xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อ"วีระศักดิ์" โต้แย้ง งานวิจัยปิโตรเลียมของ "วีระศักดิ์" !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2559 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงานได้เผยแพร่คำชี้แจงกรณีที่บทความในเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ ได้นำเสนอข้อมูลในเอกสารวิจัยส่วนบุคคล ของนายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ภายใต้บทบาทในอดีตของการเป็นนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ รุ่นที่ 24 ประจำปี 2554 -2555 ในหัวข้อ "การบริหารจัดการกับแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่สัมปทาน" และคำชี้แจงปรากฏความตอนหนึ่งว่า:

"นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในฐานะผู้จัดทำผลงานวิจัยกล่าวถึงการทำผลงานวิชาการดังกล่าว ว่าเป็นแนวคิดส่วนบุคคล มีจุดมุ่งหมายหลักคือต้องการชี้ให้เห็นความสำคัญในระดับนโยบายถึงความจำเป็นแต่เนิ่นๆที่ควรศึกษาแนวทางในการบริหารจัดการแหล่งก๊าซฯที่สัมปทานที่จะสิ้นสุดอายุ เพราะเป็นเรื่องสำคัญต่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ โดยเอกสารวิจัยของตน ได้นำเสนอทางเลือกต่างๆภายใต้สมมติฐานที่กำหนดขึ้นมาและมีข้อเปรียบเทียบในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาของงานวิจัยเป็นข้อมูล ณ เวลาขณะนั้น (ปี 2554-2555)และบางกรณีเป็นการกำหนดจากสมมติฐานจำลอง เริ่มตั้งแต่การกำหนดขนาดแหล่งปิโตรเลียม ปริมาณสำรอง การลงทุนและการพัฒนาแหล่ง การรื้อถอน และราคาการว่าจ้าง เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันตัวเลขตามสมมติฐานต่างๆ ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยในรายงานก็มีการระบุอย่างชัดเจนว่าโปรแกรมการคำนวณสามารถเปลี่ยนแปลงตามค่าตัวแปรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ราคาปิโตรเลียม เงินลงทุน อัตราดอกเบี้ย เงินเฟ้อ เป็นต้น

สำหรับตัวแปรที่สำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญที่ไม่สามารถนำผลการศึกษามาใช้ได้ปัจจุบันอย่างชัดเจน คือ ในช่วงการทำผลงานราคาน้ำมันดิบโลกสูงกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ในขณะที่ปัจจุบันลดลงต่ำมากเหลือแค่ 40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งส่งผลให้ราคาก๊าซลดลงเช่นกัน ประเด็นสมมติฐานในเรื่องต้นทุนค่าอุปกรณ์ผลิต และพัฒนาแหล่ง ที่แม้ว่าราคาจะปรับลดลงแต่ต้นทุนการพัฒนายังคงเพิ่มขึ้น เพราะต้องมีการเจาะหลุมผลิตเพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากแหล่งปิโตรเลียมที่พบมีขนาดเล็กลง (marginal fields) รวมทั้งในกรณีที่ต้องการปริมาณสำรองที่เท่ากับหรือใกล้เคียงกับสมมติฐานที่กำหนดไว้สำหรับอีก 11 ปีข้างหน้า (ปี 2565) จำนวนหลุมเจาะจะมีจำนวนสูงขึ้นเนื่องจากแต่ละหลุมจะมีปริมาณสำรองต่อหลุม ที่ลดลง นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนในกรอบแนวคิดที่ใช้ในการคำนวณภายใต้สมมติฐาน คือ คิดต่ำเพียง ร้อยละ 10 ของค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนซึ่งเป็นการตั้งสมมุติฐานเพื่อคำนวณทางวิชาการ เพราะตัวเลขจริงขณะนั้น ยังไม่มีข้อมูลค่ารื้อถอนในภูมิภาคนี้สำหรับอ้างอิงเพียงพอ หากเปรียบเทียบรายได้รัฐและผู้ดำเนินงานสมมุติ (ได้แก่ ปตท.สผ.ในกรณีศึกษาดังกล่าว) ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องผลิตก๊าซธรรมชาติในปริมาณที่เท่ากันในปี 2554 กับปัจจุบัน พบว่าผลการศึกษาแนวทางหนึ่งที่ถูกยกมาอ้าง หากเป็นภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน รัฐจะเกิดผลขาดทุนเพราะต้องจ่ายเงินค่าจ้างสูงกว่าราคาปิโตรเลียม"

