xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” เร่ง สตง.บี้ยึดเงิน 48 ล้าน คดีเชฟรอนเข้าแผ่นดิน ตามเก็บภาษีสามิตกับภาษีกองทุนน้ำมันด้วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางสาวรสนา โตสิตระกูล (แฟ้มภาพ)
“รสนา” บี้ คตง. และ ผู้ว่าการ สตง. เร่งรัดยึดเงิน 48 ล้าน คดีจับเรือเชฟรอน เข้าเป็นรายได้แผ่นดิน รวมถึงเก็บภาษีสรรพสามิตกับภาษีกองทุนน้ำมันด้วย ชี้ อายุความเรียกเก็บภาษีเริ่มทยอยหมดอายุ ยิ่งตีความเขตไหล่ทวีปช้า รัฐยิ่งเสียหาย ผู้เตะถ่วงควรร่วมกันรับผิดชอบเหมือนกรณีจำนำข้าวฐานละเว้นตาม ม.157

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ย. นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว. กรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้ส่งหนังสือร้องเรียนถึงคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และผู้ว่าการ สตง. ให้ตรวจสอบคดีเชฟรอน ตามเนื้อความดังนี้

“สืบเนื่องจากคดีที่เรือ 8 ลำของบริษัท เชฟรอนสำรวจและผลิต (สผ.) จำกัด ได้ใช้น้ำมันที่มีมาร์กเกอร์ว่าเป็นน้ำมันส่งออกมาวิ่งในน่านน้ำอ่าวไทย และถูกจับได้ที่ด่านสงขลา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557

บริษัท เชฟรอน สผ.จำกัด ทำเรื่องขอระงับคดีกับด่านศุลกากรที่สงขลา โดยยอมให้ยึดน้ำมันจำนวนกว่า 1 ล้าน 6 แสนลิตร โดยด่านศุลกากรสงขลาได้ขายน้ำมันจำนวนดังกล่าวเป็นเงิน 48 ล้านบาท และยึดไว้เพื่อรอส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน

เนื่องจากมูลค่าของเงินที่ยึดไว้เกินกว่า 5 แสนบาท ด่านสงขลาไม่สามารถอนุมัติการระงับคดีได้เอง จึงต้องส่งไปให้คณะกรรมการเปรียบเทียบระงับคดีตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พิจารณาอนุมัติ แต่จนถึงบัดนี้เวลาล่วงเลยมาเกินกว่า 2 ปี แต่คณะกรรมการชุดดังกล่าวก็ยังมิได้อนุมัติการระงับคดีดังกล่าว เพื่อจะได้นำส่งรายได้ 48 ล้านบาท เข้าเป็นงบประมาณแผ่นดิน

จึงขอร้องเรียนมายังคณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

1) ให้มีการตรวจสอบสำนักกฎหมายกรมศุลกากร และเร่งรัดคดีนี้เพื่อจะได้นำส่งเงินที่ยึดไว้ 48 ล้านบาทส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดินโดยเร็ว

2) ประการต่อมา สืบเนื่องจากการประชุมของกระทรวงการคลัง เพื่อหารือเกี่ยวกับการดำเนินการพิธีการศุลกากร กรณีการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงไปยังพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียมในเขตไหล่ทวีปบริเวณทะเลอ่าวไทยเมื่อวันศุกร์ที่ 16 กันยายน 2559 ในหน้า10 ย่อหน้าที่2 นางจิตรา ณีศะนันท์ นักตรวจสอบภาษีชำนาญการชี้แจงว่า “ในกรณีของบริษัท เชฟรอนฯ [บริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด] จะต้องถือว่าเป็นการนำเข้าเนื่องจากบริษัท เชฟรอนฯ ยังคงเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (vat) อยู่ แต่ฐาน vat อาจจะไม่ตรง เนื่องจากตอนที่มีการซื้อเข้ามา ราคายังไม่ได้รวมภาษีสรรพสามิตกับภาษีกองทุน ซึ่งมีแต่ราคาขาย จึงเป็น vat ที่แจ้งไว้เป็นจำนวนที่ต่ำ ซึ่งทางบริษัท เชฟรอนฯ ซื้อน้ำมันจากโรงกลั่นน้ำมันจากราชอาณาจักรไปยังแท่นขุดเจาะน้ำมัน จะต้องถือเป็นการขายภายในราชอาณาจักร แต่เนื่องจากภาษีสรรพสามิตขอยกเว้นจึงทำให้ฐานของ vat หายไปจากภาษีสรรพสามิตที่ยกเว้นรวมถึงภาษีกองทุนด้วย”

