xs
xsm
sm
md
lg

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ เปิดช่องทางให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซงศาลยุติธรรม?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: นายหิ่งห้อย

ได้อ่านบทความของอาจารย์กิตติศักดิ์ ปรกติ ในวารสารศาลยุติธรรม ฉบับที่ 3 ประจำเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2558 เรื่อง “อิสระของตุลาการ คือตัวตนของตุลาการ” แล้ว ทำให้เห็นว่า การต่อสู้ของตุลาการไทยเพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นอิสระจากฝ่ายการเมืองนั้น มีความเป็นมาอย่างยาวนานและยากลำบากยิ่ง กว่าจะปลดเปลื้องพันธนาการออกจากฝ่ายการเมืองมาได้ ก็เมื่อมีการใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 และรัฐธรรมนูญ ปี 2550

แม้รัฐธรรมนูญปี 2540 และรัฐธรรมนูญปี 2550 จะกำหนดให้มีบุคคลที่ได้รับการสรรหาจากวุฒิสภา 2 คน เข้ามาเป็นกรรมการตุลาการร่วมกับผู้พิพากษาที่ได้รับการเลือกตั้งจากผู้พิพากษาอีก 12 คน โดยมีประธานศาลฎีกาเป็นประธานกรรมการตุลาการ มีอำนาจแต่งตั้งโยกย้าย และให้คุณให้โทษแก่ผู้พิพากษาทั่วประเทศ แต่ตัวแทนจากฝ่ายการเมืองเพียง 2 คน ที่เข้ามาเป็นกรรมการตุลาการ ก็ไม่มีนัยสำคัญที่จะมีอิทธิพลต่อความเห็นของกรรมการส่วนใหญ่ที่เป็นผู้พิพากษาได้

เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกยกเลิกโดยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (ค.ส.ช.) ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดแรก ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโน เป็นประธาน คณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวได้กำหนดให้เพิ่มสัดส่วนกรรมการตุลาการที่มาจากฝ่ายการเมือง”ไม่น้อยกว่า หนึ่งในสาม” ของกรรมการตุลาการทั้งหมด

นั่นย่อมหมายถึงว่า ฝ่ายการเมืองสามารถออกกฎหมายลูกกำหนดให้มีกรรมการตุลาการที่มาจากฝ่ายการเมือง “เกินกว่าหนึ่งในสาม หรือให้มีจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่ง” ของกรรมการตุลาการทั้งหมดก็ย่อมได้ เพราะการกำหนดจำนวน ”ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม” เป็นการกำหนดจำนวนขั้นต่ำไว้ ซึ่งจะทำให้ฝ่ายการเมืองสามารถควบคุมการแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษาทุกตำแหน่งทั่วประเทศอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

จึงเกิดปรากฏการณ์ที่ผู้พิพากษาทุกชั้นศาลทั่วประเทศกว่า 2,000 คน เข้าชื่อคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ที่เปิดช่องทางให้ฝ่ายการเมืองเข้าแทรกแซงความเป็นอิสระของตุลาการได้

หลังจากนั้น กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดดังกล่าวออกมาแถลงต่อสื่อมวลชนว่า ยินยอมแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้มีกรรมการตุลาการที่มาจากบุคคลภายนอกเพียง 2 คน ตามข้อเรียกร้องของผู้พิพากษา

แต่ร่างรัฐธรรมนูญชุดของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโน ร่างสุดท้าย ในมาตรา 207 กลับบัญญัติว่า ให้กำหนดเรื่ององค์ประกอบและจำนวนกรรมการตุลาการไว้ในกฎหมายลูก อันเป็นการยกเลิกหลักประกันความเป็นอิสระของศาลตามที่เคยมีอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2540 และรัฐธรรมนูญปี 2550

คล้ายกับว่าจงใจหมกเม็ดในการร่างรัฐธรรมนูญเปิดช่องทางให้ฝ่ายการเมืองมีโอกาสแทรกแซงอำนาจตุลาการด้วยการออกกฎหมายลูกเพิ่มจำนวนกรรมการตุลาการที่มาจากฝ่ายการเมืองได้มากกว่า 2 คน

และเท่ากับว่าเป็นการบิวพลิ้วคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ต่อหน้าสื่อมวลชนและสาธารณชน


หลังจากร่างรัฐธรรมนูญชุดที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโน เป็นประธาน ไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดใหม่ โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน

ขณะนี้ ร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกของ กรธ. ชุดที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานกรรมการ ได้เสร็จสิ้น และแจกจ่ายไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชน เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะแล้ว

ผู้เขียนขอวิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับ “ความเป็นอิสระของตุลาการ” เพื่อให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญทุกท่านที่มีนายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน ได้มองเห็นถึงปัญหาที่แท้จริงว่า

ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับแรกของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโน และฉบับของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ก็ล้วนแต่เป็นการร่างรัฐธรรมนูญที่มีช่องโหว่เปิดช่องให้ฝ่ายการเมืองมีโอกาสเข้ามาแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษาทุกตำแหน่งทั่วประเทศได้เช่นเดียวกัน

แม้ว่า ตามร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ในมาตรา 191 บัญญัติว่า “การบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับผู้พิพากษาศาลยุติธรรมต้องมีความเป็นอิสระ และดำเนินการโดยคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมที่ประกอบด้วยประธานศาลฎีกาเป็นประธาน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นข้าราชการตุลาการแต่ละชั้นศาล และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการตุลาการ บรรดาที่ได้รับเลือกจากข้าราชการตุลาการ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

