“รสนา” แนะ สตง. เรียกคืนค่าโง่ภาษีน้ำมันจาก “เชฟรอน” ย้อนหลังทั้งหมด จี้สอบลึกขนน้ำมันส่งออกย้อนกลับสงขลา น้ำมาขายเป็นน้ำมันเถื่อนในประเทศหรือไม่? และทำมาแล้วกี่ครั้ง? จี้ลงโทษขรก.เตะถ่วงเรื่อง - เอื้อประโยชน์ให้เอกชนทำรัฐเสียหาย
วันนี้ (2 ต.ค.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพมหานคร และ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Rosana Tositrakul หัวข้อ “ค่าโง่ภาษีน้ำมันที่ต้องเรียกคืน” จากกรณีบริษัท เชฟรอน ขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงไปขายที่แท่นเจาะ แล้วกรมศุลกากรตีความว่าเป็นการส่งน้ำมันออกนอกราชอาณาจักร ทำให้บริษัทเชฟรอนฯมาขอคืนภาษีมูลค่า 3,000 ล้าน ตามข้อความดังนี้ ...
“กรณีการขอคืนภาษีสรรพสามิต และภาษีมูลค่าเพิ่มน้ำมันสำเร็จรูปที่ส่งไปใช้ยังแท่นขุดเจาะของบริษัทเชฟรอนในพื้นที่ไหล่ทวีป ถูกสำนักกฎหมายกรมศุลกากรตีความว่าพื้นที่นอกเขต 12 ไมล์ทะเล ถือเป็นการส่งน้ำมันออกนอกราชอาณาจักร จึงทำให้บริษัท เชฟรอน มาขอคืนภาษี รวมแล้วมีมูลค่าประมาณ 3,000 ล้านบาท
การส่งน้ำมันสำเร็จรูปไปใช้ยังแท่นขุดเจาะที่อยู่ในพื้นที่ไหล่ทวีป คือ 200 ไมล์ทะเล ถือว่ายังอยู่ในอาณาเขตของไทย ในอดีตเคยถือว่าเป็นการค้าชายฝั่ง จึงต้องเสียภาษีตามปกติของการค้าขาย แต่กรมศุลกากรเพิ่งเปลี่ยนแนววินิจฉัยเมื่อปี 2554 ทั้งที่ฝ่ายปฏิบัติที่ด่านศุลกากรที่ระยองไม่เห็นด้วย และมีการทักท้วงตลอดมา แต่ก็ไม่มีการแก้ไข
เหตุการณ์มาแดงขึ้นเมื่อเรือขนน้ำมันสำเร็จรูป 8 ลำ ของบริษัท เชฟรอน ที่อ้างว่า ส่งออกไปใช้ยังแท่นขุดเจาะของตน แล่นย้อนกลับมายังจังหวัดสงขลา และถูกด่านศุลกากรที่สงขลากักไว้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2558 เพราะพบน้ำมันสำเร็จรูปที่ใส่สารมาร์กเกอร์ว่าเป็นน้ำมันส่งออกแล่นกลับเข้ามาในราชอาณาจักรไทย
การนำน้ำมันส่งออกกลับเข้ามาในราชอาณาจักรย่อมมีความผิด เพราะถูกตั้งข้อสงสัยได้ว่าเป็นการนำน้ำมันที่ได้คืนภาษีแล้ว ย้อนกลับมาขายเป็นน้ำมันเถื่อนในประเทศหรือไม่?
หลังจากเรือน้ำมันของเชฟรอนถูกจับได้ และกักไว้ที่ด่านสงขลาจนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่มีการตรวจสอบอย่างจริงจัง และยังไม่มีการแก้ปัญหาการตีความที่ทำให้ประเทศต้องเสียค่าโง่ภาษีน้ำมันหลายพันล้านบาท
สิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน
1) หากการส่งน้ำมันไปใช้บนแท่นขุดเจาะที่อยู่ในดินแดนไทยคือการค้าชายฝั่ง บริษัทเชฟรอนก็ไม่มีสิทธิได้คืนภาษี ส่วนภาษีที่ขอคืนไปแล้ว สตง. สมควรต้องเรียกคืนย้อนหลังทั้งหมด
2) นอกจากบริษัทเชฟรอนที่มีการขอคืนภาษีน้ำมันแล้ว ยังมีบริษัทอื่นอีกหรือไม่ที่ขอคืนภาษีแบบเดียวกัน หากมีต้องเรียกคืนเช่นกัน
3) การที่บริษัทเชฟรอนนำน้ำมันส่งออกที่ได้คืนภาษีกลับเข้ามาที่สงขลาอีกครั้ง ต้องมีการตรวจสอบว่า มีการนำน้ำมันกลับมาขายในประเทศหรือไม่? และทำมาแล้วกี่ครั้ง?
