xs
xsm
sm
md
lg

ผิดเป็นผิด ถูกเป็นถูก : ความเป็นธรรม

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

คำว่า ธรรม ตามนัยแห่งคำสอนของพุทธศาสนาหมายถึงสภาวะแห่งความจริง คงที่ไม่มีความเปลี่ยนแปลงในภาวะแห่งความเป็นโดยตัวเองไปเป็นอย่างอื่น หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ มันเป็นอย่างไรก็เป็นอยู่อย่างนั้นตลอดกาล

ด้วยเหตุนี้ ธรรมจึงเป็นสภาวะแห่งความเป็นจริง หรือสัจภาวะอันเป็นนิรันดร์นั่นเอง

ตามนัยแห่งอภิธรรมหรือธรรมขั้นสูงในพุทธศาสนา ธรรมแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ
1. กุศลธรรม ได้แก่ ธรรมฝ่ายดี ซึ่งนำความสุขมาให้แก่ผู้ปฏิบัติ
2. อกุศลธรรม ได้แก่ ธรรมฝ่ายเลว ซึ่งนำความทุข์ ความเดือดร้อนแก่ผู้กระทำตามธรรมะนี้
3. อัพยากตธรรม ได้แก่ ธรรมอันเป็นกลางไม่ดีและไม่เลว

ด้วยเหตุนี้ วาทกรรมหรือการพูดด้วยถ้อยคำที่มีคำว่า ธรรมผสมอยู่ด้วย เช่น ความเป็นธรรม ความยุติ เอาธรรมนำหน้า เป็นต้น จึงมีความหมายในทางดีหรือในทางกุศลดังต่อไปนี้

1. ความเป็นธรรม ได้แก่ ความเป็นจริงตามสภาวะซึ่งเกิดขึ้นและดำรงอยู่ตามความเป็นจริง คือผิดเป็นผิด และถูกเป็นถูก

2. การเอาธรรมนำหน้า ได้แก่ การนำความจริงมาเป็นหลักในการพูดและการกระทำ ไม่บิดเบือนให้ผิดเป็นถูก หรือถูกเป็นผิด ด้วยอคติหรือความลำเอียง 4 ประการคือ 1. ลำเอียงเพราะความรัก 2. ลำเอียงเพราะความเกลียด 3. ลำเอียงเพราะความกลัว 4. ลำเอียงเพราะความหลง

3. ความยุติธรรม ได้แก่ การจบลงด้วยความเป็นธรรมคือ ผิดเป็นผิด และถูกเป็นถูก

ความจริงตามนัยแห่งคำสอนในพุทธศาสนาแบ่งออกเป็น 2 ระดับคือ
1. จริงโดยสมมติหรือสมมติสัจจะหมายถึง จริงตามที่โลกบัญญัติ และโลกเรียกขานกันแล้วยึดถือปฏิบัติกัน
2. จริงโดยปรมัตถ์ หรือปรมัตถสัจจะ เป็นความจริงแท้โดยความมีและความเป็นของตัวมันเอง ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา หรืออกาลิโก ซึ่งปรากฏอยู่ในบทสวดสรรเสริญพระธรรม

พุทธศาสนาได้เข้ามาสู่ดินแดนแหลมทองแห่งนี้นานนับพันปีแล้ว ซึ่งปรากฏหลักฐานการทำสังคายนาครั้งแรกที่นครเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 890 สมัยพระเจ้าติโลกราช และในปัจจุบันประชากรของประเทศไทยส่วนใหญ่หรือประมาณ 90% นับถือพุทธศาสนา แต่ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยไม่รู้ และไม่เข้าใจคำสอนของพุทธศาสนา หรือรู้แต่แกล้งทำเป็นไม่รู้ได้นำเอาคำว่า ธรรมะมาใช้ในความหมายที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง จะเห็นได้จากการใช้วาทกรรมที่มีคำว่า ธรรมผสมอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำว่า ความเป็นธรรมของผู้นำเป็นจำเลยในคดีที่มีโทษร้ายแรง หรือไม่มีโทษร้ายแรงในทางกฎหมาย แต่ทำให้เสียชื่อเสียง และตกเป็นจำเลยทางสังคม มีผลกระทบต่อการประกอบกิจการซึ่งต้องอาศัยความนิยมจากประชาชน เฉกเช่นนักการเมือง เป็นต้น มักจะออกมาโวยว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรม เป็นการแสดงว่าตนเองไม่ได้กระทำผิด และในขณะเดียวกันเป็นการขอความเห็นใจจากพวกพ้องของตนเองไปพร้อมๆ กัน

แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านี้เมื่อคดีสิ้นสุด และผลการตัดสินของศาลยุติธรรมตนเองเป็นผู้นำ และได้รับโทษ ก็จะโวยวายว่าตนเองไม่ได้รับความยุติธรรม และหาทางหลบหนีจากการถูกลงโทษ ถ้าเผอิญหลบหนีได้ ก็จะใช้โอกาสเท่าที่จะหาได้โจมตีกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยไม่มีความยุติธรรม และสองมาตรฐาน อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน และเป็นรูปธรรมในการใช้วาทกรรมในทำนองนี้

ในขณะนี้ การใช้วาทกรรม ไม่ได้รับความเป็นธรรม และเรียกร้องความเห็นใจจากพวกพ้องของตนเองควบคู่กันไป ได้เกิดขึ้นอีกครั้งในคดีรับจำนำข้าว ซึ่งมีผู้ตกเป็นจำเลยหลายคน ทั้งจากภาครัฐและเอกชน

หนึ่งในจำนวนนี้ก็คือ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีได้ตกเป็นจำเลยในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และทำให้รัฐเสียหายตามมาตรา 157 เนื่องจากไม่ยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวเมื่อโครงการเกิดความเสียหาย และได้มีเสียงเตือนจากนักวิชาการ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงข้อเรียกร้องจาก ส.ส.พรรคฝ่ายค้านให้ชะลอโครงการ และทำการตรวจสอบความเสียหาย

นอกจากไม่ฟังเสียงเตือนและท้วงติงแล้ว ผู้นำรัฐในยุคนั้นได้ออกมายืนยันจะเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวต่อไป โดยให้เหตุผลว่าเป็นโครงการตามนโยบายที่ได้แถลงต่อสภาฯ และประชาชนคือชาวนาได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ ซึ่งเป็นความจริง แต่เป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว ทั้งความจริงส่วนนี้ไม่มีใครอ้างมาเป็นเหตุท้วงติง แต่ที่ทุกฝ่ายท้วงติงคือส่วนที่โครงการก่อให้เกิดความเสียหาย อันเกิดจากความบกพร่องและผิดพลาดจากการบริหารโครงการ รวมไปถึงการทุจริต คอร์รัปชัน

ดังนั้น วาทกรรมที่ว่าจำเลยในคดีนี้ไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะถ้าตรงกับความเป็นจริง ก็จะต้องแยกส่วนที่ผิดและถูกออกจากกัน กล่าวคือ ส่วนแรกที่ว่าเป็นนโยบาย และเป็นประโยชน์แก่ชาวนานับได้ว่าถูกต้องในแง่ของเจตนา ถึงแม้ว่าจะไม่สมเหตุสมผลบ้าง เช่น ราคารับจำนำที่สูงกว่าราคาตลาดมาก และทำให้เป็นอุปสรรคในการขายออกไป แต่ดูเหมือนว่าไม่มีใครติดใจส่วนนี้เท่าใดนัก ทั้งๆ ที่เป็นส่วนอันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย

ส่วนที่ถือว่าเป็นความผิดก็คือ การดำเนินโครงการซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายหลายแสนล้านบาท

ด้วยเหตุดังกล่าวแล้วข้างต้น การที่ผู้นำรัฐบาลในฐานะผู้กำกับดูแลโครงการจำนำข้าวตกเป็นจำเลยในข้อหาละเว้นการปฏิบัติ และทำให้รัฐเสียหาย จึงนับได้ว่าเป็นธรรม กล่าวคือ เมื่อมีการกระทำหรือไม่กระทำอันเข้าข่ายผิดกฎหมาย ก็จะต้องถูกดำเนินคดีซึ่งเป็นความจริงในระดับสมมติสัจจะ

ส่วนว่าเมื่อถูกดำเนินคดีแล้ว จะได้รับความยุติธรรมหรือไม่ และมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน ซึ่งจำเลยนำมาหักล้างข้อกล่าวหาของโจทก์เป็นสำคัญ

เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ไม่ว่าจำเลยจะแพ้หรือชนะ จะต้องยอมรับผลการตัดสินของศาล ในฐานะประชาชนผู้อยู่ภายใต้กฎหมาย และในฐานะที่สถาบันตุลาการเป็นองค์กรหลักหนึ่งในสามของระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
กำลังโหลดความคิดเห็น