หากมองผิวเผินก็ดูเหมือนกับว่า ในเมื่อกรรมการตุลาการที่มาจากข้าราชการตุลาการภายในและที่มาจากบุคคลภายนอก ต่างก็ต้องได้รับเลือกจากข้าราชการตุลาการ ฝ่ายการเมืองหรือฝ่ายอื่นไม่น่าจะมีโอกาสเข้ามาแทรกแซงหรือครอบงำอำนาจตุลาการได้

แต่หากพิจารณาให้ถ่องแท้แล้ว จะเห็นได้ว่า การที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญมิได้กำหนดจำนวนกรรมการตุลาการไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การไม่จำกัดจำนวนกรรมการตุลาการที่มาจากบุคคลภายนอกไว้ ย่อมเป็นช่องทางให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงอำนาจตุลาการได้

กล่าวคือ ในเมื่อร่างรัฐธรรมนูญกำหนดว่า การที่จะให้เลือกกรรมการตุลาการซึ่งมาจากบุคคลภายนอกจำนวนเท่าใด เลือกจากกลุ่มใด ด้วยวิธีการใด ให้ไปเขียนไว้ในกฎหมายลูก ดังนั้น จึงอยู่ในอำนาจของฝ่ายการเมืองที่มีเสียงข้างมากในรัฐสภาจะกำหนดจำนวนและวิธีการเลือกกรรมการตุลาการที่มาจากบุคคลภายนอกได้

และหากฝ่ายการเมืองกำหนดจำนวนกรรมการตุลาการที่มาจากบุคคลภายนอกให้มากขึ้น และให้สภาผู้แทนเป็นผู้สรรหาบุคคลจำนวนหนึ่ง เพื่อให้ข้าราชการตุลาการเป็นผู้เลือกเป็นกรรมการตุลาการ

ก็เท่ากับให้ข้าราชการตุลาการเป็นผู้เลือกกรรมการตุลาการซึ่งเป็นบุคคลที่พรรคการเมืองส่งเข้ามาทำหน้าที่ในการแต่งตั้งโยกย้ายหรือให้คุณให้โทษแก่ผู้พิพากษาได้นั่นเอง


ส่วนเหตุผลที่ฝ่ายการเมืองหรือนักวิชาการบางฝ่ายมักจะอ้างก็คือ “ศาลไม่มีความยึดโยงกับประชาชน จึงต้องออกกฎหมายให้มีการเลือกตั้งกรรมการตุลาการจากบุคคลที่ฝ่ายการเมืองสรรหาเข้าไปทำหน้าที่ตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส”

ในอดีตมีทั้งฝ่ายการเมืองที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย และในระบอบเผด็จการได้แก้ไขกฎหมายแต่งตั้งคนของฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษามาแล้วหลายครั้ง ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลบางยุคถึงกับออกพระราชกำหนดยุบคณะกรรมการตุลาการที่ได้รับเลือกตั้งจากผู้พิพากษาทั่วประเทศ เพราะเหตุที่คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมชุดนั้นมีความเห็นตรงกันข้ามกับรัฐบาล

ดังนั้น เพื่อให้มีหลักประกันความเป็นอิสระของตุลาการในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผู้เขียนจึงเห็นว่า ควรปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญกำหนดจำนวนกรรมการตุลาการที่มาจากบุคคลภายนอกให้ชัดเจนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 191 โดยเติมข้อความว่า “ไม่เกินสองคน” ต่อท้ายข้อความที่ว่า “ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการตุลาการ”

หรือมิฉะนั้น ก็เติมข้อความว่า “โดยอิสระ” ต่อท้ายข้อความที่ว่า “บรรดาที่ได้รับเลือกจากข้าราชการตุลาการ” เพื่อให้ข้าราชการตุลาการเป็นผู้เลือกกรรมการตุลาการคนนอกโดยอิสระ ไม่มีฝ่ายอื่นมาแทรกแซงการเลือกกรรมการตุลาการ


ก่อนหน้านี้ ผู้เขียนเคยได้รับทราบมาว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ กล่าวชื่นชมผู้พิพากษาว่าเป็นผู้มีจริยธรรมและคุณธรรมสูง ไม่ควรให้คนที่มีจริยธรรมและคุณธรรมต่ำกว่ามาปกครองผู้พิพากษา จึงควรให้ข้าราชการตุลาการเลือกกรรมการตุลาการที่มาจากบุคคลภายนอก

แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโน เป็นประธาน กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน เหตุใดจึงมีธงคำตอบเดียวกัน คือการร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีช่องโหว่เป็นการเปิดช่องทางให้ฝ่ายการเมืองมีโอกาสแทรกแซงอำนาจตุลาการได้ โดยการแก้ไขกฎหมายลูกในภายหลัง

ต่างกันเพียงแต่ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ใช้ถ้อยคำในการร่างรัฐธรรมนูญที่ดูแนบเนียนกว่าเท่านั้น

ผู้เขียนเห็นว่า การเพิ่มข้อความเพียงไม่กี่คำข้างต้นในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 191 เพื่อปิดช่องโหว่ของร่างรัฐธรรมนูญมิให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษาได้ด้วยการเติมข้อความเพียงเล็กน้อยข้างต้น มิได้ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญยืดยาวขึ้น หรือเกิดความเสียหายในสาระสำคัญแต่อย่างใด

ดังนั้น หากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันซึ่งมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานกรรม มีความปรารถนาดีต่อบ้านเมืองและศาลยุติธรรมอย่างจริงใจ ก็ควรจะได้นำข้อทักท้วงข้างต้นไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีหลักประกันความเป็นอิสระของตุลาการอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป

โดย นายหิ่งห้อย

กำลังโหลดความคิดเห็น