ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ทีคนจนตามรีดภาษีทุกเม็ดไม่ให้กระเด็นสักสลึง ทีนักธุรกิจนายทุนใหญ่กลับตีความหาช่องช่วยเลี่ยงหรือคืนภาษีอย่างสุดความสามารถและยื้อเวลาที่จะประเคนประโยชน์ให้ยาวนานที่สุด น่าจะเป็นคำอธิบายกรณีคืนภาษีน้ำมัน ให้กับ บริษัทเชฟรอน ก้อนโตกว่า 3,000 ล้านบาท ได้เป็นอย่างดี แล้วอย่างนี้จะเก็บภาษีให้เข้าเป้าได้อย่างไร
จะว่าไปกรณีเชฟรอน ยื่นเรื่องขอคืนภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มน้ำมันสำเร็จรูป ที่ส่งไปใช้ยังแท่นขุดเจาะของบริษัทเชฟรอน ในพื้นที่ไหล่ทวีป ไม่ได้มีความซับซ้อนอะไรมากมายจนหน่วยงานจัดเก็บภาษีจะไม่รู้อะไรเป็นอะไรเลย และควรต้องทำอย่างไรให้ถูกต้องตามระเบียบปฏิบัติ เพราะมีตัวบทกฎหมายให้เทียบเคียงเป็นที่ชัดเจนอยู่แล้ว เว้นเสียแต่ว่า จะทำเป็นหูหนวกตาบอดใบ้กันไปหมด ไม่งั้นคงไม่ปล่อยปละละเลยให้เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นและยืดเยื้อมานานถึง 5 ปี กระทั่งเรื่องแดงโร่ขึ้นมาเพราะเรือขนน้ำมันของเชฟรอนที่ อ้างว่าส่งออกน้ำมันไปยังแท่นขุดเจาะที่ไหล่ทวีปวกกลับมาเข้าฝั่งแล้วถูกกักไว้ ก็ยังจะพากันกลบขี้อีก
นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพมหานคร และ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวRosana Tositrakul เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2559 หัวข้อ “ค่าโง่ภาษีน้ำมันที่ต้องเรียกคืน” ดังนี้
“กรณีการขอคืนภาษีสรรพสามิต และภาษีมูลค่าเพิ่มน้ำมันสำเร็จรูปที่ ส่งไปใช้ยังแท่นขุดเจาะของบริษัทเชฟรอนในพื้นที่ไหล่ทวีป ถูกสำนักกฎหมาย กรมศุลกากร ตีความว่าพื้นที่นอกเขต 12 ไมล์ทะเล ถือเป็นการส่งน้ำมันออกนอก ราชอาณาจักร จึงทำให้บริษัท เชฟรอน มาขอคืนภาษี รวมแล้วมีมูลค่าประมาณ 3,000 ล้านบาท
“การส่งน้ำมันสำเร็จรูปไปใช้ยังแท่นขุดเจาะที่อยู่ในพื้นที่ไหล่ทวีป คือ 200 ไมล์ทะเล ถือว่ายังอยู่ในอาณาเขตของไทย ในอดีตเคยถือว่าเป็นการค้าชายฝั่ง จึงต้องเสียภาษีตามปกติของการค้าขาย แต่กรมศุลกากร เพิ่งเปลี่ยนแนววินิจฉัย เมื่อปี2554 ทั้งที่ฝ่ายปฏิบัติที่ด่านศุลกากรท่ามาบตาพุด ระยอง ไม่เห็นด้วย และมีการทักท้วงตลอดมา แต่ก็ไม่มีการแก้ไข
“เหตุการณ์มาแดงขึ้นเมื่อเรือขนน้ำมันสำเร็จรูป 8 ลำ ของบริษัท เชฟรอน ที่อ้างว่า ส่งออกไปใช้ยังแท่นขุดเจาะของตน แล่นย้อนกลับมายังจังหวัดสงขลา และถูกด่านศุลกากรที่สงขลา กักไว้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2558 เพราะพบน้ำมันสำเร็จรูปที่ใส่สารมาร์กเกอร์ว่าเป็นน้ำมันส่งออกแล่นกลับเข้ามาในราชอาณาจักรไทย
“การนำน้ำมันส่งออกกลับเข้ามาในราชอาณาจักร ย่อมมีความผิด เพราะ ถูกตั้งข้อสงสัยได้ว่าเป็นการนำน้ำมันที่ได้คืนภาษีแล้ว ย้อนกลับมาขายเป็น น้ำมัน เถื่อนในประเทศหรือไม่? หลังจากเรือน้ำมันของเชฟรอนถูกจับได้ และกัก ไว้ที่ด่านสงขลาจนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่มีการตรวจสอบอย่างจริงจัง และยังไม่มีการแก้ปัญหาการตีความที่ทำให้ประเทศต้องเสียค่าโง่ภาษีน้ำมันหลายพันล้านบาท สิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน คือ