จากคำชี้แจงดังกล่าวนั้นมีข้อสังเกตในประเด็นสำคัญต่อไปนี้

ประการแรกถ้าผลการศึกษาของข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพลังงาน มีการเปลี่ยนแปลง "ปริมาณปิโตรเลียมในแหล่งปิโตรเลียม" ในการประเมินคาดการณ์อนาคตช่วงเวลาเดียวกัน เอาแน่เอานอนไม่ได้ ก็ไม่สามารถที่จะเชื่อมั่นได้อีกต่อไปใช่หรือไม่ว่าปริมาณและการคาดการณ์ของกระทรวงพลังงานของประเทศไทยในปัจจุบันที่ว่าแหล่งปิโตรเลียมของไทยมีแต่กระเปาะเล็ก มีสำรองน้อย เพราะในอนาคตก็จะเปลี่ยนแปลงต่อไปได้อีก จริงหรือไม่?

ทั้งนี้เมื่อได้อ่านงานวิจัยในปริมาณของงานวิจัยของสมมติฐานการคำนวณของนายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี เมื่อครั้งยังไม่ได้เป็นอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ใน ปี พ.ศ. 2554-2555 พบว่า หลังสิ้นสุดระยะเวลาการผลิตแล้ว คาดว่าจะยังคงมีแหล่งน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติขนาดกลางและขนาดใหญ่คงอยู่ โดยคาดว่าจะมีรายละเอียดดังนี้

พื้นที่อ่าวไทย

(1)แหล่งก๊าซธรรมชาติขนาด 3 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต เหลืออยู่จำนวน 1 แหล่ง

(2)แหล่งก๊าซธรรมชาติขนาด 1 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต เหลือยู่จำนวน 3 แหล่ง

(3)แหล่งน้ำมันดิบขนาด 100 ล้านบาร์เรล เหลืออยู่จำนวน 1 แหล่ง

(4)แหล่งน้ำมันดิบขนาด 25 ล้านบาร์เรล เหลืออยู่จำนวน 2 แหล่ง

พื้นที่บนบก

(5)แหล่งก๊าซธรรมชาติขนาด 1 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต เหลืออยู่จำนวน 1 แหล่ง

ในความเป็นจริงแล้วแหล่งปิโตรเลียมจะมีมากหรือน้อย คุ้มค่าลงทุนหรือไม่ ไม่ควรจะเป็นข้ออ้างของรัฐในการไม่ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี เพราะสิ่งที่ควรจะเป็นก็คือ รัฐต้องมีหน้าที่ให้ผู้เข้าแข่งขันเอกชนสามารถจะได้รับข้อมูลและเงื่อนไขที่เป็นธรรม แล้วให้กลไกตลาดการแข่งขันเป็นผู้ตัดสินได้จริงในทางปฏิบัติ จะเป็นกระเปาะเล็ก หรือจะเป็นกระเปาะใหญ่ อนาคตจะมีปิโตรเลียมมากน้อยแค่ไหน รัฐก็มีหน้าที่ให้รายงานผลการสำรวจและการผลิตอย่างละเอียดตลอดระยะเวลาสัมปทานที่ผ่านมา หลังจากนั้นก็ควรจะเป็นหน้าที่ของเอกชนที่เข้ามาประมูลแข่งขัน จริงหรือไม่?

เพราะถ้ากระเปาะเล็กจริงอย่างน้อยเอกชนก็จะแข่งขันกันเองเพื่อให้ทำให้ต้นทุนของตัวเองต่ำที่สุดในเงื่อนไขกระเปาะเล็ก ถ้ากระเปาะใหญ่จริงเอกชนก็พร้อมที่แข่งขันจะแบ่งปิโตรเลียมให้รัฐมากที่สุดเช่นกัน ถ้ามีการแข่งขันอย่างแท้จริง โดยไม่ล็อกสเปกด้วยกฎหมาย หรือป้องกันเงื่อนไขในการประมูลที่ไม่ให้กีดกันผู้เข้าแข่งขัน จริงหรือไม่? ซึ่งปัจจัยนี้กลับไม่อยู่ในบัญญัติใดๆให้ชัดเจนใน พรบ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ.... และ พรบ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ.... ที่กำลังอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯของสภานิติบัญญัติแห่งชาติอยู่ในขณะนี้ แต่ประการใด

ถ้าจะทำให้มั่นใจขึ้นว่าแหล่งปิโตรเลียมที่กำลังจะหมดอายุนั้นมีความน่าสนใจเพียงใด กระเปาะเล็กหรือใหญ่แค่ไหน ก็โปรดฟังคำแถลงของนายสตีฟ กรีน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนเอเชียแปซิฟิก สำรวจและผลิตจำกัด เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2559 ได้ให้สัมภาษณ์ว่า

"การทำธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจะต้องลงทุนอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา และต้องมองระยะยาวแม้ว่าราคาน้ำมันจะต่ำหรือสูงก็ต้องดำเนินการต่อไป โดยปี 2559 นี้ เชฟรอนและบริษัทผู้ร่วมทุนวางแผนที่จะลงทุนรวมกว่า 1 แสนล้านบาทกับโครงการต่างๆในอ่าวไทย นอกจากนั้น ทุกปีจะต้องมีการขุดเจาะเพิ่มต่อเนื่องราว 300-400 หลุม เพื่อรักษาระดับการผลิต โดยก๊าซธรรมชาติที่เชฟรอนที่ผลิตได้ในประเทศไทยคิดเป็นประมาณ 50% ของการผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศ และคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 ของความต้องการใช้ไฟฟ้าโดยรวม"

ประการที่สองสำหรับข้ออ้างที่ว่าตัวแปรที่สำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญที่ไม่สามารถนำผลการศึกษามาใช้ได้ปัจจุบันอย่างชัดเจนสำหรับปัจจัยราคาที่นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติอ้างว่า คือ ในช่วงการทำผลงานการวิจัยเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ราคาน้ำมันดิบโลกสูงกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ในขณะที่ปัจจุบันลดลงต่ำมากเหลือแค่ 40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งส่งผลให้ราคาก๊าซลดลงเช่นกันนั้น มีความเหมาะสมหรือไม่?

สำหรับประเด็นนี้ เหตุใดจึงใช้การกล่าวอ้างแบบเหมารวมราคาน้ำมันตลาดโลกที่ลดลงเป็นหลัก? เพราะประเทศไทยมีทั้งแหล่งปิโตรเลียมขนาดกลางและขนาดใหญ่มีทั้งก๊าซธรรมชาติและแหล่งน้ำมัน

ซึ่งราคาก๊าซธรรมชาติของไทยก็ไม่ได้แปรผันไปตามราคาน้ำมันตลาดโลกด้วยใช่หรือไม่ !!!?

ยิ่งไปกว่านั้น อย่าว่าแต่ราคาก๊าซธรรมชาติของไทยก็สูงกว่าทั้งราคาในตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งมักจะมีการโต้แย้งเสมอว่าก๊าซธรรมชาติไทยไม่ควรจะอ้างอิงราคาในสหรัฐอเมริกาเลย เอาเข้าจริงทุกวันนี้ราคาก๊าซธรรมชาติของไทยก็ยังแพงกว่าก๊าซธรรมชาติเหลวนำเข้าจากต่างประเทศด้วย จริงหรือไม่? แล้วจะอ้างอะไรอีก?

เหตุที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะแหล่งก๊าซธรรมชาติไทยถูกกำหนดสูตรโดยคณะกรรมการปิโตรเลียมในการตัดสินใจเอาเอง ถ้าเป็นเช่นนั้นนายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมีจะนำมาอ้างเรื่องราคาน้ำมันตลาดโลกมาอ้างว่าผลการวิจัยดังกล่าวไม่สามารถนำมาใช้ได้อย่างไร?

ทั้งนี้เพราะในประเทศไทย ก๊าซธรรมชาติต่างจากน้ำมันตรงที่ ก๊าซธรรมชาติต้องขนส่งผ่านทางท่อก๊าซธรรมชาติ และมีสภาพบังคับขายส่งตรงไปยังผู้รับซื้อทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมปิโตรเคมี หรือขายผ่าน ปตท. เพื่อขายต่อเป็นพลังงานผลิตไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตอีกทอดหนึ่ง โดยเฉพาะการขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตนั้นได้ผูกพันเป็นสัญญาซื้อขายระยะยาว ยิ่งเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่าราคาก๊าซธรรมชาติของไทยในปัจจุบันไม่ได้มีความสัมพันธ์กับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเลยใช่หรือไม่?