โดยที่การออกหมายเรียกเพื่อประเมินภาษี มีอายุความ 5 ปี หากกรณีนี้ปล่อยให้เนิ่นช้าไป อาจทำให้คดีดังกล่าวหมดอายุความ เป็นการเสียประโยชน์ของแผ่นดิน ที่จะไม่สามารถเรียกเก็บภาษีที่รัฐควรจะได้รับอย่างครบถ้วน

จึงเรียนมาเพื่อให้ขอให้ทางคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินโปรดพิจารณาดำเนินการตรวจสอบทั้ง 2 กรณีโดยเร่งด่วน”

ต่อมาวันที่ 5 พ.ย. นางสาวรสนา ได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก “รสนา โตสิตระกูล” ว่า “หากต้องรอคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความข้อกฎหมายเรื่องนี้ใหม่อีกครั้ง ซึ่งไม่ทราบว่าจะใช้เวลานานสักเท่าไหร่ ถ้าคณะกรรมการกฤษฎีกาต้องใช้เวลาตีความกฎหมายนานสัก1 ปี หมายความว่า ประเทศชาติต้องเสียประโยชน์เรื่องภาษีที่รัฐจะเรียกคืนจากบริษัทน้ำมันไปนานเท่านั้น

ยิ่งกว่านั้นภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัท เชฟรอนฯ ได้จ่ายให้กรมสรรพากรไว้ต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะเป็นการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานราคาเนื้อน้ำมันที่ยังไม่ได้รวมภาษีสรรพสามิตและกองทุนน้ำมัน

หากมีการสรุปได้ว่าการส่งน้ำมันไปที่แท่นขุดเจาะ คือ การค้าชายฝั่งที่ต้องเสียภาษีตามปกติ จะต้องมีการเรียกเก็บภาษีคืนจากบริษัท เชฟรอนฯ ก็จะยังมีปัญหาเกี่ยวกับการเรียกประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะการออกหมายเรียกบริษัทน้ำมันมาประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม มีอายุความ 5 ปี กรณีนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2554 จึงอาจมีภาษีมูลค่าเพิ่มบางส่วนที่หมดอายุความไปแล้วไม่สามารถเรียกคืนได้ และถ้ายิ่งปล่อยให้การจัดการเรื่องนี้เนิ่นช้าออกไป ก็หมายถึงจะมีภาษีมูลค่าเพิ่มที่ประเมินไม่ถูกต้องทะยอยหมดอายุความไปเรื่อยๆโดยที่รัฐเรียกเก็บไม่ได้

จึงขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีคลัง ปลัดคลัง อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมสรรพากร และผู้บริหารท่านใดก็ตามที่เห็นร่วมกันว่าต้องยื้อเวลาเพื่อตีความเรื่องนี้ใหม่อีกครั้งเพื่อให้ความเป็นธรรมกับข้าราชการและบริษัทน้ำมัน ก็ช่วยพิจารณาให้ความเป็นธรรมต่อประเทศด้วย กล่าวคือ หากกฤษฎีกาวินิจฉัยซ้ำอีกว่าการส่งน้ำมันไปยังแท่นขุดเจาะในพื้นที่ไหล่ทวีป ถือว่าเป็นการค้าขายในราชอาณาจักร ที่ต้องเสียภาษี ก็ขอให้บุคคลที่กล่าวถึงข้างต้น แสดงความรับผิดชอบภาษีที่รัฐเรียกคืนไม่ได้ โดยคนเหล่านี้ร่วมกันรับผิดชอบจ่ายคืนความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่รัฐเหมือนกรณีจำนำข้าวด้วย ทั้งนี้ นอกเหนือจากความผิดในฐานการละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157”


กำลังโหลดความคิดเห็น