“1)หากการส่งน้ำมันไปใช้บนแท่นขุดเจาะที่อยู่ในดินแดนไทยคือการค้าชายฝั่ง บริษัทเชฟรอน ก็ไม่มีสิทธิได้คืนภาษี ส่วนภาษีที่ขอคืนไปแล้ว สตง.สมควรต้องเรียกคืนย้อนหลังทั้งหมด 2) นอกจากบริษัทเชฟรอน ที่มีการขอคืนภาษีน้ำมันแล้ว ยังมีบริษัทอื่นอีกหรือไม่ที่ขอคืนภาษีแบบเดียวกัน หากมีต้องเรียกคืนเช่นกัน
“3) การที่บริษัทเชฟรอน นำน้ำมันส่งออกที่ได้คืนภาษีกลับเข้ามาที่สงขลาอีกครั้ง ต้องมีการตรวจสอบว่า มีการนำน้ำมันกลับมาขายในประเทศหรือไม่? และทำมาแล้วกี่ครั้ง?และ 4)ต้องสอบสวนและลงโทษข้าราชการที่มีการเตะถ่วงเรื่องที่ทำให้รัฐเสียหาย โดยเฉพาะหากพบว่ามีกระบวนการทุจริตเพื่อเอื้อประโยชน์ให้เอกชนในกรณีนี้”
กรณีกรมศุลกากร เอื้อประโยชน์ให้เชฟรอน สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า และสำนักข่าวอิศรา ต่างนำเสนอรายละเอียดเอาไว้ แต่ไฮไลท์ที่เป็นประเด็นสำคัญซึ่งทำให้ประเทศชาติต้องเสียค่าโง่จากการขอคืนภาษีของเชฟรอน ซึ่งถึงเวลานี้รวมๆ แล้วตกประมาณ 3,000 ล้านบาท อยู่ตรงการเปลี่ยนแนววินิจฉัยของสำนักกฎหมาย กรมศุลกากร เมื่อปี 2554 ที่เอื้อประโยชน์ให้เชฟรอนเต็มๆ
กล่าวคือ จากเดิมการให้สัมปทานปิโตรเลียมของประเทศไทย เคยยึดถือพิธีการศุลกากรสำหรับการส่งน้ำมันไปใช้ที่แหล่งสัมปทานในอ่าวไทย ให้ถือ ว่า อยู่ในราชอาณาจักรไทย ปฏิบัติพิธีการแบบการค้าชายฝั่ง ซึ่งต้องเสียภาษีภายในทุกประเภท คือ ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีมหาไทย ฯลฯ แต่เมื่อปี 2554 กรมศุลกากร ได้ตอบหนังสือของเชฟรอน โดยได้เปลี่ยนมาเป็นว่า การส่งน้ำมันเชื้อเพลิงจากราชอาณาจักรไทยไปยังแท่นผลิตปิโตรเลียมในท้องทะเล อันมีระยะห่างจากชายฝั่งตั้งแต่ 12 ไมล์ทะเลขึ้นไป ถือเป็นการส่งของออกไปนอกราชอาณาจักร เปิดช่องให้เชฟรอนมาร้องขอคืนภาษีได้
ข้อวินิจฉัยของสำนักกฎหมาย กรมศุลกากร ถูกท้วงติงจากหน่วยปฏิบัติงานหลายครั้ง แต่ยังไม่ได้มีการแก้ไขใดๆ จวบจนกระทั่งมีการส่งเรื่องสอบถามความเห็นมายังคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งกฤษฎีกาให้คำแนะนำกรมศุลกากร ไปจัดประชุมร่วมกับกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติพิธีการศุลกากร สำหรับการนำสินค้าออกไปใช้ในพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียม
ผลการประชุม 3 หน่วยงาน ได้ข้อสรุปว่า “การปฏิบัติพิธีการศุลกากร กรณีดังกล่าวนี้จะพิจารณาจากสินค้าที่จะมีการขนส่งเป็นหลัก กล่าวคือ หากเป็นการส่งสินค้าเพื่อใช้ในกิจการปิโตรเลียมแล้ว ให้ถือว่าพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียมดังกล่าวเป็นราชอาณาจักรไทย ภายใต้บทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514และให้ปฏิบัติพิธีการศุลกากรสำหรับการค้าชายฝั่งโดยอนุโลม” เมื่อข้อสรุปออกมาชัดเจนกรณีนี้จึงไม่ถือเป็นการส่งออก อย่างที่สำนักกฎหมาย กรมศุลกากร วินิจฉัยและตอบหนังสือเชฟรอน
