ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ขณะที่กระบวนการทางกฎหมายถูกดูแคลนว่าเป็นไปในทิศทางไล่หลังผู้กระทำผิด เกิดช่องโหว่หลายประการในคดีทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ แน่นอนว่าการจัดตั้ง ‘ศาลปราบโกง’ จึงกลายเป็นความหวังใหม่ที่หวังใจว่าจะเป็นกลไกช่วยสามารถสมานแผลในอดีต
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง หรือ ‘ศาลปราบโกง’ เปิดอย่างเป็นทางการวันแรกเมื่อ 1 ต.ค. 2559 โดย อำนาจ พวงชมภู ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) มานั่งแท่น ‘อธิบดีศาลปราบโกง’ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการโปรดเกล้าฯ จึงยังต้องใช้ตำแหน่งว่า อธิบดีผู้พิพากษาศาลภาค 2 ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่ง อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง
‘ศาลปราบโกง’ จัดตั้งขึ้นตาม พรบ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 ภายใต้การผลักดันของรัฐบาลทหาร อย่าง ‘บิ๊กตู่’ - พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินหน้าประเทศไทยเอาจริงเอาจังในการสะสางปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น โดยเฉพาะในกลุ่มนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นปัญหามาหลายยุคหลายสมัย
สำหรับบทบาทและภารกิจของ ‘ศาลปราบโกง’ เป็นอย่างไร ‘อธิบดีอำนาจ’ จะเป็นผู้ให้คำตอบด้วยตัวเอง แม้จะเข้ามารับตำแหน่งใหม่หมาดๆ แต่ถือว่าท่าน ‘เก๋าประสบการณ์’ มากโขทีเดียว เพราะสั่งสมประสบการณ์ในสายงานยุติธรรมมาหลายสิบปี ก่อนเข้ามารับหน้าที่สะสางคดีทุจริตคอรัปชั่นข้าราชไทย
แนวคิดการจัดตั้งศาลปราบโกงในยุครัฐบาลทหาร
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2559 เขียนวัตถุประสงค์ไว้ตามกฎหมาย คือปัญหาเรื่องการทุจริตรุนแรงขึ้น และมีการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง พอมีการแก้ปัญหาอย่างจริงจังหน่วยงานต่างๆ ก็จะเร่งดำเนินการ คดีที่คั่งค้างอยู่ระหว่างสอบสวน เพราะฉะนั้นเมื่อเร่งดำเนินการคดีก็จะต้องมาสู่ศาลมากขึ้น เพื่อให้การอำนวยความยุติธรรมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงสมควรจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตฯ ขึ้นมา วัตถุประสงค์หลักของการตั้งศาลเลยคือ การดำเนินคดีรวดเร็ว และถ้ามันมีคดีมากขึ้นคงจะมีแผนการตั้งศาลอาญาคดีทุจริตภาคขึ้นซึ่งตอนนี้สำนักงานก็พิจารณาอยู่ว่าจะตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบทั้ง 9 ภาค
โดยยึดหลัก 3 อย่าง คือ คดีต้องเร็ว ต้องเป็นธรรม ความเสมอภาค ทั้ง 3 อย่างต้องคงไว้เสมอ ศาลจะมีกระบวนการไต่สวนมูลฟ้องให้ได้ความ มิใช่ว่า ใครที่เป็นจำเลยที่ศาลนี้แล้วจะต้องโดนลงโทษทุกคน ศาลจะให้ความเป็นธรรมที่สุด
หลังเปิดศาลอย่างเป็นทางการเมื่อ 1 ต.ค. 2559 จำนวนคดีทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นอย่างไร
ก่อนมีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ขึ้นเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2559 เดิมทีเป็นแผนกหนึ่งของศาลอาญา แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ การยกสถานะแผนกฯ ขึ้นเป็นศาลอาญาคดีทุจริตฯ ก็จะมีการรับโอนจากแผนกฯ มาที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ทันที ประมาณ 70 คดี มีคดีเสร็จไปแล้วบางเรื่อง ปัจจุบันวันที่ 5 ต.ค. มีคดีฟ้องเข้ามาแล้วประมาณ 5 เรื่อง เรายังรับเข้ามาเรื่อยๆ