ประการที่สาม กรณีอ้างเรื่องราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกลดลงจะทำให้รัฐขาดทุนหากดำเนินการจ้างผลิตนั้น ความจริงแล้วเครื่องจักรอุปกรณ์ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมย่อมมีราคาลดลงด้วย ซึ่งในประเด็นนี้นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ก็ยอมรับในการแถลงข่าวเช่นกัน แต่กลับใช้วิธีการกล้าวอ้างว่ามีต้นทุนอื่นๆ เช่น ต้องมีการเจาะหลุมเพิ่มมากขึ้น หรือ ข้ออ้างที่เลื่อนลอยว่าอาจจะมีต้นทุนรื้อถอนมากกว่าที่ประเมินเอาไว้ที่ 10% ซึ่งก็ยังเป็นข้ออ้างที่นายวีระศักดิ์เองยังไม่สรุปเสียด้วยซ้ำไป

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี ชี้ประเด็นแต่ข้อเสียว่างานวิจัยของตัวเองอาจมีต้นทุนเพิ่มขึ้นหลายด้านเพื่อโน้มน้าวให้ไม่ต้องนำงานวิจัยของตัวเองมาใช้ในสถานการณ์ปัจจุบันใช่หรือไม่?

แต่นายวีระศักดิ์อาจจะลืมไป หรือ ลืมบอกในการแถลงข่าวต่อไปว่าผลการวิจัยของตัวเองนั้น ได้วางสมมุติฐานการคำนวณแบบอนุรักษ์นิยมปลอดภัยไว้ก่อนอยู่แล้วจริงหรือไม่เพียงใด?

โดยเฉพาะหัวใจสำคัญในการที่จะระบุว่าต่อไปรัฐจะขาดทุนหรือกำไรนั้นก็คือทรัพย์สิน และอุปกรณ์การผลิตที่จะกลับมาเป็นของรัฐทั้งหมดเมื่อสิ้นสุดอายุสัมปทาน โดยนายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี ได้เขียนเอาไว้ในสมมุติฐานในการคำนวณว่า :

"การดำเนินงาน ได้คิดเป็นลักษณะโครงการใหม่ กล่าวคือ อุปกรณ์การผลิตเดิมที่ได้มีการติดตั้งไว้เพื่อใช้งานอยู่แล้ว ไม่สามารถนำมาช่วยการผลิตได้ จำเป็นจะต้องลงทุนใหม่ทั้งหมด (ในความเป็นจริงปริมาณสำรองที่เหลืออยู่ไม่น้อยกว่า 40% สามารถผลิตได้จากอุปกรณ์การผลิตเดิม โดยไม่ต้องก่อสร้างเพิ่มเติม)"

โปรดสังเกตข้อความในวงเล็บของนายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี ที่ว่า:

"ในความเป็นจริงปริมาณสำรองที่เหลืออยู่ไม่น้อยกว่า 40% สามารถผลิตได้จากอุปกรณ์การผลิตเดิม โดยไม่ต้องก่อสร้างเพิ่มเติม"

การคำนวณต้นทุนเพื่อใช้ในแบบจำลองของนายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี นั้น อยู่บนเงื่อนไขรัฐลงทุนใหม่ทั้งหมด ทั้งๆที่ความจริงรัฐมีทรัพย์สินที่จะได้กลับคืนมาอีกจำนวนมาก ใช่หรือไม่? แล้วเหตุใดนายวีระศักดิ์ ไม่แถลงข่าวในส่วนสำคัญนี้ให้ประชาชนได้รับทราบด้วย?

ทรัพย์สินมีอยู่เท่าไหร่นั้น เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจได้เคยรวมรวมเอาไว้ในหัวข้อ "เปิดศึกชิงสินทรัพย์ปิโตรเลียม 2.8 แสนล้าน" ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และมีรายละเอียดเฉพาะแหล่งเอราวัณและบงกชว่า ทรัพย์สินของทั้ง 2 บริษัท (ปตท.สผ. และ เชฟรอน) ที่มีการลงทุนตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงปัจจุบัน คิดเป็นมูลค่าราว 7.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.8 แสนล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งยังไม่ได้มีการหักค่าเสื่อมและการรื้อแท่นที่หมดอายุลง ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องกันเงินไว้ก้อนหนึ่งสำหรับการื้อถอนแท่นที่หมดอายุลงด้วย ซึ่งต้องใช้เงินในส่วนนี้อีกประมาณ 7-10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อแท่น

ดังนั้นกรณีนายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี จะกล่าวอ้างโต้แย้งงานวิจัยของตัวเองว่า ปตท.สผ. หากรับค่าจ้างที่ 35 เหรียญสหรัฐต่อบาเรลในปัจจุบันนั้นรัฐจะขาดทุนเพราะค่าจ้างจะมีราคาสูงกว่าราคาปิโตรเลียม ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะแบบจำลองและการคำนวณของนายวีระศักดิ์เองนั้น ยังไม่นับทรัพย์สินที่รัฐไม่ต้องลงทุนใหม่ใช่หรือไม่ และส่วนที่สองก็คือปัจจุบันราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 48 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล แล้วรัฐจะขาดทุนได้อย่างไร?

