xs
xsm
sm
md
lg

ข้าวลาม853คดี ไล่เช็กบิลจนท.รัฐ-โรงสี "บิ๊กต๊อก"เล็งใช้ม.44ฟัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"วิษณุ" เผยป.ป.ท.ขีดเส้น 6 เดือน ฟันอาญาเจ้าหน้าที่ทุจริตจำนำข้าว 853 คดี ก่อนเรียกค่าเสียหายต่อ เผยคนที่อยู่ในข่าย อาทิ อ.ต.ก.-อคส.-ธ.ก.ส. -โรงสี รวมทั้ง กขช. "ยุคยิ่งลักษณ์" โดนบางคน แจงปมข้าราชการล็อต 8 ร่วมกันทำผิด ย้ำ"พล.ต.อ.วุฒิ" เต็มใจมาทำงานที่ใหม่ "บิ๊กต๊อก" ยันจะเสนอใช้ ม.44 หากผลสอบคดีรับนำจำข้าวได้ข้อยุติ ด้าน "ยิ่งลักษณ์" ส่งทนายร้อง "บิ๊กตู่" ทบทวนค่าเสียหายจำนำข้าว เหตุไม่ทำตามกฎหมาย แบ่งความรับผิดไม่ชัดเจน จ่อร้องเวทีโลกตามช่องทางที่กฎหมายเอื้ออำนวย

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง การเรียกค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวจากผู้ที่เกี่ยวข้องอีก 80% นอกเหนือจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ต้องรับผิดชอบไป 20 % ว่า ที่ส่งมาจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีน.ส.ยิ่งลักษณ์ คนเดียว ส่วนที่เหลืออีก 80% ต้องมีคนที่เกี่ยวข้อง 2 กลุ่ม คือ ฝ่ายปฏิบัติที่เป็นเจ้าหน้าที่ ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ตั้งเป็นคดีแล้ว 853 คดี ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ขององค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) องค์การคลังสินค้า (อคส.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และ เอกชนจำนวนมาก เช่น โรงสี พฤติกรรมเป็นการแจ้งว่า ไม่มีข้าวในโกดังแต่แจ้งว่ามีข้าว หรือการซื้อขายโดยรับ-จ่ายเงินไม่ถูกต้อง โดยเป็นข้อมูลการตรวจสอบมาจากคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ ที่มี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีการสอบเพิ่มเติมมาเรื่อยๆ จนได้จำนวนคดีมา ครอบคลุม 33 จังหวัด แต่ที่น่าสังเกตจังหวัดที่มีคดีมากคือ กำแพงเพชร 100 คดี และ นครสวรรค์ 200 คดี ซึ่งกลุ่มนี้ต้องดำเนินการทางคดีอาญาต่อไป โดยป.ป.ท.ระบุว่า จะสามารถส่งฟ้องศาลได้ภายใน 6 เดือน และจะดำเนินเรียกรับผิดทางละเมิดต่อไป ซึ่งต้องประสานงานกับกระทรวงต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่นั้นๆ อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และ กระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ การดำเนินการเรียกรับผิดทางละเมิดกับส่วนที่เหลือ 80% นี้ ยังไม่ได้มีการนับอายุความ เพราะจะเริ่มเมื่อรู้ตัว และรู้การกระทำผิด คือเมื่อผู้บังคับบัญชาของบุคคลนั้นๆรับรู้

รองนายกฯ กล่าวว่า ส่วนฝ่ายนโยบาย ที่วันนี้ได้ตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาแล้ว 1 คน ซึ่งอาจมีคนอื่นเพิ่มเข้ามาอีก ก็มีการเพ่งเล็งกันอยู่ แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงมีมติมอบให้ ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ไปตรวจสอบเพิ่มเติม ส่วนจะมีคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ในขณะนั้นด้วยหรือไม่นั้น ถือว่าอยู่ในข่าย แต่ใครจะต้องรับผิด เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ได้เหมารวมกขช.ทั้งหมด หากคนที่ถูกป.ป.ช. ตรวจสอบแล้ว ปรากฏว่าไม่ผิด อาจไม่มีเหตุให้ไปรื้อ เพราะป.ป.ช.เคลียร์แล้ว แต่ถ้าหลุดไปเพราะป.ป.ช.ยังสอบไม่ถึง ถือเป็นหน้าที่ของ ศอตช. ต้องไปดูเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า เราไม่ได้บอกว่าคนให้นโยบายเป็นผู้ทุจริต จึงตั้งความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อย่างคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โทษทางอาญาไม่ได้หนักอะไร แต่สำหรับคนเป็นนักการเมือง โทษหนักเบาไม่ได้เท่ากับความเสียหาย เพราะเมื่อมาจากการเลือกตั้ง ย่อมมีอำนาจในการกำหนดนโยบายช่วยเหลือชาวนาอย่างไรก็ได้ แต่ต้องทำนโยบายนั้นให้มีกฎหมายรองรับ และการปฏิบัติสุจริตไม่ปล่อยปละละเลยให้มีการกระทำความผิด