ทั้งสำนวนคดีเก่าและคดีใหม่ มีการจัดลำดับขั้นตอนพิจารณาคดีอย่างไร
แบ่งเป็นคดีที่ อัยการสูงสุดฟ้อง ได้รับสำนวนผ่านมาจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กับคดีอีกส่วนนึง พนักงานอัยกาฟ้อง คือ สำนวนมากจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กล่าวคือ คดีพวกนี้มันยุติสำนวนอยู่ก่อนแล้ว ฉะนั้น การพิจารณาศาลจะพิจารณาจากสำนวนเหล่านี้เป็นหลัก ป.ป.ช. , ป.ป.ท. เขาสอบอะไรมา เราก็จะดูว่าประเด็นที่จำเลยเขาไม่รับที่เขาโต้แย้งมีประเด็นอะไรบ้าง ศาลก็จะสืบพยานเฉพาะประเด็นนั้นๆ คดีพวกนี้จะไม่ใช้เวลานาน เนื่องจากว่ามีสำนวนหลักอยู่แล้ว จะสืบพยานเพิ่มเติม เฉพาะที่เราเห็นว่า จำเลยโต้แย้งหรือเห็นว่าควรค้นหาความจริงในเรื่องใดต่อไป ส่วนพยานอาจจะเป็นเรื่องของคู่ความเรียกมาเอง หรือศาลอาจจะเรียกมาเอง กรณีที่ศาลเรียกมาเองเรียกได้แม้กระทั่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น เช่น สมมติเป็นเรื่องเกี่ยวกับบัญชีเราอาจเรียกผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญด้านบัญชี นักบัญชีเขามาเป็นพยาน เราต้องให้โอกาสลูกความทั้ง 2 ฝ่ายเรียกผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญของตัวเองเข้ามาด้วย เพราะว่าไม่เช่นนั้นเราจะฟังความฝ่ายเดียว เหล่านี้เป็นแนวทางของคดีที่มีสำนวนอยู่แล้ว
แต่มันจะมีคดีอีกประเภทนึงคือ คดีที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องเอง ถ้าเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายที่เขาเรียกว่า ผู้เสียหายโดยนิตินัย กรณีนี้มันต้องมีกระบวนการที่เขาเรียกว่าการไต่สวนมูลฟ้อง มันเหมือนกับคดีอาญาทั่วๆ ไปครับ แต่คดีประเภทนี้มีความพิเศษ คือว่า เราจะมีเจ้าพนักงานคดีรวบรวมข้อเท็จจริงให้ศาลก่อนที่จะมีการไต้สวนมูลฟ้อง คือในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง เรามีการรวบรวมข้อเท็จจริงเพื่อให้มีข้อเท็จจริงที่เราไปถามพยาน ปกติผู้เสียหายฟ้องเองจะมีแต่คำฟ้องมา ทีนี้ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรเราอาจจะสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ถ้าเขาฟ้องเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เราก็อาจจะขอเอกสารจากหน่วยงานนั้นว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร แล้วเรื่องนี้ดังกล่าวการสืบสวนข้อเท็จจริงอยู่ที่หน่วยงานใด เราก็จะเรียกสำนวนที่อยู่ระหว่างการสอบสวนมาประกอบได้ด้วย เพื่อเอามาเป็นข้อมูลเป็นข้อเท็จจริง ใช้ประกอบการไต่สวนมูลฟ้อง เนื่องจากเราเห็นว่าคดีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นจำเลย ถ้าจะไต่สวนมูลฟ้อง ประทับฟ้อง หมายความว่าเขาจะตกเป็นจำเลยทันที และจะได้รับผลกระทบหลายอย่าง ศาลก็เลยค่อนข้างที่จะเข้มงวดว่าไต่สวนมูลฟ้องต้องมีมูลจริงๆ ตรงนี้อาจจะต้องใช้เวลาสักนิดนึงในการรวบรวมข้อเท็จจริงระหว่างการไต่สวนมูลฟ้อง แต่โดยเจตนารมณ์เราต้องการให้ทำคดีโดยรวมเร็วไม่ล้าช้า
อยากให้ช่วยขยายความกระบวนการทำงานที่รวดเร็วขึ้นของศาลปราบโกง
