อดีต กกต. แนะเขียนโทษใบดำให้ชัด เพื่อที่จะใส่ในกฎหมายลูกได้ ส่วนคดี “ธีรวัฒน์” ขัดจริยธรรม ควรย้อนไปให้ กต. สอบสวน เพราะเหตุเกิดตอนเป็นผู้พิพากษา เตือน 5 เสือ กกต. หนักแน่น เปิดศึกภายในกันเองเสี่ยงโดนเซตซีโร
นางสดศรี สัตยธรรม อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงโทษเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้ง หรือ “ใบดำ” ว่า เจตนาของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในการเขียนโทษใบดำไว้ในมาตรา 98 (11) ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ เพื่อต้องการเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิต สำหรับผู้ที่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าทุจริตเลือกตั้ง แต่มาตราดังกล่าวถือว่ายังไม่มีความชัดเจน เพราะเขียนไว้กว้างเกินไป กรธ. ควรระบุให้ชัดว่าฐานความผิดอย่างไร จึงจะเข้าข่ายโทษใบดำนี้ เนื่องจาก เมื่อเป็นโทษเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และเป็นเรื่องคุณสมบัติการลงสมัครเลือกตั้ง กกต. ก็จำเป็นที่ต้องเขียนไว้ในกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง เพราะ กกต. เองก็ต้องทำหน้าที่รับสมัคร หากโทษความผิดยังไม่ชัดเจนแล้วไปตัดสิทธิผู้สมัครก็อาจทำให้เกิดการส่งฟ้องศาลฎีกาเพื่อให้วินิจฉัย
รวมทั้งเมื่อเวลาส่งสำนวนคดีทุจริตเลือกตั้งไปให้ศาลพิจารณาก็ต้องมีบทบัญญัติในการระบุฐานความผิดและบทลงโทษได้ หากไม่ชัดเจนจะทำให้เกิดความยุ่งยากและอาจเป็นสิ่งที่ทำให้ กกต. โดนเล่นงานในภายหลัง ดังนั้น ถ้าต้องการโทษใบดำจริง ๆ ก็ต้องเขียนให้ชัดจำแนกโทษใบดำออกมาเป็นเรื่อง ๆ
นางสดศรี ยังกล่าวถึงกรณีผู้ตรวจการแผ่นดิน ชี้มูล นายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กกต. ด้านกิจการพรรคการเมือง ผิดจริยธรรม ว่า ที่ผ่านมา ไม่เคยมี กกต. คนใดถูกองค์กรอื่นชี้มูลความผิดเรื่องจริยธรรม เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งเรื่องมายัง กกต. กกต. 4 คน ไม่รวมคนที่ถูกชี้มูล ต้องร่วมกันพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร
“ข้อเท็จจริงคือไม่มีบทบัญญัติใดที่ให้ กกต. สั่งลงโทษกันเองได้ หน่วยงานที่มีอำนาจตอนนี้ คือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการถอดถอน แต่กรณีดังกล่าวมีประเด็นที่ตั้งข้อสังเกตว่าพฤติกรรมที่ กกต. ถูกชี้มูลเกิดขึ้นในช่วงเวลาใด ถ้าเกิดขึ้นสมัยที่เป็น กกต. แล้วทั้งเรื่องรับผลประโยชน์ หรือจริยธรรม ก็อาจเป็นอำนาจของ ป.ป.ช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน และ สภาฯ แต่หากเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นสมัยเป็นผู้พิพากษาจะถือว่าอำนาจการสอบสวนเป็นของคณะกรรมการตุลาการ (กต.) หรือไม่ เพราะ กต. มีหน้าที่ตรวจสอบผู้พิพากษาที่กระทำความผิด สามารถให้ออกจากตำแหน่งและคำสั่งถึงที่สุด หน่วยงานอื่นก้าวล่วงไม่ได้”
นางสดศรี กล่าวว่า อีกทั้งก่อนที่จะมาเป็น กกต. ได้ ต้องผ่านการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาและความเห็นชอบของ ส.ว. จึงอาจเป็นคำถามว่าเมื่อตอนพิจารณาคุณสมบัติความเหมาะสมนั้นเป็นไปอย่างละเอียดหรือไม่ ดังนั้น กรณีนี้น่าจะเป็นหน้าที่ของ กต. แม้จะเกิดเรื่องร้องเรียนภายหลังที่ กกต. คนนี้ออกจากตำแหน่งผู้พิพากษาแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตาม การที่เกิดเรื่องในดังกล่าวในช่วงที่มีกระแสว่า กกต. มีปัญหาภายในนั้น อาจเกิดมาจากคนใน หรือคนในวงการ การสับเปลี่ยนตำแหน่งประธานนั้นควรจะรอช่วงเวลาที่เหมาะสม รอให้รัฐธรรมนูญใหม่มีผลบังคับใช้ 5 เสือ ต้องมีความหนักแน่น ไม่เช่นนั้นจะเป็นการเปิดโอกาสให้เซตซีโร กกต. ได้