รองนายกฯ แจง เรียกค่าเสียหายจำนำข้าวผู้ที่เกี่ยวข้องนอกจาก “ยิ่งลักษณ์” อีก 80% ป.ป.ท. ขีดเส้น 6 เดือน ฟันอาญา จนท. 853 คดี ก่อนเรียกค่าเสียหายต่อ ปัดยกเข่ง กขช. โดนบางคน ย้ำไม่ได้บอกคนให้นโยบายทุจริต แต่ผิดละเว้นหน้าที่ ชี้ พัก ขรก. ส่อทุจริต หวังให้สารภาพคนชักใย มหาสารคามชื่อแยะเหตุ ทำผิดทั้งคณะ ย้าย “วุฒิ” เจ้าตัวสมัครใจ คาด อยากทำอะไรสบายใจ ไม่ทราบเหตุย้ายปลัด ก.ทรัพย์
วันนี้ (28 ก.ย.) เมื่อเวลา 12.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเรียกค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวจากผู้ที่เกี่ยวข้องอีก 80% นอกเหนือจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ 20 % ว่า ที่ส่งมาจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ คนเดียว ส่วนที่เหลืออีก 80% มีคนที่เกี่ยวข้อง 2 กลุ่ม คือ ฝ่ายปฏิบัติ ที่เป็นเจ้าหน้าที่ ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ตั้งเป็นคดีแล้ว 853 คดี ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ขององค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) องค์การคลังสินค้า (อคส.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และเอกชนจำนวนมาก อาทิ โรงสี ตรงนี้เป็นข้อมูลการตรวจสอบมาจากคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐที่มี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีการสอบเพิ่มเติมมาเรื่อย ๆ จนได้จำนวนคดีมา ครอบคลุม 33 จังหวัด
นายวิษณุ กล่าวว่า แต่ที่น่าสังเกตจังหวัดที่มีคดีมาก คือ กำแพงเพชร 100 คดี และ นครสวรรค์ 200 คดี กลุ่มนี้ต้องดำเนินการทางคดีอาญาต่อไป โดย ป.ป.ท. ระบุว่า จะสามารถส่งฟ้องศาลได้ภายใน 6 เดือน และจะดำเนินเรียกรับผิดทางละเมิดต่อไป ซึ่งต้องประสานงานกับกระทรวงต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่นั้น ๆ อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และ กระทรวงการคลัง โดยการดำเนินการเรียกรับผิดทางละเมิดกับส่วนที่เหลือ 80% นี้ ยังไม่ได้มีการนับอายุความ เพราะจะเริ่มเมื่อรู้ตัวและรู้การกระทำผิด คือ เมื่อผู้บังคับบัญชาของบุคคลนั้น ๆ รับรู้
รองนายกฯ กล่าวว่า ส่วนฝ่ายนโยบาย ที่วันนี้ได้ตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาแล้ว 1 คน อาจมีคนอื่นเพิ่มเข้ามา มีการเพ่งเล็งกันอยู่ แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงมีมติมอบให้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ไปตรวจสอบเพิ่มเติม ส่วนจะมีคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ในขณะนั้นด้วยหรือไม่นั้น ถือว่าอยู่ในข่าย แต่ใครจะต้องรับผิดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ได้เหมารวมกขช. ทั้งหมด หากคนที่ถูก ป.ป.ช. ตรวจสอบแล้ว ปรากฏว่า ไม่ผิด อาจไม่มีเหตุให้ไปรื้อ เพราะ ป.ป.ช. เคลียร์แล้ว แต่ถ้าหลุดไป เพราะ ป.ป.ช. ยังสอบไม่ถึง ถือเป็นหน้าที่ของ ศอตช. ต้องไปดูเพิ่ม
รองนายกฯ กล่าวอีกว่า ขอย้ำว่า เราไม่ได้บอกว่าคนให้นโยบายเป็นผู้ทุจริต แต่เป็นความผิดฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 อย่างคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โทษทางอาญาไม่ได้หนักอะไร แต่สำหรับคนเป็นนักการเมือง โทษหนักเบาไม่ได้เท่ากับความเสียหาย เพราะเมื่อมาจากการเลือกตั้งย่อมมีอำนาจในการกำหนดนโยบายช่วยเหลือชาวนาอย่างไรก็ได้ แต่ต้องทำนโยบายนั้นให้มีกฎหมายรองรับ และการปฏิบัติสุจริต ไม่ปล่อยปละละเลยให้มีการกระทำความผิด
นายวิษณุ กล่าวถึงการประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 8 ว่า ที่ จ.มหาสารคาม มีรายชื่อจำนวนมาก เนื่องจากมีการกระทำร่วมกันทั้งหมด ส่วนจะจริงหรือไม่ต้องสอบสวน หวังว่า เมื่อมีการสอบสวนจะมีการสารภาพ หรือซักทอด เพื่อจะได้จัดการต่อไป ทั้งนี้ การพักราชการบางคนเพื่อต้องการให้บุคคลนั้นเปิดปากสารภาพว่าใครเป็นคนทำ ใครเป็นคนสั่ง
ส่วนการย้าย พล.ต.อ.วุฒิ ลิปตพัลลภ รอง ผบ.ตร. มาดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ได้ถูกร้องเรียน แต่เป็นเรื่องคุณงามความดี ความชอบ เพื่อมาเป็นซี 11 ท่านเป็นคนสมัครใจมา เพราะตามกฎหมายข้าราชการตำรวจ ระบุว่า ข้าราชการตำรวจจะไปเป็นข้าราชการประเภทอื่นต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าตัว ซึ่งท่านคงอยากทำอะไรที่ตัวเองสบายใจกว่า ตนไม่ได้บอกว่าที่นั่นบีบคั้นอะไร อย่างตอนที่ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ อดีตรอง ผบ.ตร. ย้ายมา ก็ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าตัวก่อน
“ถามว่า ทำไมเขาถึงยินยอม เพราะการมาอยู่ที่ใหม่มีงานทำที่ถนัด อยู่ที่เดิมอาจจะโดนมอบหมายงานที่ไม่สะดวกใจ อีกทั้งอีก 1 ปี ก็จะเกษียณอายุราชการ ได้เลื่อนขั้นขึ้นซี 11 คงมีความสบายใจมากกว่า และเมื่อดูประวัติย้อนหลัง พล.ต.อ.วุฒิ เป็น พล.ต.อ. มา 5 ปี เป็น รอง ผบ.ตร. มา 5 ปี บัดนี้ขึ้นมาอาวุโสอันดับที่ 1 จึงมีความสมควรที่จะขึ้นเป็นซี 11 ส่วนใครจะได้เป็น ผบ.ตร. หรือไม่นั้นของแบบนี้ขึ้นอยู่กับวาสนา” นายวิษณุ กล่าว
รองนายกฯ กล่าวว่า ส่วนการย้าย นายเกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการพิเศษนั้น มาด้วยวิธีปกติ คือ มติ ครม. ส่วนสาเหตุ ตนไม่ทราบว่าเพราะอะไร แต่เมื่อจะปรับปรุงงานให้ดีขึ้น ต้องนำคนที่สามารถทำงานได้เข้ามา