xs
xsm
sm
md
lg

วิษณุชี้คสช.มีอำนาจยุบสภา ยันไม่เคยบอกใช้ม.44

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

"วิษณุ" แจงรัฐบาล คสช. ยังมีอำนาจยุบสภา หากเลือกนายกฯไม่ได้ภายใน6 เดือน ยันไม่เคยบอกใช้ ม.44 ยุบสภา "สุริยะใส"ชี้ยังมี ม.5 ในรธน.ใหม่ ใช้ผ่าทางตันได้โดยไม่ต้องยุบสภา "สมชัย" ชี้ยุบสภา ทำได้ แต่จะคุ้มกับเงิน 3 พันล้านที่ต้องใช้เลือกตั้งใหม่หรือไม่ "วัชระ"ยันปชป.ไม่จับมือกับพท.ตั้งรัฐบาล เพื่อสกัดนายกฯคนนอก

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ หลังจากที่ตนออกมาพูดถึงกรณีหลังเลือกตั้งแล้ว ไม่สามารถหาผู้ที่จะมาเป้นนายกรัฐมนตรีได้ภายใน 6 เดือน รัฐบาลคสช. ก็สามารถยุบสภาเลือกตั้งใหม่ได้ว่า กรณีหลังการเลือกตั้งแล้วไม่สามารถเลือกนายกฯได้ ถือเป็นทางตัน รัฐบาลชุดนี้เมื่อยังทำหน้าที่อยู่ ก็ต้องหาทางออก ซึ่งทางออกที่ว่า เป็นทางออกตามระบอบประชาธิปไตย คือการคืนอำนาจให้กับประชาชน ยืนยันว่ารัฐบาลมีอำนาจในการยุบสภา โดยใช้พระราชกฤษฎีกายุบสภา ตามรธน.ฉบับใหม่ เหมือนที่เคยทำกันมา และไม่สามารถใช้อำนาจตาม มาตรา 44 ของรธน.ชั่วคราว 2557 ประกาศยุบสภาได้ 
 
นายวิษณุ กล่าวยืนยันว่า ตนไม่เคยบอกว่าใช้ มาตรา 44 ในการยุบสภา แต่ที่ตนพูดถึง มาตรา 44 ในวันที่พูดเรื่องนี้ เป็นเพียงการอธิบายว่า เมื่อยังไม่มีรัฐบาลใหม่ รัฐบาลชุดนี้ คสช. และ ม.44 ยังมีอยู่เท่านั้น แต่ไม่ได้บอกว่าสามารถใช้ ม. 44 ในการยุบสภา

** สุริยะใสชี้ยังมี ม.5ผ่าทางตันได้

นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวถึงกรณีนายวิษณุ กล่าวถึง การผ่าทางตัน กรณีที่ไม่สามารถเลือกนายกฯได้ภายใน 6 เดือนหลังการเลือกตั้ง คสช.ก็ยังสมารถใช้ ม.44 ยุบสภา ให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ว่า ตนเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ ที่จะเกิดกรณีที่ คสช.ต้องใช้ ม.44 ยุบสภา เพราะคำวินิจฉัยของศาลรธน. กรณีคำถามพ่วง ก็ชัดเจนในตัวเองอยู่แล้ว กรณีเลือกนายกฯจากบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอไม่ได้ ก็เพิ่มบทบาทส.ว.สรรหา เข้ามาปลดล็อกอีกทางหนึ่งอยู่แล้ว หรือถ้าสุดท้ายแล้วรัฐสภา เลือกนายกฯไม่ได้จริงๆ ก็ยังมีมาตรา 5 ในร่างรธน. ฉบับลงประชามติ ที่ระบุในวรรคสาม ว่า เมื่อมีกรณีตามวรรคสองเกิดขึ้น ให้ประธานศาลรธน. จัดให้มีการประชุมร่วมระหว่างประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานองค์กรอิสระ เพื่อวินิจฉัย ซึ่งเป็นการนำ มาตรา 7 ในรธน.ปี 50 และฉบับก่อนหน้านี้ มาขยายเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความชัดเจนในแนวปฏิบัติ และเป็นการผ่าทางตันการเมืองไทย ซึ่งมีเหตุเกิดขึ้นบ่อยในช่วงหลังๆ จนนำไปสู่วิกฤติ และเกิดการรัฐประหารที่ผ่านมา จึงเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ ที่จะถึงขั้นใช้คำสั่ง คสช. มาตรา 44 ยุบสภาทิ้งไป ทั้งๆที่ประชาชนเพิ่งเลือกตั้งมา

** ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ต้องใช้ 3 พันล.

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. กล่าวถึง กรณีนายวิษณุ ระบุรัฐบาลอาจใช้ ม.44ตามรธน.ชั่วคราว ยุบสภา หากรัฐสภาเลือกนายกฯไม่ได้ ว่า รธน.กำหนดว่า หากพรรคการเมืองไม่สามารถเลือกนายกฯ จากบัญชีพรรคการเมืองได้ ก็เปิดทางให้เลือกนายกฯจากคนนอกได้ เพื่อไม่ให้เกิดเดดล็อกทางการเมือง ส่วนการยุบสภา ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ทางกฎหมายสามารถทำได้ เพราะถ้าหาก ส.ส.ตกลงกันไม่ได้ที่จะให้มีนายกฯ มาจากส.ส. และไม่อยากได้นายกฯ ที่เป็นคนนอก การยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ก็สามารถทำได้

"การยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ ต้องมีค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งแต่ละครั้งสูงถึง 3,000 ล้านบาท และไม่แน่ใจว่าการยุบสภา จะได้นายกฯที่มาจากส.ส.ทันทีเลยหรือไม่ แต่หากพรรคการเมืองไปตกลงกัน รวมเป็นหนึ่งเดียวได้เสียงข้างมากในสภาฯ แล้วเลือกนายกฯ ที่เป็นส.ส.ก็จะได้ไม่ต้องยุบสภา ซึ่งแนวทางนี้น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่ทั้งนี้ กกต.ในฐานะผู้ปฏิบัติ ยินดีที่จะจัดการเลือกตั้ง จะเลือกตั้งกี่ครั้ง เราทำได้อยู่แล้ว เพียงแต่จะคุ้มหรือไม่ และเป็นประโยชน์หรือไม่ ก็ต้องกลับไปคิดเอา"

**อดีต40ส.ว.ยุ ปชป.-พท.จับมือ

นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีต สปช. และแกนนำกลุ่ม40 ส.ว. กล่าวว่า การเลือกตั้งทั่วไปปลายปีหน้าจะไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาดพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ จากวินิจฉัยของศาลรธน. เรื่องคำถามพ่วง และจากตัวบทรธน. ที่ให้ ส.ส. กับ ส.ว.ร่วมกันให้ความเห็นชอบในการตั้งนายกฯ ทำให้การตั้งรัฐบาลมีทางเลือกจำกัด

1. ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย หรือพรรคประชาธิปัตย์ ไปร่วมกับพรรคขนาดกลาง และพรรคขนาดเล็ก เพื่อตั้งรัฐบาลโดยอาศัยเสียง ส.ว.สนับสนุนในการประชุมเลือกนายกฯ หลังจากได้นายกฯแล้วส.ว.ไม่ได้มาค้ำจุน หรือคัดค้านอะไรได้ ภาระกิจในการผ่านกฏหมาย ผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในสภาผู้แทนราษฎร จำกัดวงอยู่เพียง ส.ส. 500 คนเท่านั้น ส.ว.ไม่ได้มาร่วมสังฆกรรมอะไรด้วย ทางเลือกนี้ทำให้ได้รัฐบาลเสียงข้างน้อย หรืออาจเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ จะง่อนแง่น และบริหารงานยาก

2. หากประชาธิปัตย์และเพื่อไทย สองพรรคใหญ่แข็งขืนต่อกัน ตกลงกันไม่ได้ ในชั้นสภาผู้แทนราษฎร แปลว่าต้องเปิดทางไปสู่ก๊อกสอง กล่าวคือ ส.ส.บวก ส.ว.จำนวนเกินครึ่งของสมาชิกรัฐสภา คือมากกว่า 375 คน เข้าชื่อขอเปิดไฟเขียวให้แก่นายกฯคนนอก และในการประชุมเพื่อการนี้ จะต้องได้เสียงสองในสาม คือเกินกว่า 500 เสียง นายกฯ คนนอกจึงเข้ามาได้

3. พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย จะทำอย่างไร ในเมื่อการตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย อยู่ได้สัปดาห์เดียวแล้วถูกคว่ำ เป็นวิธีที่ไม่มีใครปรารถนา ทางเลือกมีจึงเหลือเพียงสองทาง ระหว่างการมีรัฐบาลที่ได้นายกฯ จากคนนอก กับอีกทางคือ สองพรรคนี้จับมือกันตั้งรัฐบาล

ทั้งนี้ ความจริงการจัดตั้งรัฐบาลสองหรือสามพรรคใหญ่ เคยเกิดขึ้นแล้วในเยอรมัน อิตาลี และออสเตรีย ภาษาอังกฤษเรียกว่า Grand Coalition อันที่จริงการมีรัฐบาลเช่นนี้ก็สะท้อนเจตนารมย์ประชาชนว่า ต้องการให้พรรคที่ได้คะแนนสูงสุดมาบริหารบ้านเมือง และจะว่ากันไปแล้วรัฐบาลแบบนี้อาจมีคุณูปการต่อบรรยากาศการปรองดองหรือไม่

"ผมไม่ได้บอกว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ไม่ได้ชี้ว่าดี หรือไม่ดี แต่ดูเหมือนจะเป็นหมากที่บังคับตาเดิน พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย ที่เสียงแข็งในวันนี้ ถึงวันนั้นอาจต้องทบทวนก็ได้" นายประสาร กล่าว

**อย่าด่วนสรุปว่าจะได้นายกฯคนนอก

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่บางฝ่ายยังคาใจ ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรธน. และมองว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวจะทำให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกว่า ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพในคำวินิจฉัยของศาลรธน. ถึงแม้จะไม่เห็นด้วย หรือเห็นด้วยก็ตาม เมื่อมีคำวินิจฉัยออกมาแล้ว ทุกภาคส่วน ทุกองค์กร ต้องปฏิบัติตาม เชื่อว่าศาลรธน.ไม่ได้วินิจฉัยเพื่อให้เกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่น่าจะวินิจฉัยไปตามเนื้อหา เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติบ้านเมือง

"การด่วนสรุปว่า คำวินิจฉัยของศาลรธน. จะทำให้ไม่ได้นายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง แต่จะได้จากคนนอกนั้น จึงเร็วเกินไป"

อย่างไรก็ดี ถึงแม้รธน. จะบัญญัติให้มีส.ว.จากการแต่งตั้ง โดยคสช.ถึง 250 คน โหวตเลือกนายกฯได้ เพียงหาจำนวนส.ส. จากสภาผู้แทนราษฎร อีกเพียง 126 คน ก็จะทำให้ได้เสียงเกินครึ่งของสมาชิกรัฐสภา สามารถมีนายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาลได้ แต่การที่รัฐบาลจะบริหารงานได้ราบรื่น ควรมีส.ส. สนับสนุนเกิน 250 คน น่าจะปลอดภัยกว่า เพราะการบริหารงานของรัฐบาลที่ราบรื่น ควรมีส.ส.เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนฯ คือเกิน 250 คน ก็จะช่วยให้รัฐบาลสามารถผ่านกฎหมายได้ ผ่านงบประมาณได้ ผ่านอภิปรายไม่ไว้วางใจได้

ทั้งนี้ เนื่องจากเวลารัฐบาลบริหารงาน ไม่มีเสียงของ ส.ว. 250 คน มายกมือสนับสนุนด้วย เพราะเป็นเรื่องของรัฐบาล กับส.ส. ที่จะทำงานบริหารประเทศ

เพราะฉะนั้น การมีส.ว. สนับสนุนนายกรัฐมนตรีคนนอกถึง 250 คน ก็ยังไม่เพียงพอ ต้องได้เสียงสนับสนุนจากส.ส.เกิน 250 คนด้วย ถึงจะช่วยทำให้นายกรัฐมนตรีทำงานได้ จึงยังไม่มีอะไรแน่นอนขณะนี้ว่านายกรัฐมนตรีหลังจากการเลือกตั้งจะเป็นคนนอก หรือ นายกฯจากบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง

**ยัน ปชป.ไม่จับมือ พท.ตั้งรัฐบาล

นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย เรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ จับมือกับพรรคเพื่อไทย จัดตั้งรัฐบาล เพื่อสกัดนายกรัฐมนตรีคนนอก ว่า ตนขอยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่สามารถจับมือกับพรรคที่เคยเผาบ้านเผาเมือง หรือพรรคที่มีบุคคลที่มีส่วนพัวพันในการหมิ่นสถาบันหลักของชาติ หรือพรรคที่เคยมีส่วนในการโกงเงินชาติมหาศาล โดยตราบใดที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรค จะไม่มีวันจับมือกับพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลโดยเด็ดขาด แม้ว่าอาจจะมีบางคนมีความฝันอยากเป็นรัฐมนตรี ถึงขั้นคิดจะไปจับมือกับพรรคเพื่อไทยก็ตาม แต่ความเป็นเอกภาพของคณะผู้บริหารพรรค จะไม่ทำให้ประชาชนผิดหวังเด็ดขาด

** อยากได้ "บิ๊กตู่" อย่าเลือกพรรคใหญ่

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ผู้ริเริ่มก่อตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป กล่าวว่า การที่ใครจะได้เป็นนายกฯ อยู่ที่การตัดสินใจของประชาชน ซึ่งเชื่อว่าประชาชนจะใช้ทุกสูตร เพื่อให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกฯอีกครั้ง เพราะมีคุณสมบัติ 3 ด้าน คือ 1.คนดี 2. ซื่อสัตย์ และ 3. มีความสามารถ ซึ่งถือว่าเหมาะสมที่สุดในสถานการณ์บ้านเมืองยุคเปลี่ยนผ่าน ขณะที่นักการเมืองคนอื่นๆ ที่เสนอตัวเป็นนายกฯ ไม่มีใครมีคุณสมบัติครบทั้ง 3 ข้อนี้
นายไพบูลย์ กล่าวว่า แม้ขณะนี้กระแสสังคมจะบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะได้รับเลือกเป็นนายกฯ คนนอกอีกครั้ง แต่ก็อย่าพึ่งไว้วางใจ เพราะหากหลังการเลือกตั้ง สมมุติว่า 2 พรรคใหญ่ ได้คะแนนเสียงรวมกันเกิน 376 เสียง หรือ เสียงเกินกึ่งหนึ่ง ที่จะสนับสนุนผู้เหมาะสมเป็นนายกฯ จากจำนวน 750 เสียงของรัฐสภา ก็เชื่อได้ว่า 2 พรรคใหญ่ จะจับมือร่วมกันเป็นรัฐบาล โดยพรรคเพื่อไทย จะเทคะะแนนให้พรรคอันดับสอง ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ตามบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง และพรรคเพื่อไทย ก็จะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ค่อยถ่วงดุลพรรคการเมืองที่ได้เป็นนายกฯ ในฝ่ายนิติบัญญัติ อย่างเช่น การอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากพรรคอันดับที่ 2 ไม่สนองนโยบาย เพราะพรรคเพื่อไทยเชื่อว่า จะมีคะแนนเสียงในสภาฯ เป็นอันดับ 1

"ในช่วงนี้ แม้จะเห็นข่าวว่า 2 พรรคใหญ่ ประกาศไม่มีทางจับมือกันแน่นอน ก็อาจเป็นเพียงละคร เพราะพวกเขาไม่ต้องการให้เสียคะแนนนิยม แต่หากผลการเลือกตั้งออกมา 2 พรรคใหญ่ได้เกิน 376 คน รับรองร่วมมือเป็นรัฐบาลแน่นอน และจะมีข้ออ้างกับสังคมตามมา เพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองได้ในที่สุด"

นอกจากนี้ ยังมีอีกสูตร เพื่อป้องกันความขัดแย้งของ 2 พรรคใหญ่ ก็อาจจะให้คนจากบัญชีพรรคการเมืองของพรรคขนาดกลาง ที่ 2 พรรคใหญ่ยอมรับได้ ขึ้นเป็นนายกฯ ก็ได้ ดังนั้นในฐานะพรรคประชาชนปฏิรูป จึงขอตรวจสอบถ่วงดุล 2 พรรคการเมืองใหญ่ เพื่อไม่ให้เกิดการจับมือกันได้สำเร็จ พร้อมผลักดันนายกฯ คนนอก ก็คือพล.อ.ประยุทธ์ ให้เป็นนายกฯอีกสมัย จึงอยากขอร้องประชาชน หากใครต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯอีกครั้ง ก็อย่าเลือกผู้สมัคร ส.ส.จากพรรคการเมืองใหญ่ ให้เข้ามาจำนวนมาก.
กำลังโหลดความคิดเห็น