ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
มักจะมีคำกล่าวจากฝ่ายทุนพลังงานหรือข้าราชการบางคนกล่าวหาว่าข้อมูลของภาคประชาชนนั้นไม่น่าเชื่อถือไม่น่ารับฟัง ทั้งๆที่ข้อมูลเหล่านั้นก็ล้วนแล้วแต่มาจากภาครัฐเองทั้งสิ้น
ตัวอย่างเช่น ข้อถกเถียงของภาคประชาชนที่มักกล่าวว่าประเทศไทยมีปิโตรเลียมมหาศาลและสามารถสร้างมูลค่าได้อย่างมหาศาลนั้น ก็มักจะได้รับการตอบโต้จากฝ่ายตรงกันข้ามเสมอว่าประเทศไทยมีน้อยกระเปาะเล็กอยู่เป็นประจำ หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือ แหล่งบงกชและเอราวัณ ซึ่งแหล่งปิโตรเลียมของไทยที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานนั้นก็ควรจะนำกลับมาเป็นของรัฐและตั้งองค์กรของรัฐขึ้นมาดูแลและบริหารทรัพย์สินของรัฐได้แล้ว ก็มักจะมีคำตอบโต้จากฝ่ายตรงกันข้ามออยู่เสมอว่าประเทศไทยไม่มีความพร้อมบ้าง การจ้างเอกชนผลิตไม่สามารถทำได้บ้าง คนไทยไม่สามารถทำได้บ้าง ไม่คุ้มค่าบ้าง ฯลฯ
สำหรับคนบางคนที่เชื่อข้อมูลและความเห็นของข้าราชการ เพราะเชื่อว่ามีความถูกต้องและแม่นยำมากกว่าภาคประชาชน บทความวันนี้ก็จะขอนำเสนอในงานวิจัยวิชาการชิ้นหนึ่งซึ่งจัดทำขึ้นโดยนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ประจำปีการศึกษา 2554 – 2555 ในหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน (ปรอ.) รุ่นที่ 24
นักศึกษารุ่นนั้นมาจากกระทรวงพลังงาน 1 คน ชื่อ “นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี” !!!
ซึ่งในช่วงปี 2554-2555 นั้นนายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีการประกอบกิจการปิโตรเลียม กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำรงตำแหน่ง “อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ”
โดยนายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี ในขณะนั้นได้จัดทำงานวิจัยลักษณะวิชา วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการพลังงานและสิ่งแวดล้อม ในหัวข้อ...
“แนวทางการบริหารจัดการแหล่งสัมปทานปิโตรเลียม หลังสิ้นสุดสัมปทาน”
ขอย้ำว่างานวิจัยชิ้นนี้ได้จัดทำขึ้นในขณะที่นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี ยังไม่มีอำนาจตัดสินใจมากเท่ากับตำแหน่งอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติซึ่งอยู่ท่ามกลางผลประโยชน์อันมหาศาลของเอกชนในปัจจุบัน
ในบทคัดย่องานวิจัยชิ้นนี้เริ่มต้นเอาไว้อย่างน่าประทับใจความตอนหนึ่งว่า:
“เพื่อศึกษามูลค่ารวมทางเศรษฐกิจและการเงินของพื้นที่ผลิตหรือแหล่งปิโตรเลียมหลังสิ้นสุดสัมปทานเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในกรณีที่ภาครัฐจะเข้าดำเนินการบริหารจัดการพื้นที่ผลิตหรือแหล่งปิโตรเลียมที่กำลังหมดระยะเวลาการผลิตเพื่อประโยชน์ที่คุ้มค่าและสูงสุดให้กับประเทศ ซึ่งขอบเขตของการวิจัยจะพิจารณาจากปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติขนาดกลางและใหญ่...”
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าประเทศไทยคงไม่ได้มีเพียงแหล่งก๊าซกระเปาะเล็ก ๆ ปริมาณสำรองเล็ก ๆ แต่เพียงอย่างเดียวดังที่พยายามกล่าวอ้างกันมาตลอด เพราะงานวิจัยได้ระบุขอบเขตของการศึกษาแหล่งปิโตรเลียมที่มีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติขนาดกลางและขนาดใหญ่อีกด้วย
สำหรับกลุ่มทุนพลังงานและข้าราชการบางคนที่ต้องตอบโต้ทุกครั้ง ในคำแสลงหูที่ว่าประเทศไทยมีปิโตรเลียมที่สร้างเม็ดเงิน “มหาศาล”นั้น ได้ปรากฏในงานวิจัยถึงการใช้คำว่ามหาศาลอยู่หลายครั้ง ดังเช่นในบทคัดย่อที่ระบุความตอนหนึ่งว่า:
“สำหรับแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมหลังสิ้นสุดสัมปทานและคืนพื้นที่ให้แก่รัฐ สามารถก่อให้เกิดผลประโยชน์เข้ารัฐในจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะประเด็นเม็ดเงินที่จะเข้าสู่รัฐในแต่ละแนวทางการบริหารจัดการมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญในระดับแสนล้านบาท ซึ่งเป็นเม็ดเงินมหาศาลที่รัฐสามารถนำไปใช้เพื่อยังประโยชน์ให้แก่ประเทศในอนาคต”
งานวิจัยชิ้นนี้ยังได้เขียนคำนำกล่าวถึงมูลค่ามหาศาลในแหล่งปิโตรเลียมที่มีมาก และกล่าวถึงภาครัฐเข้าไปผลิตแทนเอกชนเมื่อสิ้นสุดอายุสัมปทาน ซึ่งระบุความตอนหนึ่งอีกด้วยว่า:
“ปัจจุบัน มีการคาดการณ์ว่าจะมีพื้นที่ผลิตหรือแหล่งปิโตรเลียมหลังจากสิ้นสุดสัมปทาน ซึ่งต้องคืนพื้นที่ให้แก่รัฐเป็นจำนวนหลายพื้นที่ โดยแหล่งปิโตรเลียมบางแห่งยังมีปริมาณปิโตรเลียมอยู่เป็นจำนวนมากในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะยังจะเป็นประโยชน์ให้รัฐเป็นมูลค่ามหาศาล หากรัฐมีการดำเนินการในพื้นที่ดังกล่าวในฐานะผู้รับสัมปทานเอง (หรือผู้ผลิต) แทนการเป็นผู้จัดเก็บค่าภาคหลวงและภาษีเงินได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมการในการที่ภาครัฐจะเข้าดำเนินการบริหารจัดการแหล่งปิโตรเลียมที่กำหลังหมดระยะเวลาการผลิต รัฐจึงควรให้ความสำคัญและศึกษาให้ครอบคลุ่มในทุกประเด็นเพื่อประโยชน์ที่คุ้มค่าและสูงสุดให้กับประเทศ”
สำหรับคำอธิบายเรื่องระบบจ้างผลิต งานวิจัยดังกล่าวได้กล่าวอธิบายถึงข้อดีในระบบจ้างบริการ (Service Contract) ที่รัฐหรือบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ต้องเข้ามาบริหารจัดการแหล่งปิโตรเลียม และไม่อยู่ในฐานะที่เสียเปรียบไม่ว่าจะพบหรือไม่พบปิโตรเลียมก็ตาม โดยเขียนเอาไว้ความตอนหนึ่งว่า:
“เป็นระบบสัญญาที่ให้ผู้ประกอบการดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในฐานะของ “ผู้รับจ้าง” ของรัฐที่ต้องทำตามหลักเกณฑ์และคำสั่งของรัฐ และผู้ประกอบการไม่มีกรรมสิทธิ์ในปิโตรเลียมที่ขุดเจาะขึ้นมาได้ เมื่อผู้ประกอบการเอกชนพบปิโตรเลียมแล้ว รัฐ(หรือบรรษัทน้ำมันแห่งชาติในฐานะตัวแทนของรัฐ) จะเป็นผู้จ่ายค่าจ้างดำเนินการให้แก่ผู้ประกอบการนั้นๆ อย่างไรก็ตาม หากไม่พบปิโตรเลียมในระยะเวลาที่กำหนด และเมื่อสัญญาสิ้นสุดลง อุปกรณ์เครื่องมือในการสำรวจและการผลิตต่างๆ จะตกเป็นของรัฐเมื่อการสำรวจสิ้นสุดลง ดังนั้นภายใต้ระบบนี้รัฐหรือบรรษัทน้ำมันแห่งชาติในฐานะตัวแทนของรัฐจะเป็นผู้มีอำนาจในการดูแลพื้นที่สัญญาเพียงผู้เดียว ปิโตรเลียมเมื่อถูกนำขึ้นมาจากปากหลุมจะเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐขณะที่ผู้ประกอบการเอกชนจะเป็นเพียงผู้รับจ้างผลิตเท่านั้น”