ขึ้นอยู่กับสำนวน บางสำนวนอาจจะประเด็นยุ่งยากเอกสารเยอะ อย่างเช่น สำนวนที่มาจาก ป.ป.ช. หรือ ป.ป.ท เนี่ย ที่ผ่านอัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการ เอกสารจะหลายกล่องหลายลัง ซึ่งเรามีวิธีการตรวจสอบ จะมีกระบวนการที่เรียกว่าการตรวจพยานหลักฐาน คดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ถ้าจำเลยปฏิเสธเราต้องตรวจหลักฐานทุกคดี คือการที่คู่ความกับศาลมาพบกัน คู่ความมีเอกสารอะไรส่งศาลก็ส่ง อีกฝ่ายหนึ่งรับข้อเท็จจริงเอกสารได้ไหม ถ้าเป็นพยานบุคคลก็ยื่นบัญชีระบุพยายานมา ในชั้นตรวจพยายามข้อเท็จจริงจำนวนมากอาจจะรับได้ มันก็จะเหลือประเด็นที่โต้แย้งกันอีกไม่มาก ซึ่งตรงนี้เราก็จะสืบพยานต่อไป มันก็จะทำให้กระบวนการพิจารณาเร็วขึ้น แทนที่จะไปฟังการสืบพยานอย่างเดียว เช่น มีสำนวนของ ป.ป.ช. อยู่แล้วเขาให้การไว้แล้วไม่ต้องสืบ แต่ขบวนการพิจารณาสอบสวนอาจหลายนัด และอีกอย่างที่จะทำให้รวดเร็ว คือเราใช้ระบบการพิจารณาคดีแบบต่อเนื่อง ปัจจุบันในศาลทั่วไปใช้ระบบนี้เหมือนกัน เมื่อนัดสืบพยานแล้วมันจะนัดต่อเนื่องกันไปจนจบคดี แต่หากคดีนั้นยุ่งยากซับซ้อนก็ต้องใช้เวลามากหน่อย
แล้วแตกต่างจากตอนที่ยังเป็นแผนกหนึ่งของศาลอาญาอย่างไร ตอนเป็นแผนกอยู่นั้นผู้พิพากษาทำเองทุกอย่าง ถึงแม้จะใช้ระบบไต่สวนเหมือนกันก็ตาม ใช้โดยระเบียบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา แต่พอตั้งเป็นศาลที่แตกต่างก็คือเราจะมีเจ้าพนักงานคดีมาช่วยผู้พิพากษาในการรวบรวมข้อมูลต่างๆ เครื่องมือที่จะให้เจ้าพนักงานดำเนินคดีเข้ามาช่วย เพราะฉะนั้นกระบวนการอะไรต่างๆ ก็จะทำได้เร็วขึ้น
ก่อนหน้านี้การดำเนินคดีทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐล่าช้าเพราะสาเหตุใด
คือคดีทุจริตมันกระจายอยู่ทั่วประเทศ ถ้าเหตุเกิดที่ต่างจังหวัดก็ต้องฟ้องที่ต่างจังหวัด มันกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยใช้ระบบที่เรียกว่าระบบกล่าวหา และมันไปปะปนอยู่กับคดีทั่วๆ ไป ศาลก็ต้องไปนัดตามลำดับ แล้วการใช้ระบบกล่าวหา ศาลจะวางตัวเป็นกลาง ไม่ได้มีบทบาทในการค้นหาความจริง จะปล่อยให้คู่ความเสนอพยานหลักฐาน เพราะฉะนั้นสิ่งที่คู่ความเสนอพยานหลักฐานมามันก็อาจจะเกินความจำเป็นไป ใช้เวลาสืบนานสืบมากเกินความสมควร แต่ถ้าเราเคร่งครัดเรื่องระบบไต่สวนเอาเฉพาะเป็นประเด็นโต้แย้งจริงๆ จะทำให้ง่ายขึ้น พอตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางขึ้นมา มันมีวิธีพิจารณาที่ออกมาคู่กัน พ.ร.บ.จัดตั้งศาล ออกมาก่อน และ พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งจะบัญญัติวิธีพิจารณาเหล่านี้ ฉะนั้น วิธีพิจารณาที่มันกระชับสืบพยานเฉพาะที่โต้แย้งกันอย่างนี้มันก็จะเร็วขึ้น อีกอย่างความเชี่ยวชาญของผู้พิพากษาจะเกิดขึ้นทำคดีประเภทเดียวเลย ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. จัดตั้งฯ ไม่มีคดีอื่นปนเลย
คดีประเภทไหนบ้างที่จะถูกส่งเข้ามาที่ศาลปราบโกง ในส่วนของโทษเป็นอย่างไร
คดีที่จะมาศาลนี้ก็คือ คดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เขาเขียนนิยามไว้ว่าต้องเป็นคดีอาญาที่ฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมความผิดพวกนี้เขียนอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา เช่น เป็นเจ้าพนักงานยักยอก หรือว่าเป็นเจ้าพนักงานทุจริตหรือปฏิบัติหน้าที่มิชอบตามที่ประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้ นอกจากนี้ยังเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือการทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น เช่น กฎหมาย ป.ป.ช.