ถึงเวลานี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ได้เข้ามาตรวจสอบกรณีกรมสรรพสามิตคืนภาษีให้บริษัท เชฟรอน (ประเทศไทย)จำกัด แล้ว โดยนายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)ได้รับรายงานจากนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่า ผลการตรวจสอบของ สตง. เบื้องต้น แบ่งเป็น 2ช่วง ช่วงที่ 1 หลังจากกรมศุลกากร ตีความกรณีการขนน้ำมันไปขายที่แท่นขุดเจาะถือเป็นส่งออก บริษัท เชฟรอน ได้มาขอคืนภาษีที่ชำระไปก่อนหน้านี้จากกรมสรรพสามิต และช่วงที่ 2 ตั้งแต่ปี 2554บริษัท เชฟรอน รับมอบอำนาจจากบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน)ทำเรื่องยกเว้นภาษีส่งออก
“ในความเห็นของผม กรณี พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 ไม่ได้กำหนดนิยามคำว่า “ราชอาณาจักร”ไว้ ตามหลักการวินิจฉัยประเด็นข้อกฎหมาย ควรต้องใช้คำนิยามดังกล่าวจากกฎหมายอื่นที่มีลักษณะใกล้เคียงกันมาใช้เทียบเคียง ซึ่งในที่นี้หมายถึงประมวลรัษฎากร เพราะเป็นกฎหมายที่ใช้จัดเก็บภาษีเหมือนกัน..... ศาลฎีกา เคยพิพากษากรณีขนน้ำมันไปขายที่แท่นขุดเจาะไม่ถือเป็นส่งออก เนื่องจากประมวลรัษฎากร มาตรา 2 กำหนดนิยามคำว่า “ราชอาณาจักร”ครอบคลุมไปถึงพื้นที่ไหล่ทวีป” นายชัยสิทธิ์ กล่าว
เรื่องใหญ่ขนาดนี้ต้องถึงหูนายกรัฐมนตรี ซึ่งเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2559 นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ลงนามในหนังสือด่วนที่สุด ที่ ตผ 0042/3845 ส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และลงนามในหนังสือด่วนที่สุดที่ ตผ0042/3840 ส่งถึง นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยหนังสือด่วนที่สุดที่ สตง. ส่งถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทั้งสองฉบับเป็นเรื่องการเรียกเก็บภาษีกรณีการค้าชายฝั่ง ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
ตามที่กรมศุลกากรได้มีหนังสือตอบข้อหารือถึงกรรมการผู้จัดการ บริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด จำนวน 2 ฉบับ ว่าการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงจากท่าเรือบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด(มหาชน) จังหวัดระยอง ไปยังแท่นขุดเจาะน้ำมัน ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่ง 60ไมล์ทะเลขึ้นไป เพื่อนำไปใช้กับเครื่องจักรต่างๆ อันเกี่ยวกับการประกอบกิจการของบริษัทในเครือ ถือเป็นการส่งออกนั้น
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า การส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ถือเป็นการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร แต่ถือเป็นการค้าชายฝั่ง ซึ่งต้องเสียภาษีอากร ตามความเห็นที่ประชุม 3 ฝ่ายระหว่างกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน และกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ
ถึงแม้พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469จะไม่ได้นิยามคำว่า “ราชอาณาจักร” ไว้ แต่เมื่อประมวลรัษฎากร มาตรา 2 ได้ให้คำนิยามคำว่า “ราชอาณาจักร”ว่าหมายความรวมถึงเขตไหล่ทวีป ซึ่งเป็นสิทธิของประเทศไทยตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ จึงควรจะใช้คำนิยามนี้ในฐานะที่เป็นบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง ประกอบกับคำพิพากษาฎีกาที่ 2899/2557 อีกประการหนึ่ง
