xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจกวดวิชาแข่งเดือด! ต้นทุนพุ่ง โยนภาระผู้ปกครองต้องจ่ายเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้แนวโน้มธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาเพิ่มจำนวนทั้งเปิดเองและซื้อแฟรนไชส์ การแข่งขันสูง แต่จำนวนผู้เรียนไม่ลดลงเพราะผู้ปกครองยอมทุ่ม แนะปรับกลยุทธ์ชูความคุ้มค่า ระบุอาจเผชิญต้นทุนสูงขึ้นจากภาระภาษีแต่จะผลักค่าใช้จ่ายไปสู่ผู้ปกครองแทน คาดมูลค่าตลาดปีนี้กว่า 8,189 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 6.8

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยบทความเรื่อง “โรงเรียนกวดวิชาปี'58 แข่งขันรุนแรงขึ้น...คาด จำนวนนักเรียนไม่ลดลง ส่งผลให้ตลาดยังคงเติบโต 6.8%” โดยระบุว่าจำนวนโรงเรียนกวดวิชามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผลมาจากผู้เล่นรายใหม่ๆมีทางเลือกในการเข้าสู่ตลาดหลากหลายขึ้น โดยนอกจากจะลงทุนเปิดโรงเรียนกวดวิชาได้เองแล้ว ยังซื้อแฟรนไชส์โรงเรียนกวดวิชาจากผู้ขายแฟรนไชส์ ส่งผลให้โรงเรียนกวดวิชามีการแข่งขันทำการตลาดอย่างเข้มข้นมากขึ้น

จากปัจจัยดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าการนำเสนอความคุ้มค่าในสายตาของนักเรียนและผู้ปกครองเป็นกลยุทธ์ที่โรงเรียนกวดวิชานิยมใช้ รวมถึงยังมีการสร้างความสัมพันธ์กับนักเรียนในระยะยาว เพื่อนำมาสู่การบอกต่อหรือชักชวนให้นักเรียนมาเรียนจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านการกำหนดตำแหน่งการแข่งขันในการเป็นศูนย์รวม หรือ Community ของนักเรียน

นอกจากนี้ ในปี 2558 ยังมีความท้าทายเฉพาะที่โรงเรียนกวดวิชาต่างก็เผชิญแตกต่างกันไปตามรูปแบบการประกอบธุรกิจ โดยโรงเรียนกวดวิชาที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดที่ยังมีจำนวนสาขาไม่มากนัก ก็จะเผชิญภาวะต้นทุนการประกอบธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับสูง ในขณะที่โรงเรียนกวดวิชาเจ้าตลาดที่มีสาขาจำนวนมากจะสามารถใช้ประโยชน์จากการประกอบธุรกิจที่มีการประหยัดต่อขนาดได้ โดยในปี 2558 นี้เป็นปีที่โรงเรียนกวดวิชาประกอบธุรกิจท่ามกลางแนวโน้มต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น โรงเรียนกวดวิชาจึงน่าจะให้ความสำคัญต่อการคัดเลือกทำเลที่ตั้งที่จะขยายสาขา โดยต้องเป็นพื้นที่ที่มีการกระจุกตัวของนักเรียน ผู้ปกครองมีความสามารถในการส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนกวดวิชา รวมถึงการแข่งขันของโรงเรียนกวดวิชาในพื้นที่ยังไม่รุนแรงมากนัก

นอกจากนี้ การที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลกับโรงเรียนกวดวิชา เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ต้นทุนการประกอบธุรกิจของโรงเรียนกวดวิชาเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าจะมีการดูแลราคาหลักสูตรการเรียนให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ปกครองและนักเรียน แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่โรงเรียนกวดวิชาจะผลักภาระต้นทุนการประกอบธุรกิจดังกล่าวผ่านการปรับเพิ่มราคาหลักสูตรการเรียน

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการปรับเพิ่มราคาหลักสูตรการเรียนของโรงเรียนกวดวิชาอาจไม่ส่งผลกระทบให้จำนวนนักเรียนที่เรียนกวดวิชาลดลง เนื่องจากผู้ปกครองและนักเรียนน่าจะยังคงให้ความสำคัญต่อการเรียนกวดวิชา โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณการมูลค่าตลาดธุรกิจกวดวิชาในปี 2558 ไว้ที่ประมาณ 8,189 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 6.8 จากในปี 2557 จากปัจจัยจำนวนนักเรียนที่เรียนกวดวิชาเพิ่มขึ้น รวมถึงการปรับเพิ่มราคาค่าเรียนต่อหลักสูตรการเรียน

ทั้งนี้ ข้อมูลการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2583 โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้คาดการณ์จำนวนประชากรช่วงอายุ 15-19 ปี จากประมาณ 4,523,000 คนในปี 2558 ลดลงไปสู่ 4,207,000 ในปี 2563 รวมถึงยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แนวโน้มการลดลงของกลุ่มเป้าหมายหลักที่ใช้บริการโรงเรียนกวดวิชาดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของโรงเรียนกวดวิชาในระยะยาว ประกอบกับการขยายสาขาของโรงเรียนกวดวิชา และเข้าสู่ตลาดของโรงเรียนกวดวิชารายใหม่ๆ จะยิ่งส่งผลให้การประกอบธุรกิจของโรงเรียนกวดวิชาในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้นมากกว่าในปัจจุบัน

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น