**เผย "วุฒิ" สมัครใจเป็นผู้ตรวจฯ

นายวิษณุ ยังกล่าวถึง การประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่อยู่ระหว่างถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 8 โดยเฉพาะที่ จ.มหาสารคาม มีรายชื่อจำนวนมาก ว่า เนื่องจากที่ จ.มหาสารคาม มีการกระทำร่วมกันทั้งหมด ส่วนจะจริงหรือไม่ ต้องสอบสวน

"การพักราชการบางคน เพื่อต้องการให้บุคคลนั้นเปิดปากสารภาพว่าใครเป็นคนทำ ใครเป็นคนสั่ง จะได้สาวตามไป" นายวิษณุ กล่าว

สำหรับการตรวจสอบข้าราชการล็อตก่อนหน้านี้ มีการดำเนินการบ้างแล้ว อย่างไรก็ตาม หากหน่วยงานที่ตรวจสอบอื่นๆ ระบุว่าบุคคลนั้นไม่ได้ทำผิด แต่ถ้าป.ป.ช. ยังขอตรวจสอบต่อ ก็ต้องดำเนินต่อไป

ส่วนเรื่องการย้าย พล.ต.อ.วุฒิ ลิปตพัลลภ รอง ผบ.ตร. มาดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการพิเศษ นั้น เป็นเรื่องคุณงามความดี ความชอบ เพื่อมาเป็น ซี 11 ซึ่งท่านเป็นคนสมัครใจมา เพราะตามกฎหมายข้าราชการตำรวจ ระบุว่า ข้าราชการตำรวจจะไปเป็นข้าราชการประเภทอื่น ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าตัว ซึ่งท่านคงอยากทำอะไรที่ตัวเองสบายใจกว่า ตนไม่ได้บอกว่าที่นั่นบีบคั้นอะไร อย่างตอนที่ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ อดีต รอง ผบ.ตร. ย้ายมา ก็ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าตัวก่อน ซึ่งก็เหมือนกับ พล.ต.อ.วุฒิ ที่ยินยอมมา เพราะการมาอยู่ที่ใหม่ มีงานทำที่ถนัด อยู่ที่เดิมอาจจะโดนมอบหมายงานที่ไม่สะดวกใจ อีกทั้งอีก 1 ปี ก็จะเกษียณอายุราชการ การมาอยู่ที่นี่ ได้เลื่อนขั้นขึ้น ซี 11 คงมีความสบายใจมากกว่า และเมื่อดูประวัติย้อนหลัง พล.ต.อ.วุฒิ เป็น พล.ต.อ. มา 5 ปี เป็น รอง ผบ.ตร. มา 5 ปี มีความอาวุโสอันดับที่ 1 จึงมีความสมควรที่จะขึ้นเป็น ซี 11

นายวิษณุ ยังกล่าวถึง การย้าย นายเกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการพิเศษ ว่า เป็นการมาด้วยวิธีปกติ ส่วนสาเหตุนั้น ตนไม่ทราบ แต่เมื่อจะปรับปรุงงานให้ดีขึ้น ก็ต้องนำคนที่สามารถทำงานได้เข้ามา อย่างที่ผ่านมา นางเมธินี เทพมณี ถูกโยกย้ายจากปลัดกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ (ไอซีที) สุดท้ายได้ดำรงตำแหน่งใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม คือ เลขาธิการก.พ. ซึ่งของแบบนี้ แล้วแต่วาสนา

สำหรับ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ รองเลขาธิการ ครม. ยอมรับว่า มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นเลขาธิการครม. แต่จะได้เป็นหรือไม่ อยู่ที่นายกฯ เป็นผู้พิจารณา

"บิ๊กต๊อก"เตรียมเสนอใช้ ม.44 ลุย

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) กล่าวถึง เรื่องจำนำข้าว ที่ครม.ส่งเรื่องให้เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบของ ศอตช. เพื่อจะบูรณาการหาผู้ที่รับผิดชอบว่า หน่วยงานที่ตรวจสอบทั้งหลายต่างคนต่างทำเริ่มจะมีปัญหาในการให้ข้อมูลต่างๆ จึงต้องเข้ามาที่ ศอตช. ซึ่งตนต้องเข้าไปศึกษารายละเอียดก่อน และไม่ใช่ทุกเรื่องทั้งหมด เพราะองค์กรอิสระ ตนไม่สามารถจะไปสั่งการใดๆ ทั้งสิ้น และเราก็ไม่ควรไปก้าวก่ายงานของเขาด้วย จึงขอให้รอเวลา และถ้าวันไหนมีการส่งเรื่องนี้มาให้ ศอตช. จะเรียนให้ทุกท่านทราบอีกครั้ง

ทั้งนี้ ศอตช.ไม่สามารถทำงานเชิงรุกได้ เพราะไม่มีเครื่องมือ และไปสั่งการองค์กรอิสระไม่ได้ แต่ถ้าท้ายสุดแล้วจะมาใช้ ศอตช. บูรณาการทำงานร่วมกัน ก็ใช้อำนาจทางวินัยและการปกครอง ตนก็เชื่อมกับรัฐบาลได้ เพราะศอตช. เป็นเรื่องของรัฐบาล เพื่อออก มาตรา 44 ให้กับหน่วยงาน แต่ก็ต้องเสนอมา หรืออาจจะเสนอมาให้เชิญหน่วยงานอื่นมาร่วมประชุมก็สามารถทำได้ ตนก็ใช้อำนาจหน้าที่ตรงนี้ เช่น สตง. อาจจะขาดเรื่องนี้ ขอให้เชิญกระทรวงนั้นมาร่วมประชุม เราก็จะเชิญให้ได้

