xs
xsm
sm
md
lg

อายุนั้นสำคัญไฉน?

เผยแพร่:   โดย: รศ.ดร.เดือนเพ็ญ ธีรวรรณวิวัฒน์

รศ. ดร. เดือนเพ็ญ ธีรวรรณวิวัฒน์
สาขาประชากรและการพัฒนา
และ สาขาการวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


หลายคนมองว่าอายุเป็นเพียงแค่ตัวเลขธรรมดา แต่ถ้าเรามองให้ลึกลงไปแล้วจะเห็นได้ว่าอายุไม่ใช่เป็นเพียงแค่ตัวเลขเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นหรือสามารถอนุมานไปยังอะไรอย่างอื่นได้อีกมากมาย ดังนั้นศาสตร์ทางด้านประชากรจึงให้ความสำคัญและศึกษาอายุ โดยเฉพาะโครงสร้างอายุของประชากรอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

เรามักจะได้ยินกันจนคุ้นหูว่าประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุหรือสังคมสูงวัย เฉกเช่นเดียวกับประเทศในทวีปยุโรป หรือญี่ปุ่นแล้ว ในเชิงวิชาการนักประชากรจะพิจารณาจากโครงสร้างอายุของประชากร โดยใช้ตัวบ่งชี้หลายตัวในการที่จะระบุว่าประชากรของประเทศนั้นประเทศนี้เป็น “ประชากรวัยรุ่น” (Young population) หรือ “ประชากรวัยสูงอายุ” (Old population) ตัวบ่งชี้ดังกล่าวได้แก่ อายุมัธยฐานของประชากร สัดส่วนของประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป สัดส่วนของประชากรที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี อัตราส่วนผู้สูงอายุต่อเด็ก เป็นต้น อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่จะใช้ 2 ตัวแรก โดยมีเกณฑ์ว่า ประชากรสูงอายุจะมีอายุมัธยฐานของประชากรโดยรวมมากกว่า 30 ปี และมีประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปในสัดส่วนที่มากกว่าร้อยละ 8-10 ของประชากรทั้งหมด

ตามเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นนี้จึงเป็นที่เชื่อกันว่า ประชากรไทยเริ่มก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุในช่วงปี พ.ศ. 2548-2552 เนื่องจากในช่วงดังกล่าวอายุมัธยฐานของประชากรไทยเริ่มมาแตะอยู่ที่ตัวเลข 30 ปี และสัดส่วนของประชากรที่มีอายุ 60 ปีหรือมากกว่า ขยับขึ้นมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10

หลักฐานที่สำคัญอีกประการที่เป็นสัญญาณบ่งบอกให้ทราบว่าประชากรไทยกำลังก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุแล้ว นั่นคือ ในช่วงปี พ.ศ. 2548–2552 เป็นช่วงปีที่รุ่น “baby boom” หรือคือกลุ่มที่เกิดในช่วงหลังเสร็จสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งอยู่ระหว่างปี พ.ศ. 2490-2506 อันเป็นช่วงที่มีอัตราการเกิดเพิ่มสูงขึ้น จากข้อมูลทะเบียนราษฎร์พบว่าจำนวนเด็กเกิดเพิ่มขึ้นจากประมาณ 4 แสนคนในปี พ.ศ. 2490 เป็นเกิดปีละเกือบ 8 แสนคน เมื่อปี พ.ศ. 2499-2500 และท้ายที่สุดมาถึงจุดที่เกิดปีละเกินล้านคน เมื่อปี พ.ศ. 2506 สรุปก็คือทัพหน้าของพวก “baby boom” คือรุ่นที่เกิดในปี 2490 มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในปี พ.ศ. 2550 ส่วนคนในรุ่นปีเกิดอื่นๆก็จะเริ่มทยอยครบ 60 ปีในปีถัดๆไป (ดังแสดงในรูปข้างล่าง) ซึ่งจะส่งผลให้จำนวนและสัดส่วนของประชากรที่มีอายุ 60 ปีหรือมากกว่าเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่รวดเร็ว และเนื่องจาก “แรงเฉื่อย” ของกลุ่ม “baby boom” (ในรูปข้างล่าง คือ กลุ่ม Late baby boom หรือที่เรียกกันว่า Gen X) นี้ จะส่งผลทำให้จำนวนและสัดส่วนของผู้สูงอายุในสังคมไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาที่ยาวนานขึ้น

เมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ตั้งคณะอนุกรรมการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย โดยมีท่านโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ เป็นประธาน และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งนักประชากรไทยซึ่งนำทีมโดย ศ. ดร. ปราโมทย์ ประสาทกุล ได้ทำการคาดประมาณว่าในอีก 15 ปีข้างหน้า คือราวๆปี พ.ศ. 2573 ประเทศไทยจะมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีหรือมากกว่าอยู่ 17.6 ล้านคน (ปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2557 มี 9.9 ล้านคน) หรือคิดเป็นร้อยละ 26.6 จากประชากรทั้งประเทศ (ปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2557 ร้อยละ 15.3) ข้อสังเกตที่น่าสนใจและน่าตกใจก็คือ กลุ่มผู้สูงอายุวัยปลาย (Oldest old) ซึ่งเป็นผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 85 ปีขึ้นไป จะเพิ่มจำนวนเป็น 2 เท่า คือจาก 520,000 คนในปี พ.ศ. 2557 (จากจำนวนประชากรทั้งหมด 64,871,000 คน) เป็น 1,030,000 คน ในปี พ.ศ. 2573 (จากจำนวนประชากรทั้งหมด 66,174,000 คน)

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าประชากรไทยมีการพัฒนาโดยผ่านวัยเด็กและวัยกลางคนมาแล้ว และ ณ ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงต้นของวัยสูงอายุ ถ้าพิจารณาในระดับปัจเจกบุคคล ก็คือ คนไทยมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรที่จะทำให้การสูงอายุนี้ประสบความสำเร็จ (Successful ageing) ซึ่งมักมีผู้กล่าวว่า “ให้เพิ่มความมีชีวิตให้กับอายุ ไม่ใช่เพิ่มอายุให้กับชีวิต” ดังนั้นการสูงอายุที่ประสบความสำเร็จ จึงควรประกอบด้วย

1.การไม่มีโรคภัยไข้เจ็บและความพิการ
2.มีการรับรู้อยู่ในระดับที่สูง รวมทั้งร่างกายและสมองยังทำงานได้
3.การมีส่วนร่วมในสังคม และยังกระฉับกระเฉงในการดำเนินชีวิต

เมื่อพิจารณาองค์ประกอบทั้ง 3 ประการให้ถ่องแท้แล้วจะเห็นได้ว่ามันคือการมีความสุขและมีพลังทั้งกายและใจตามหลักคำสอนในพุทธศาสนานั่นเอง

อย่างไรก็ดีการเปลี่ยนผ่านจากวัยหนึ่งสู่อีกวัยหนึ่งย่อมมีผลกระทบหรือก่อให้เกิดปัญหากับระบบอื่นๆในสังคม เช่น ระบบครอบครัว ระบบเศรษฐกิจ-การทำงาน ระบบสวัสดิการของรัฐโดยเฉพาะด้านสุขภาพ เป็นต้น ทั้งหมดนี้คือภาพรวม ซึ่งในความเป็นจริงยังมีรายละเอียดของความเหลื่อมล้ำซ่อนอยู่อีกมาก ที่รอคอยการศึกษาวิจัยเพื่อตีแผ่ออกมา ให้เห็นภาพของปัญหาที่ชัดเจนขึ้น

นี่คือคำตอบของคำถาม “อายุนั้นสำคัญไฉน?” จากนักประชากรคนหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น