4) ต้องสอบสวนและลงโทษข้าราชการที่มีการเตะถ่วงเรื่องที่ทำให้รัฐเสียหาย โดยเฉพาะหากพบว่ามีกระบวนการทุจริตเพื่อเอื้อประโยชน์ให้เอกชนในกรณีนี้
เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่หลวง รัฐบาลไทยต้องไม่ปล่อยให้มีการเสียค่าโง่จำนวนมหาศาลเช่นนี้อีกต่อไป และต้องดำเนินการเรียกภาษีที่ควรเป็นของแผ่นดินไทยกลับคืนมาทั้งหมด เพื่อรักษาผลประโยชน์อันชอบธรรมของชาติและเหนืออื่นใด เพื่อปกป้องอธิปไตยเหนือไหล่ทวีป 200 ไมล์ทะเลของราชอาณาจักรไทยตามหลักกฎหมายสากล”
นางสาวรสนา หยิบยกผลการประชุมคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ชงให้ คตง. บี้ คลัง ระงับเว้นภาษีเชฟรอน ทวง 3,000 ล้านคืน จากเว็บไซต์ ไทยพับลิก้า ที่ระบุว่า ...
“จากที่ได้นำเสนอข่าว ข้อพิพาทกรมศุลฯ-เชฟรอน (2) : มติ 3 ฝ่ายชี้ส่งน้ำมันขายแท่นขุดเจาะไหล่ทวีป “ขายในประเทศ” - ปลัดคลังสั่งชะลอคืนภาษี 3 พันล้าน” ต่อประเด็นนี้ นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ตนได้รับรายงานจาก นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบกรณีกรมสรรพสามิตคืนภาษีให้บริษัท เชฟรอน (ประเทศไทย) จำกัด นั้น ผลการตรวจสอบของ สตง. ในเบื้องต้นแบ่งเป็น 2 ช่วง ดังนี้ ช่วงที่ 1 หลังจากกรมศุลกากรตีความ กรณีการขนน้ำมันไปขายที่แท่นขุดเจาะถือเป็นส่งออก บริษัท เชฟรอน ได้มาขอคืนภาษีที่ชำระไปก่อนหน้านี้จากกรมสรรพสามิต และช่วงที่ 2 ตั้งแต่ปี 2554 บริษัท เชฟรอน รับมอบอำนาจจากบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ทำเรื่องยกเว้นภาษีส่งออก ทั้งสองช่วงกรมสรรพสามิตคืนภาษีและยกเว้นภาษีไปเท่าไหร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบทานตัวเลข
นายชัยสิทธิ์ กล่าวว่า แต่หลังจากที่ประชุมร่วม 3 หน่วยงาน ตามข้อเสนอของคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 3 ได้มีความเห็นว่า การนำสินค้าไปใช้ในกิจการปิโตรเลียม ให้ถือว่าพื้นที่สัมปทานบริเวณดังกล่าวอยู่ในราชอาณาจักรไทย และให้ปฏิบัติพิธีการศุลกากรในรูปแบบการค้าชายฝั่ง กรณีนี้ไม่น่าถือเป็นการส่งออก ทราบว่า ตอนนี้ นายพิศิษฐ์ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ สตง. ยกร่างหนังสือส่งให้ที่ประชุมคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 แจ้งให้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สั่งการปลัดกระทรวงการคลัง และ กรมสรรพสามิต ยุติการยกเว้นภาษีน้ำมันให้บริษัท เชฟรอน พร้อมเรียกเงินค่าภาษีคืน เนื่องจากที่ประชุมร่วม 3 หน่วยงาน มีความเห็นว่าสินค้าที่นำไปใช้ในพื้นที่สัมปทานบริเวณไหล่ทวีปอยู่ในราชอาณาจักรไทย
“ในความเห็นของผม กรณี พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 ไม่ได้กำหนดนิยามคำว่า “ราชอาณาจักร” ไว้ ตามหลักการวินิจฉัยประเด็นข้อกฎหมาย ควรต้องใช้คำนิยามดังกล่าวจากกฎหมายอื่นที่มีลักษณะใกล้เคียงกันมาใช้เทียบเคียง ซึ่งในที่นี้หมายถึงประมวลรัษฎากร เพราะเป็นกฎหมายที่ใช้จัดเก็บภาษีเหมือนกัน ดังนั้น การวินิจฉัยประเด็นข้อกฎหมายโดยไม่ได้คำนึงถึงหลักดังกล่าว อาจทำให้การบังคับใช้กฎหมายเกิดความขัดแย้ง ยกตัวอย่าง กรมสรรพากร จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากการบริโภคสินค้าและบริการ ส่วนกรมสรรพสามิตเก็บจากการบริโภคเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือยและสินค้าที่ให้โทษต่อร่างกาย แต่จากการที่กรมศุลกากรตีความว่าการขายน้ำมันไปยังแท่นขุดเจาะถือเป็นส่งออก ทำให้ต้องคืนภาษีสรรพสามิตให้เชฟรอน ขณะที่กรมสรรพากรคืน VAT ไม่ได้ เพราะศาลฎีกาเคยพิพากษากรณีขนน้ำมันไปขายที่แท่นขุดเจาะไม่ถือเป็นส่งออก เนื่องจากประมวลรัษฎากร มาตรา 2 กำหนดนิยามคำว่า “ราชอาณาจักร” ครอบคลุมไปถึงพื้นที่ไหล่ทวีป” นายชัยสิทธิ์ กล่าว