"ส่วนกรณีที่มีคนมาร้องเรียนให้ ศอตช. ดำเนินการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวที่เกิดขึ้น สามารถทำได้ แต่ร้องแล้วก็ไม่ได้หมายความว่า จะเอามาดำเนินการตรวจสอบทันที ต้องส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เขารับผิดชอบตรวจสอบก่อน ถ้าเห็นว่าเขาทำได้ โดยไม่มีเรื่องที่ต้องให้ศอตช. ดำเนินการ มันก็ไม่ต้อง อย่างไรก็ตาม ผมยินดีที่จะทำให้สังคมเกิดความมั่นใจในระบบป้องกันและปราบปรามการทุจริตของรัฐบาลนี้ " รมว.ยุติธรรม กล่าว

** "ทนายปู"ร้อง"บิ๊กตู่"ทบทวน

เมื่อเวลา 10.30 น. วานนี้ (28ก.ย.) ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานก.พ. นายนพดล หลาวทอง ทนายความของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. และ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เพื่อขอให้บุคคลทั้งสองได้ทบทวน และวินิจฉัยสั่งการให้สอบสวนข้อเท็จจริงความผิดทางละเมิด ของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดและคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง ให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบ

นายนพดล กล่าวว่าการตรวจสอบของคณะกรรมการฯ ที่ผ่านมา ยังไม่ถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบกฎหมาย โดยเฉพาะการตรวจสอบเรื่องค่าเสียหาย ในส่วนที่จะให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ รับผิดชอบนั้น ยังไม่มีการตรวจสอบให้เกิดความชัดเจนว่าส่วนไหนที่ต้องรับผิด เป็นการแบ่งความรับผิดจากใคร ใครมีส่วนร่วมที่จะต้องรับผิดบ้าง และต้องรับผิดอย่างไร เป็นการประเมินโดยภาพรวมที่ยังไม่ถูกระเบียบ ทั้งที่เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนโยบายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะหากำไร อีกทั้งเพื่อสร้างเศรษฐกิจให้เจริญเติบโต จึงไม่ควรนำมาคิดหากำไร หรือขาดทุน และยังไม่เคยมีผู้กำกับนโยบายคนใดต้องรับผิดชอบค่าเสียหาย จากนโยบายสาธารณะมาก่อน

ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าว ขัดคำสั่งต่อกฎบัตรแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเรามีฝ่ายที่ดูแลเรื่องนี้อยู่ ก็จะดำเนินการต่อไปในทุกช่องทางที่กฎหมายให้สิทธิ ส่วนประเด็นที่ น.ส. ยิ่งลักษณ์ จะดำเนินการเช่นเดียวกับนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ ที่ประกาศจะนำ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นศาลด้วยหรือไม่นั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะเป็นคนตัดสินใจเอง

"ขอให้นายกฯ และ รมว.คลัง ทบทวน ทำให้ถูกต้อง อย่ารีบร้อน อันเป็นการละเมิดสิทธิของน.ส. ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้บอกว่าคดีของเราจะต้องยกเว้นเป็นกรณีพิเศษ ทั้งนี้ จะนำเรื่องการเรียกค่าเสียหายฟ้องศาลยุติธรรมก็ไม่ได้ทำให้ขาดอายุความ เพราะมีเวลาอีกมากในการเขียนคำฟ้อง ซึ่งผมก็สามารถทำได้ แต่ผมแปลกใจว่า ทำไมถึงใช้คำสั่งทางปกครอง ซึ่งอาจไม่เป็นธรรมกับอดีตนายกฯเท่าใดนัก" ทนาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำร้องที่นายนพดล นำมายื่นเพื่อโต้แย้งกระบวนการสอบข้อเท็จจริง และการสอบสวนของคณะกรรมทั้ง 2 ชุด ไม่เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบ อาทิ 1. แม้ พล.อ. ประยุทธ์และนายอภิศักดิ์ จะมอบให้ผู้ใดลงนามออกคำสั่งถึงน.ส. ยิ่งลักษณ์ ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่บุคคลทั้งสอง เป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้ายและสูงสุด จึงปฏิเสธ หรือโยนความรับผิดชอบให้คนอื่นไม่ได้ 2. การวินิจฉัยให้น.ส. ยิ่งลักษณ์ ต้องรับผิดแต่เพียงผู้เดียว ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 3.57 หมื่นล้านบาท ซึ่งไม่เป็นไปตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 8 วรรค 2 เพราะจะคิดสัดส่วนความเสียหายที่ต้องรับผิดยังไม่ได้ และ 3. ปัจจุบันน.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นอดีตเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่อาจนำพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาให้บังคับคดีนี้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น