้อมให้ตั้งครรภ์อย่างมีคุณภาพได้ จะสามารถช่วยให้ประชากรยุคใหม่ของประเทศไทยมีคุณภาพตั้งแต่การเกิด และหากมีการเลี้ยงดูสั่งสอนที่ดีก็จะส่งผลให้ประชากรมีคุณภาพมากยิ่งขึ้นด้วย ส่วนการจะเพิ่มจำนวนประชากรให้มากขึ้น เพื่อทดแทนคนรุ่นเก่า คงต้องรอดูว่าถึงเวลาที่ประเทศไทยจะต้องส่งเสริมให้มีโครงการอย่างเช่น “ช่วยสาวโสดมีสามี” แล้วหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องพิจารณา

เพราะสมัยนี้ “หนุ่มโสด - สาวโสด” ของไทยมีมากเหลือเกิน!!
กำลังโหลดความคิดเห็น