ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การแข่งขัน ฟุตบอลโตโยต้า ลีก คัพ 2016 รอบรองชนะเลิศนัดที่ 2 เมื่อวันพุธที่ 14 กันยายน 2559 ณ สนามเอสซีจี สเตเดียม จบลงด้วยผลเสมอของ เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด กับ การท่าเรือ เอฟซี 1-1 สกอร์รวม 2 นัด 3-2 ทีม “กิเลนผยอง” ได้ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศไปพบกับ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ ณ สนามศุภชลาศัย ทว่า ภายหลังจบเกมเกิดเหตุการณ์ปะทะกันของแฟนลูกหนังทั้งสองทีม บริเวณพื้นที่ภายนอกสนาม ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บร่วม 20 ราย ขณะที่แฟนบอล “สิงห์เจ้าท่า” 1 รายบาดเจ็บสาหัส ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลชลประทาน
ทั้งนี้ ความบาดหมางระหว่าง 2 ทีมนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้เคยมีการปะทะของแฟนบอลมาแล้วในศึกฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ก. เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2553 ระหว่างที่ เมืองทองฯ นำ การท่าเรือ 2-0 เกิดเหตุแฟนบอลตะลุมบอนกันจนได้รับบาดเจ็บ และต้องหยุดเกมกลางคัน
ครั้งนั้น ทีม “สิงห์เจ้าท่า” ถูกตัดสินลงโทษห้ามแข่งขันที่สนามแพท สเตเดียม 3 นัด และโดนปรับเงินจำนวน 131,750 บาท
นั่นคือจุดเริ่มต้นของความบาดหมางระหว่างทั้ง 2 ทีมในครั้งแรก และอาจกล่าวเป็นชนวนเหตุแห่งการปะทะกันในครั้งถัดมา
ขณะที่ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2557 ในการแข่งขันฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก นัดที่ 35 ของฤดูกาล ณ สนามเอสซีจี สเตเดียม โดยเจ้าถิ่นชนะ 3-1 หลังจบเกมแฟนบอลทั้งสองทีมออกมาปะทะกันจนได้รับบาดเจ็บจำนวนมากภายนอกสนามแข่งขัน ก่อนทั้งสองทีมจะโดนบทลงโทษปรับทีมละ 9 คะแนน และปรับทีมละ 3 แสนบาท พร้อมทั้งถูกห้ามแฟนบอลเข้าชมเกมใน 3 นัดสุดท้ายของฤดูกาลทั้งคู่
สำหรับการปะทะของแฟนฟุตบอลทั้งสองทีมในครั้งล่าสุดนั้น มีกระแสในหมู่แฟนบอลว่า ทั้งสองทีมอาจจะโดนลงโทษอย่างหนัก หลังเกิดเหตุปะทะกันมาแล้วถึง 3 ครั้ง พร้อมอ้างอิงโทษจากการปะทะกันครั้งที่ 2 ที่ทั้งคู่โดนหักคะแนน 9 แต้มว่าอาจจะหนักกว่าเดิมแน่
ร้อนไปถึงบอร์ดบริหารทีม “กิเลน” ที่ออกมาขู่ว่า หากมีการลงโทษหนัก ผู้บริหารทีมพร้อมยุบทีมทันที เนื่องจากเห็นว่าไม่เป็นธรรม
“ในนามของสโมสรขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เชื่อว่ามีการจัดตั้งกองเชียร์ขึ้นมาเพื่อทำให้มีความวุ่นวายหลังเกมนี้ มีผลกระทบทางอ้อมต่อสโมสรการท่าเรือ เอฟซี เช่นกัน อีกทั้งจะเป็นการกลั่นแกล้งการขึ้นไทยลีกของพวกเขา เพราะนวลพรรณ ล่ำซำ ประธานสโมสรฯ ได้เดินลงมาสนาม เพื่อขอให้แฟนบอลกลับบ้านอีกทั้งแฟนบอลเมืองทองฯ ยังให้การต้อนรับเป็นอย่างดี นี่คือความตั้งใจของผู้หญิงคนหนึ่งที่มีให้กับวงการฟุตบอล”
“รวมทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นในกรณีของฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ คู่ของ แมนฯ ยูฯ กับ แมนฯ ซิตี ในเกมล่าสุด ซึ่งมีการปะทะกันของแฟนบอลนอกสนามซึ่งหนักกว่าเมืองไทยยังไม่มีการแบนสโมสร หรือตัดคะแนนในลีกแม้แต่อย่างใด”
“กรณีเดียวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในหลังเกมของโตโยต้า ลีก คัพ เมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา การปะทะกันของแฟนบอลทั้งสองทีมเกิดขึ้นบริเวณนอกสนาม แต่สิ่งที่มีคณะกรรมการบางคนในสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยออกมาพูดนั้น การตัดสินต้องยึดมาตรฐานและกติกาข้อบังคับในระดับสากล คือฟีฟ่าเป็นหลัก ถ้ามาตรการออกมามีผลกระทบโดยตรงที่ร้ายแรงกับสองสโมสร โดยเฉพาะสโมสรของเรานั้นเราจะทำการประกาศยุบทีมทันที โดยเราได้แจ้งไปยังบอร์ดของเอสซีจีให้ทราบเรื่องนี้เรียบรอยแล้ว”
ด้าน “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ ประธานสโมสรการท่าเรือ เอฟซี เองก็ออกมา แสดงความเสียใจต่อเหตุร้ายที่เกิดกับแฟนบอล พร้อมกับมีการเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ
“รู้สึกเสียใจมากกับสิ่งที่เกิดขึ้นหลังเกมการแข่งขัน ซึ่งมันบั่นทอนกำลังใจของคนทำงาน นักกีฬา ตลอดจนแฟนบอลชาวไทย และอีกหลายๆ ส่วนที่พยายามร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาวงการกีฬาไทย แป้งเชื่อว่าทั้งสองสโมสรไม่ได้คาดหวังให้เหตุการณ์วุ่นวายนี้เกิดขึ้น และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราต่างพยายามทำงานร่วมกัน เพื่อป้องกันเหตุวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นนี้ สำหรับผู้กระทำผิดขอให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะติดตามหาตัวและดำเนินการกับผู้กระทำความผิดตามกฎหมายต่อไป”
สำหรับคนที่รับเผือกร้อนโดยตรงคือ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย เจ้าของสโลแกน "FAIR" ถึงกับต้องรีบออกมาเบรกเกมว่า เรื่องการตัดสินโทษของทั้งสองสโมสรนั้น ยังไม่สามารถทำได้ในตอนนี้ ต้องยกหน้าที่ดังกล่าวให้กับ คณะกรรมการพิจารณาโทษ วินัย มารยาท ของสมาคม ที่มี พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 เป็นประธาน เพื่อสอบสวนหาข้อเท็จจริง ก่อนจะมีบทลงโทษตัวจริงออกมา โดยระหว่างนี้ในนัดที่เหลือให้ทั้งสองทีมคู่กรณีห้ามแข่งขันในสนามเหย้า และต้องไปแข่งที่สนามของคู่แข่งในนัดที่เหลือจนกว่าจะมีการตัดสินบทลงโทษต่อไป
“เป็นเรื่องที่สมาคมฯต้องดำเนินการ ขั้นตอนแรก แมตช์คอมมิชชันเนอร์ต้องรายงานเหตุการณ์ ทั้งในและนอกสนาม ตั้งแต่ก่อนแข่งจนถึงหลังแข่ง ให้คณะกรรมการพิจารณาวินัยมารยาท เป็นผู้พิจารณาว่าใครถูกใครผิด และมีผลอย่างไร โดย พล.ต.ท. อำนวย นิ่มมะโน เป็นอดีตนักสืบ ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ เป็นผู้ดูแล ซึ่งจะเชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของ เอสซีจี เมืองทองฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และพนักงานสอบสวน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณา โดยให้รีบดำเนินการโดยเร็ว”