หากไม่ตีความเช่นนี้ กรณีภาษีมูลค่าเพิ่มต้องเสีย แต่ภาษีสรรพสามิต กลับได้รับยกเว้น จะเป็นการตีความที่ลักลั่นกัน ทั้งๆ ที่ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิตต่างก็เป็นภาษีการบริโภค (Consumption Tax) เหมือนกัน และด้วยประการสำคัญที่แท่นขุดเจาะน้ำมันที่บริษัทส่งไปขายนั้น เป็นพื้นที่ที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลไทย จึงเป็นพื้นที่ที่ประเทศไทยมีอธิปไตย เมื่อเป็นพื้นที่ที่ประเทศไทยมีอธิปไตย จึงเป็นพื้นที่ในราชอาณาจักรไทย ดังนั้น การขายดังกล่าวถือเป็นการขายในราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นการค้าชายฝั่ง ไม่ใช่การส่งออกที่จะได้รับยกเว้นภาษีสรรพสามิต และไม่ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราศูนย์แต่อย่างใด
ดังนั้น เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา39 และมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1.สั่งการให้กรมสรรพากรและกรมสรรพสามิตเรียกเก็บภาษีอากร พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามกฎหมาย นอกจากนี้ ให้เรียกเงินภาษีอากรที่มีการคืนให้บริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด ไปแล้วกลับคืนเป็นรายได้แผ่นดิน
2.ให้ดำเนินการสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทั้งทางอาญา แพ่ง และวินัยข้าราชการด้วย ดังนั้น การขายดังกล่าวถือเป็นการขายในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นการค้าชายฝั่ง ไม่ใช่การส่งออกที่จะได้รับยกเว้นภาษีสรรพสามิต และไม่ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราศูนย์แต่อย่างใด
อนึ่ง กรณีการตอบข้อหารือที่เป็นปัญหาสำคัญว่าได้รับยกเว้นหรือลดอัตราภาษีหรือไม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ควรจะสั่งการให้กรมจัดเก็บภาษีที่ตอบข้อหารือนั้นหารือมายังปลัดกระทรวงการคลัง และให้ปลัดกระทรวงการคลัง เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดเก็บภาษีอากรเป็นไปโดยความถูกต้องและเป็นธรรม จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง”
ลงชื่อ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
ถามว่า ใครคือผู้ที่เปลี่ยนแนวการวินิจฉัยเอื้อประโยชน์ให้เชฟรอน มีเหตุจูงใจอันใดที่ต้องทำเช่นนั้น คนที่จะตอบได้ดีที่สุดก็คือ สำนักกฎหมาย กรมศุลกากร ซึ่งมีนางกฤติกา ปั้นประเสริฐ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ซึ่งจัดทำหนังสือตอบเปลี่ยนแนววินิจฉัย เมื่อ ปี 2554 และนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง คนปัจจุบัน ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากร (ถึงเดือนกันยายน 2558) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบสูงสุดในขณะนั้น
ความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้นกับประเทศชาติ สองบุคคลสำคัญที่เอ่ยถึงข้างต้นไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบไปได้
“ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รู้แล้ว อย่ารอช้า สั่งฟันเซ่นนโยบายปราบโกงเลย สังคมจะได้เชื่อ “ลุงตู่”เอาจริง ไม่ได้โม้และปกป้องพวกพ้อง บรรดาข้าราชการที่มีพฤติกรรมเอื้อประโยชน์ให้เอกชนทำให้ประเทศชาติเสียหายทั้งหลายจะได้ดูไว้เป็นตัวอย่าง