สองคือเป็นกรณีที่กล่าวมาถ้าเกี่ยวกับเรื่องการฟอกเงินก็สามารถฟ้อง ขอให้ลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลอื่น บุคคลที่จะถูกฟ้องไม่จำเป็นต้องเป็นบุคคลที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเพียงอย่างเดียว ถ้าเป็นเรื่องฟอกเงินไปเกี่ยวพันกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือกระทำความผิดที่เกี่ยวกับเรื่องการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ เรื่องการฮั้วประมูล หรือกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการให้เอกชนร่วมลงทุน หรือกฎหมายอื่นที่มีวัตถุประสงค์ป้องกันปราบปรามทุจริตก็จะมาที่ศาลนี้เช่นเดียวกัน
อีกประเภทหนึ่ง การทำผิดเกี่ยวกับการให้สินบน สามารถฟ้องขอให้ลงโทษบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ คล้ายๆ เป็นคนกลางไปเรียกสินบน หรือคนที่ให้สินบน อย่างนี้แม้จะไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ต้องมาขึ้นศาลนี้เหมือนกัน ส่วนคนรับสินบนที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าอยู่แล้ว นอกจากนี้ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดอะไรก็แล้วแต่ที่เข้าข่ายเป็นคดีทุจริต แล้วมีผู้ร่วมกระทำความผิดเป็นบุคคลธรรมดา ในฐานะตัวกลางก็ดี ในฐานะผู้สนับสนุนก็ดี ในฐานะผู้สบคบก็ดี ต้องมาขึ้นศาลนี้เช่นเดียวกัน
และจะมีคดีอีกประเภทหนึ่ง ที่จงใจไม่ยืนบัญชีทรัพย์สินหรือหนี้สิน หรือยื่นอันเป็นเท็จ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ว่า พ.ร.บ. ตัวนี้เขียนรองรับไว้ว่าต่อไปคดีประเภทนี้อยู่ในของเขตอำนาจของศาลนี้ด้วย เพียงแต่ว่าตอนนี้ยังไม่มีการแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง อย่าง กฎหมาย ป.ป.ช. คดีที่ขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพราะว่าร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ ปกติคดีประเภทนี้ ถ้าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะไปที่ ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับอื่นๆ จะไปฟ้องที่ศาลแพ่ง เพราอัยการสูงสุดเป็นผู้ฟ้อง คดีที่อยู่ที่ศาลแพ่ง ซึ่งหลังวันที่ 1 ต.ค. 2559 จะรับไม่ได้แล้ว ต้องมาฟ้องที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ถึงแม้คดีพวกนี้จะไม่ใช่คดีอาญาก็ตาม
สำหรับโทษ โทษสูงสุดต้องไปดูกฎหมายสารบัญญัติ แต่ละเรื่องแต่ละมาตราซึ่งโทษไม่เท่ากัน สูงสุดถึงประหารชีวิตถึงจำคุกตลอดชีวิตก็มี ต้องไปดูแต่ละเรื่อง บางเรื่องอยู่ในอำนาจศาลแขวงก็ยังมีที่โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ก็ต้องแล้วแต่เรื่องไป ส่วนใหญ่คดีประเภทนี้สูงสุดก็จำคุกตลอดชีวิต
ศาลปราบโกง จัดตั้งขึ้นมาอุดช่องโหว่ปัญหาหลายประการอย่างมีเสถียรภาพ