“การวิพากษ์ว่าจะมีการลงโทษแบบนั้นแบบนี้ หักเงิน ตัดคะแนน ตอนนี้ผมยังตอบไม่ได้ เพราะยังไม่มีการสอบสวน ให้คณะกรรมการฯพิจารณาอย่างรอบคอบก่อน ใช้หลักฐาน ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้เกี่ยวข้อง ยึดหลักตามระเบียบข้อบังคับ ดูรูปแบบการพิจารณาในอดีตประกอบ”
“การรักษาความปลอดภัยมีระเบียบข้อบังคับชัดเจนว่าผู้ที่จัดการแข่งขันต้องเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องความปลอดภัย ส่วนใครจะเริ่มก่อนหรือหลัง ให้เป็นหน้าที่ของผู้ที่จะสอบสวน ถ้ากรณีเช่นนี้เกิดในการแข่งขันระดับชาติ เราก็มีสิทธิ์โดนลงโทษเช่นกัน”
พร้อมกันนี้ “บิ๊กอ๊อด” ได้ตอบคำถามกรณีที่ “กิเลนผยอง” อาจยุบทีมหากโดนผลกระทบว่า “เรื่องนี้ผมตอบไม่ได้ การทำงานของสมาคมฯ เป็นไปตามความถูกต้องและข้อบังคับ เชื่อว่าคณะกรรมการวินัยมารยาทจะให้ความเป็นธรรมต่อทุกทีม”
ขณะเดียวกับที่ทีม ขอนแก่น ยูไนเต็ด ที่ถูกเพิกถอนสมาชิกภาพจากดิวิชั่น 1 จากกรณีที่ผู้ตัดสินเกมฟุตบอลถูกแฟนบอลทำร้ายภายนอกสนาม ออกมาจี้ให้สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ลงโทษสโมสรเมืองทอง ยูไนเต็ด และ การท่าเรือ เอฟซี ด้วยมาตรฐานเดียวกับที่เคยลงดาบทีมตน เพื่อให้เกิดความ “FAIR” ตามที่นายกสมาคมเคยหาเสียงไว้
และด้วยความกดดันที่ถาโถมเข้ามาอย่างหนัก เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา สมาคมฟุตบอล แห่งประเทศไทยฯ ได้ออกบทลงโทษแรก จากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวว่า “เพื่อเป็นการป้องกันเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีก และเพื่อความปลอดภัย ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแข่งขันในรายการต่าง ๆ จึงให้การแข่งขันฟุตบอลของ สโมสรฟุตบอล เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด และ สโมสรฟุตบอลการท่าเรือ เอฟซี หากกรณีเป็นทีมเหย้าซึ่งจะต้องทำการแข่งขันในสโมสรของตนเองในฐานะเจ้าบ้านนั้น ให้ไปทำการแข่งขันในสนามทีมเยือนแทน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ประกาศเป็นต้นไป”
อย่างไรก็ดี คงต้องรอบทสรุปการลงโทษจากคณะกรรมการพิจารณาโทษ วินัย มารยาท ของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ว่าจะออกมาในรูปแบบใด ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นสิ่งนี้ก็จะกลายเป็นบรรทัดฐานสำหรับวงการฟุตบอลไทยสืบต่อไป
ส่วนถามว่า โอกาสที่จะเกิดการปะทะกันระหว่างแฟนบอลของทั้งสองทีมจะเกิดขึ้นอีกใหม่ ก็ต้องตอบว่า มีเปอร์เซ็นต์ค่อนข้างสูง เข้าทำนองเรียกว่า “พบกันเมื่อไหร่ก็เรื่องใหญ่” ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ทั้งสองสโมสรจะต้องหาหนทางแก้ไขร่วมกัน รวมถึงสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เองที่จะต้องมีมาตรการลงโทษที่เด็ดขาดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ทำลายภาพลักษณ์ของวงการฟุตบอลไทยเช่นนี้อีกต่อไป