สำหรับที่มาของร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 นั้นได้จัดทำโดยมีองค์กรต่างประเทศเป็นผู้สนับสนุนให้จัดทำขึ้น และมีเป้าหมายเพื่อสร้างแรงจูงใจบริษัทน้ำมันต่างชาติเป็นสำคัญ ตามคำอธิบายในงานวิจัยชิ้นนี้ที่กล่าวถึงการพัฒนากฎหมายปิโตรเลียมของประเทศไทยความตอนหนึ่งว่า:
“รัฐบาลในขณะนั้นจึงได้มีมติตั้ง “คณะกรรมการพิจารณาวางหลักเกณฑ์การขอสำรวจน้ำมันแร่ดิบ” โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติเป็นประธานคณะกรรมการ เพื่อหาแนวทางและเสนอหลักเกณฑ์การขออนุญาตสำรวจแหล่งปิโตรเลียมและ/หรือผลิตปิโตรเลียม โดยทางคณะกรรมการฯ ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาด้านปิโตรเลียมจากสำนักวอลเตอร์ เจ เลฟวี เอส เอ ร่วมพิจารณา (องค์กรยูซ่อมออกค่าใช้จ่ายดำเนินการให้ทั้งหมด)”
ซึ่งองค์กรยูซ่อมนั้นแท้ที่จริงก็คือ องค์การบริหารวิเทศกิจแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Operation Mission)
ในการดำเนินการจัดทำข้อเสนอนั้น ได้พิจารณาถึงการร่างกฎหมายปิโตรเลียม เพื่อใช้เป็นแผนแม่บทในการกำกับดูแลการสำรวจและผลิตในประเทศ โดยได้นำแนวทางมาจากกฎหมายปิโตรเลียมของประเทศลิเบีย ซึ่งจูงใจบริษัทน้ำมันต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศอย่างมาก เป็นแนวคิดในการจัดทำร่างกฎหมายปิโตรเลียมของประเทศไทย”
สำหรับกรณีที่รูปแบบปัจจุบันที่มีการใช้เรื่องการจัดเก็บผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษอยู่นั้น มีข้อเสียอย่างไรเมื่อเทียบกับระบบจ้างผลิต นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี ผู้เขียนงานวิจัยในขณะนั้นและมาเป็นอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในวันนี้ได้ระบุเอาไว้ในผลการวิจัยความตอนท้ายว่า:
“กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมิได้มีหน่วยงานตรวจสอบการจัดเก็บผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่จะชี้ว่าผลประโยชน์ที่รัฐจะได้เพิ่มเติมมากน้อยเท่าไหร่ การเสียผลประโยชน์เป็นการคำนวณจากผลประกอบการรายปี ซึ่งอาจสามารถปรับปรุงบัญชีเพื่อหลีกเลี่ยงผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษในอัตราสูงได้ง่าย ซึ่งจะส่งผลให้รัฐสูญเสียผลประโยชน์ได้อย่างมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งแปลงสัมปทานปิโตรเลียมที่มีศักยภาพสูง
ในกรณีที่เป็นระบบรับจ้างบริการ (Service Contract) นั้น รัฐจะเป็นผู้คุมผลประโยชน์ของภาคเอกชนที่เปลี่ยนรูปแบบเป็นผู้รับจ้างเหมา....