อนึ่ง จากกรณีที่ พ.ร.บ. ศุลกากร 2469 ไม่ได้กำหนดนิยามคำว่า “ราชอาณาจักรไทย” เอาไว้ จึงกลายเป็นประเด็นให้ศุลกากรตีความ กรณีบริษัท เชฟรอน (ประเทศไทย) จำกัด ซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ส่งขายให้ “เชฟรอน สผ.” เพื่อใช้เติมเครื่องจักรสำรวจและขุดเจาะน้ำมันบริเวณพื้นที่ “ไหล่ทวีป” ของอ่าวไทย ถือว่าเป็นการส่งออก หรือซื้อ-ขายสินค้าภายในประเทศ
โดยสำนักกฎหมาย กรมศุลกากรวินิจฉัยว่ากรณีบริษัทเชฟรอนฯ ขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงไปขายที่แท่นเจาะซึ่งอยู่นอกอาณาเขตไทย ถือเป็นการส่งออก ขณะที่หน่วยงานภายในกรมศุลกากร เช่น ด่านศุลกากรมาบตาพุด และด่านศุลกากรสงขลา มีความเห็นแตกต่างจากสำนักกฎหมาย โดยมองว่าเป็นการซื้อขายสินค้าภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ผลจากการตีความของกรมศุลกากรครั้งนั้น กรมสรรพสามิตได้คืนและยกเว้นภาษีให้บริษัท เชฟรอน รวมกว่า 3,000 ล้านบาท (ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีมหาดไทย เงินสบทบกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และกองทุนอนุรักษ์พลังงาน)
ดังนั้น เพื่อให้ประเด็นที่เป็นปัญหาค้างคามานานกว่า 5 ปี ได้ข้อยุติ นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร จึงทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอให้วินิจฉัยคำว่า “ราชอาณาจักร” ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายศุลกากร และการปฏิบัติพิธีการศุลกากรในการส่งสินค้าไปยังพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียม และนำสินค้าจากพื้นที่ดังกล่าวกลับเข้ามาในราชอาณาจักร และในระหว่างที่รอผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา นายกุลิศได้ทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงการคลัง ขอให้กรมสรรพสามิตชะลอการคืนภาษีน้ำมันให้บริษัท เชฟรอน จนกว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาจะมีคำวินิจฉัย
และเนื่องจากประเด็นข้อหารือดังกล่าวเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ ที่ผ่านมา กรมศุลกากรยังไม่เคยหารือกับส่วนราชการทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 3) ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมศุลกากร แนะนำให้กรมศุลกากรไปหารือกับกระทรวงพลังงานและกระทรวงต่างประเทศให้ได้ยุติก่อน หากมีประเด็นปัญหาข้อกฎหมายที่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ ก็ให้ส่งเรื่องมาให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาต่อไป
จากความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาครั้งนั้น กรมศุลกากรจึงได้จัดประชุมร่วมกับกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติพิธีการศุลกากร สำหรับการนำสินค้าออกไปใช้ในพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียม ผลการประชุม 3 หน่วยงาน ได้ข้อสรุปว่า “การปฏิบัติพิธีการศุลกากร กรณีดังกล่าวนี้จะพิจารณาจากสินค้าที่จะมีการขนส่งเป็นหลัก กล่าวคือ หากเป็นการส่งสินค้าเพื่อใช้ในกิจการปิโตรเลียมแล้ว ให้ถือว่าพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียมดังกล่าวเป็นราชอาณาจักรไทย ภายใต้บทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และให้ปฏิบัติพิธีการศุลกากรสำหรับการค้าชายฝั่งโดยอนุโลม”
วันที่ 31 สิงหาคม 2559 นายกุลิศ จึงทำหนังสือแจ้งผลการประชุม 3 หน่วยงาน ให้ปลัดกระทรวงการคลังรับทราบ และเพื่อใช้ประกอบการพิจารณากรณีการคืนภาษีน้ำมันต่อไป”