และในงานวิจัยระบุราคาค่าจ้าง ปตท.สผ.ที่ 35 เหรียญสหรัฐต่อบาเรลนั้น ก็เป็นการตั้งราคาสมมุติที่ยังไม่มีการแข่งขันราคาค่าจ้างผลิตเลย เหตุใดนายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี จึงได้ใจร้อนด่วนสรุปว่าถ้ารัฐมาถือครองกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมแล้วจ้างเอกชนผลิตแล้วรัฐจะขาดทุน!!!?

ไม่ว่าจะเป็นการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยซึ่งก่อตั้งในสมัยรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี หรือ ปตท.สำรวจและผลิต ที่ก่อตั้งในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นองค์กรที่รัฐถือหุ้น 100% มีความเป็นมืออาชีพและสามารถทำกิจการปิโตรเลียมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งน่าเสียดายที่องค์กรเหล่านี้ได้ถูกนำไปแปรรูปกระจายหุ้นเข้าไปในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งมีหน้าที่และภารกิจทำกำไรให้ผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ เหตุใดในวันนี้รัฐไทยจะไม่สามารถตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติเพื่อมากอบกู้อธิปไตยทางพลังงาน มาถือครองกรรมสิทธิ์ บริหาร และขายปิโตรเลียมเสียเอง เพราะแม้แต่วันนี้ในสถานการณ์ปัจจุบันที่นายวีระศักดิ์กล่าวอ้างว่ารัฐจะขาดทุนนั้น ทั้ง ปตท. และ ปตท.สผ.ก็ไม่ได้แสดงผลว่ามีการขาดทุนแต่ประการใด

ขนาดนายสตีฟ กรีน ประธานกรรมการบริหารเชฟรอน เอเชียแปซิฟิกยังยอมรับในการให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2559 เลยว่า เชฟรอนมีพนักงานราว 1,600 คน และกว่า 94% เป็นคนไทย รวมถึงมีพนักงานผู้รับเหมาคนไทยกว่า 1,300 คน แล้วเหตุใดจะมีข้ออ้างว่าคนไทยไม่มีความสามารถ หรือ ทำไม่ได้ !!!?

ประการที่สี่นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ยังไม่ได้ตอบคำถามงานวิจัยของนายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีการประกอบกิจการปิโตรเลียม ในประเด็นงานวิจัยที่ว่า

"กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมิได้มีหน่วยงานตรวจสอบการจัดเก็บผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่จะชี้ว่าผลประโยชน์ที่รัฐจะได้เพิ่มเติมมากน้อยเท่าไหร่ และการเสียผลประโยชน์เป็นการคำนวณจากผลประกอบการรายปี ซึ่งอาจสามารถปรับปรุงบัญชีเพื่อเลี่ยงการเสียผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษในอัตราสูงได้ง่าย ซึ่งจะส่งผลให้รัฐสูญเสียผลประโยชน์ได้อย่างมหาศาล โดยเฉพาะอย่างิย่งแปลงสัมปทานปิโตรเลียมที่มีศักยภาพสูง"

จะดักคอเอาไว้ก่อนหากจะกลับมาชี้แจงลอยๆว่าปัจจุบันมีหน่วยงานตรวจสอบแล้ว ก็ขอให้ระบุมาว่าองค์กรอะไร คำสั่งหรือประกาศอะไร และเมื่อไหร่เอาให้ชัด ถ้าใช้เพียงอำนาจบริหารโดยที่กฎหมายไม่บังคับก็จะอันตรายอย่างยิ่ง เพราะจะทำหรือไม่ทำก็ได้ ซึ่งประเด็นนี้กลับไม่มีความชัดเจนใน พรบ.ปิโตรเลียม ที่กำลังพิจารณาอยู่ในชั้นกรรมาธิการฯของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเลย

ไหนๆมาถึงขั้นนี้แล้ว ไม่เหลือทางอื่นแล้ว ถ้าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะกรุณาอาศัยอำนาจมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ออกคำสั่ง ถอน พรบ.ปิโตรเลียม และพรบ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ออกจากการพิจารณของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อทบทวนใหม่ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ ก็คงจะทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่น ในความโปร่งใส และเป็นธรรม ในการจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมได้อย่างแท้จริง!!!

*** อ่านข่าวเกียวเนื่อง
อึ้ง! คำสารภาพ “วีระศักดิ์ พึ่งรัศมี” ก่อนจะได้เป็นอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ !? ***



กำลังโหลดความคิดเห็น