ส่วนกรณีที่ Thailand I เป็นกรณีที่ให้ผลตอบแทนแก่รัฐน้อยที่สุด และเอื้อประโยชน์ให้แก่ภาคเอกชนมากที่สุด โดยเฉพาะเมื่อต่ออายุแล้ว ภาวะการดำเนินการเป็นช่วงการผลิตต่อเนื่องมิใช่การสำรวจเหมือนรูปแบบการให้สัมปทานปิโตรเลียมทั่วไป ดังนั้นจึงไม่ควรที่จะนำมาใช้เพื่อการนี้
สำหรับกรณีแหล่งปิโตรเลียมที่เหลือทั้งหมดในประเทศ คาดว่าแต่ละรูปแบบจะมีรายได้เข้ารัฐอยู่ในช่วง 500,000 ล้านบาทถึง 1,500,000 ล้านบาท (มีความแตกต่างกันถึง 1,000,000 ล้านบาท) สำหรับการต่อสัญญาโดยใช้ Thailand I และระบบรับจ้างบริการ (Service Contract) ว่าจ้างบริษัท ปตท.สผ. โดยคิดค่าจ้างในอัตรา 35 เหรียญสหรัฐต่อการผลิตปิโตรเลียมหนึ่งบาเรล เทียบเท่าน้ำมันดิบ ดังนั้นรัฐจึงควรให้มีการพิจารณาเรื่องนี้เป็นการเร่งด่วน เพื่อมิให้รัฐสูญเสียผลประโยชน์จำนวนมหาศาล”
ไม่น่าเชื่อจริงๆเวลาข้าราชการกระทรวงพลังงานยังไม่เป็นอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเขียนงานวิจัยมองเห็นได้ทุกสิ่งทุกอย่างว่าการที่รัฐกลับเข้ามาถือกรรมสิทธิ์และบริหารจัดการปิโตรเลียมแล้วใช้วิธีการจ้างผลิตจะสามารถสร้างประโยชน์ได้มากกว่าระบบเดิม 1 ล้านล้านบาท บนฐานการคำนวณจ้าง ปตท.สผ.ในราคา 35 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล แต่ถ้ามีการประมูลแข่งขันการให้เอกชนจ้างผลิตอย่างเสรี จะได้เงินเข้ารัฐและประโยชน์ต่อประเทศชาติได้มากกว่างานวิจัยชิ้นนี้ได้ขนาดไหน?
แต่เมื่อนายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี มาเป็นอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติแล้ว งานวิจัยที่เคยเขียนมากลับเป็นเรื่องที่ไม่ถูกนำมาเสนอให้รัฐหรือประชาชนได้เห็น ไม่ได้แสดงแนวคิดที่จะนำเรื่องการจ้างผลิตมาใช้กับแหล่งเอราวัณ และ บงกชที่เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ถึงครึ่งหนึ่งของประเทศเพื่อประโยชน์ของชาติตามงานวิจัย ไม่มีบรรษัทพลังงานแห่งชาติเขามาถือกรรมสิทธิ์และบริหารทรัพย์สินที่ได้กลับคืนมา และไม่มีความชัดเจนว่าจะประมูลแข่งขันในระบบใด ใช่หรือไม่?
ในประเด็นต่อมาก็คืองานวิจัยของนายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี นั้นก็มีความคล้ายคลึงและสอดคล้องไปกับผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 และพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 2514 ของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนี้ ซึ่งผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมาแล้วอีกด้วย
แต่เหตุใดทั้งกระทรวงพลังงาน คณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จึงยังคงเดินหน้าทั้งๆที่ไม่เป็นไปตามผลการศึกษาของตัวเอง !!!?
*** อ่านข่าวเกียวเนื่องเมื่อ"นายวีระศักดิ์" โต้แย้ง งานวิจัยปิโตรเลียมของ "นายวีระศักดิ์" !?