เราได้ผู้พิพากษาที่มีประสบการณ์ ผู้พิพากษาที่จะมาทำคดีที่นี้ ผู้พิพากษาจะมีระบบเรียกว่าองค์คณะ มีผู้พิพากษา 2 คน ระดับผู้พิพากษาหัวหน้าคณะต้องผ่านการเป็นหัวหน้าศาล ซึ่งปัจจุบันกว่าจะได้เป็นหัวหน้าศาลเกือบ 20 ปีนะครับ คนที่จะมาเป็นองค์คณะต้องเป็นผู้พิพากษามาไม่น้อยกว่า 10 ปี เพราะฉะนั้นเราจะได้ผู้พิพากษาที่มีประสบการณ์ในการทำงานในคดีประเภทนี้ อีกอย่างที่ควบคู่กัน มีวิธีพิจารณาโดยเฉพาะที่จะทำให้คดีรวดเร็วและค้นหาความจริงได้อย่างแท้จริง
และเรื่องอายุความ กรณีที่จำเลยหลบหนี ของเดิมอายุความจะเดินไปเรื่อยๆ แต่คดีประเภทนี้ถ้าจำเลยหลบหนี ไม่ว่าจะหลบหนีระหว่างสอบสวนหรือระหว่างพิจารณา จะไม่นำระยะเวลาที่หลบหนีรวมเข้ากับอายุความ แปลว่าคุณหนีไปเท่าไหร่ก็แล้วแต่อายุความไม่เดิน คุณหนีไปนานเท่าไหร่ก็ไม่เอามานับรวม
อีกประการหนึ่ง ปกติคดีอาญาต้องพิจารณาต่อหน้าจำเลย แต่คดีประเภทนี้ถ้าจำเลยหลบหนีไประหว่างพิจารณาแล้วออกหมายจับแล้วไม่ได้ตัวมา สามารถพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ด้วย ถ้าตามกฎหมายคดีอาญาทั่วไปที่เป็นอยู่ของเดิมจะหนีไปจนพ้นอายุความก็คือจบ แต่คดีประเภทนี้ไม่นับอายุความที่หลบหนี รวมเป็นระยะเวลาล่วงเลยการลงโทษ ของเดิมหนีเกินระยะเวลาการลงโทษก็ลงโทษไม่ได้ แต่กรณีนี้จะหนีไปเท่าไหร่ก็แล้วจะไม่นำมาพิจารณาล่วงเลยการลงโทษ กลับมาเมื่อไหร่ก็ลงโทษได้
อีกเรื่องหนึ่ง แต่ก่อนจะมีผู้ที่หนีด้วยอุทธรณ์ด้วย คือหนีไปก็จริงแต่ว่าอุทธรณ์ด้วย ถ้าอุทธรณ์ยกฟ้องก็กลับมา ถ้าอุทธรณ์พิพากษายืนก็ไม่กลับ ยอมให้ปรับเงินตามสัญญาประกันไปก็มีตัวอย่างหลายราย แต่ปัจจุบันโดยกฎหมายวิธีพิจารณาถ้าจะอุทธรณ์ต้องมาแสดงตนในขณะยื่นอุทธรณ์ นั่นหมายความ ถ้าท่านหลบนี้ท่านก็จะมาแสดงตนมิได้ ท่านก็จะอุทธรณ์ไม่ได้
โดยส่วนตัวท่านอธิบดีฯ มองปัญหาทุจริตคอรัปชั่นในข้าราชไทยอย่างไร
ผมมองว่าน่าจะเกี่ยวกับเรื่องค่านิยมมากกว่านะ ตอนหลังมาเราจะได้ยินเรื่องนี้บ่อย ทำแล้วมันเป็นเรื่องปกติคนอื่นเขาก็ทำอะไรเทือกนี้นะครับ ถ้าแก้ไขปัญหาเรื่องค่านิยมตรงนี้ได้น่าจะทำให้ปัญหาทุจริตลดลงไป ในการดำเนินการอย่างจริงจังก็อาจจะมีส่วนให้คนที่คิดที่จะกระทำความผิด ตระหนักว่าถ้าดำเนินการลงไปยังมีกระบวนการจัดการความผิดที่ท่านทำอย่างจริงจัง สำหรับศาลเป็นกระบวนการยุติธรรมขั้นสุดท้ายแล้ว ถ้าดำเนินการมาถึงขั้นฟ้องศาล ศาลก็ต้องดำเนินการไปตามข้อเท็จจริง หมายความว่าคนกระทำความผิดก็ต้องค้นหาความจริงดำเนินไปตามรูปคดี แต่ถ้าท่านไม่ได้กระทำความผิดศาลก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับท่านเหมือนกัน
เพราะฉะนั้นจำเลยก็จะได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่ว่ามีสำนวน ป.ป.ช. หรือ สำนวน ป.ป.ท. ว่าท่านผิด แต่มาถึงศาลไม่ใช่ว่ามีสำนวนอย่างนี้แล้วต้องลงโทษทุกคดี มันก็ต้องมีอะไรที่จำเลยเขาโต้แย้งบ้าง ถ้ารับสภาพก็แล้วไป แต่เท่าที่ผ่านมาคดีของแผนกก่อนที่ตั้งศาล จำนวนน้อยมากที่จำเลยจะรับสารภาพ จำเลยปฏิเสธแทบทุกเรื่องเลย เพราะฉะนั้น ศาลต้องให้ความเป็นธรรม บางเรื่องยกฟ้องไปก็มี แต่น้อยเพราะว่าสำนวนมันผ่านกระบวนไต่สวนจาก ป.ป.ช., ป.ท.ท. จากอัยการมาแล้ว แต่ไม่ใช่ว่า 100 เปอร์เซ็นต์ ที่ผ่านมาแล้วจะต้องผิดทั้งหมด ศาลจะเป็นที่พึ่งดูเรื่องความเป็นธรรม