รัฐบาลเอาจริงปราบคอร์รัปชัน เพิ่มอำนาจศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.) ติดตามรัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชนในกำกับ เผย สถานการณ์ทุจริตลดลงอย่างชัดเจน ผลสอบแล้วเสร็จ 62 ราย ไล่ออก 8 ราย นายกฯห่วงเจ้าหน้าที่ระดับล่างติดร่างแห
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบที่จะเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของ ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.) ให้ทำหน้าที่ประสานงาน เร่งรัด กำกับ และติดตาม ให้รัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชนในกำกับของกระทรวง ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ รวมทั้งติดตามประเมินผลการดำเนินงานด้วย เช่นเดียวกับที่ดำเนินการในส่วนราชการระดับกรม
โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ทั้งนี้ ท่านนายกรัฐมนตรี มีบัญชาชัดเจนว่า การปราบปรามการทุจริตต่อรัฐ ต้องมิใช่เป็นเพียงแนวนโยบาย แต่ต้องลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังเป็นรูปธรรม ในทุกระดับ และมีประสิทธิภาพ โดยเมื่อมีข้อมูลรายชื่อเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าข่ายถูกดำเนินการตรวจสอบ ก็จะแจ้งให้หน่วยงานต้นสังกัดทราบเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
เมื่อดำเนินการแล้ว ก็รายงานผลมายัง ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เพื่อส่งให้หน่วยตรวจสอบ อาทิ ป.ป.ช., สตง. พิจารณาต่อไป หากมีความเห็นสอดคล้องกันและไม่อยู่ระหว่างการดำเนินการของ ป.ป.ช. ก็จะนำเรียนท่านนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา หากความเห็นไม่สอดคล้องกัน หรืออยู่ในระหว่างการพิจารณาของ ป.ป.ช. ก็จะรอจนกว่าการดำเนินการของ ป.ป.ช. จะแล้วเสร็จ แล้วจึงนำเรียน นายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
“ที่ผ่านมา มีการประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ จำนวน 237 ราย หากรวมกับที่ประกาศล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ก.ย. อีก 21 คน จะรวมเป็น 258 ราย
ซึ่งในจำนวนนี้การดำเนินการทางวินัยของต้นสังกัดแล้วเสร็จ จำนวน 62 ราย มีผลทางวินัยให้ไล่ออก 8 ราย พ้นจากตำแหน่ง 25 ราย ที่เหลืออยู่ระหว่างการตรวจสอบกับ ป.ป.ช. ว่า ผลการพิจารณาจะตรงกันหรือไม่”
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า ท่านนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ยังฝากให้พิจารณาถึงกลไกที่เหมาะสมในการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ระดับล่างที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำทุจริต โดยที่ตนเองอาจมิได้เห็นด้วยแต่ไม่อาจขัดขืนการปฏิบัติตามคำสั่ง
“ท่านนายกฯ แสดงความห่วงใยเป็นพิเศษในกรณีดังกล่าว เพราะคาดว่าในบางกรณีเจ้าหน้าที่เหล่านั้นไม่ได้มีส่วนรู้เห็น หรือร่วมรับผลประโยชน์ด้วย อย่างไรก็ตาม ต้องมีข้อมูลที่จะยืนยันได้ว่ามีความพยายามที่จะปกป้องผลประโยชน์ของชาติจากการทุจริตเหล่านั้น”
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า จากการเพิ่มกลไกใหม่ คือ ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.) เข้าเป็นกลไกในทุกกระทรวง และมีการเกลี่ยอัตรากำลัง และกำหนดตำแหน่งผู้ปฏิบัติหน้าที่อย่างชัดเจน ทำให้สถานการณ์การทุจริตลดลงอย่างชัดเจนตามผลสำรวจของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งนี้ รัฐบาลมีเป้าหมายสำคัญในการปราบปรามการทุจริต คือ “คนโกงรายเก่าจะหมดไป คนโกงรายใหม่ต้องไม่เกิด และไม่เปิดโอกาสให้ได้โกง”