“สอดแนมการเมือง”
โดย “ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย”
“ขงเบ้ง” บอกว่า “ดวงอาทิตย์ทำให้ทุกสิ่งกระจ่างชัด แต่เรายังต้องทำความเข้าใจในส่วนที่มืด ซึ่งยังคงดำรงอยู่”
ดวงอาทิตย์อันเจิดจ้า..ยังมีมุมที่ดับมืดชวนค้นคว้าวิจัย..
สนธิ ลิ้มทองกุล ติดคุก 20 ปี แถมเดินเชิดหน้ายืดอกเข้าคุกเยี่ยง “ราชสีห์” เพื่อทำให้กฎหมายเป็นกฎหมาย และทำให้คำพิพากษาศาลฎีกาศักดิ์สิทธิ์!
เกิดการเปรียบเทียบระหว่าง “มนุษย์ราชสีห์” กับ “สุนัข” ในคราบ “คน” โดยพลัน!
“สนธิลิ้ม” มีทั้งคนรักและคนเกลียด มีคนเขียนถึงมากมายทั้งบวกและลบ แล้วแต่ความรู้สึกและมุมมองของแต่ละคน แต่บทความของ “รศ.ดร.วิวัฒน์ชัย อัตถากร” นั้น ตรงไปตรงมาและยุติธรรม หากอ่านให้จบครบถ้วนทั้งบทความ จะเป็นประโยชน์ต่อการรู้จัก คนชื่อ “สนธิลิ้ม” ไม่มากก็น้อยแน่นอน
หากตัดทอนเพียงบางส่วนของบทความมาให้อ่าน ย่อมไม่ครบถ้วนกับเนื้อหาอันมีค่า ผมจึงขออนุญาตนำบทความของ “รศ.ดร.วิวัฒน์ชัย อัตถากร” มาตีพิมพ์ในคอลัมน์ “สอดแนมการเมือง” ของผม ก่อนที่ผมจะเขียนถึง “สนธิลิ้ม” ที่ “ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย” รู้จัก ในบทความตอนต่อๆไปครับ..
เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2559 คอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์เพื่อชีวิต” ใน “หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์” โดย “รศ.ดร.วิวัฒน์ชัย อัตถากร” นักวิชาการจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) ได้กล่าวถึง “สนธิ ลิ้มทองกุล” ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ในเครือผู้จัดการ และอดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่ง เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2559 ศาลฎีกามีคำพิพากษาจำคุก 20 ปี ในความผิดฐานกระทำผิด พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ว่า
“เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2559 ข่าวศาลฎีกาพิพากษาจำคุก “สนธิ ลิ้มทองกุล” เป็นเวลา 20 ปี ไม่รอลงอาญาในคดีผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในการทำเอกสารรายงานการประชุมเท็จค้ำประกันเงินกู้แบงก์พันล้าน ได้แพร่สะพัดเหมือนไฟลามทุ่ง ถูกนำเสนอเป็นข่าวเด่น-ข่าวดัง-ข่าวร้อน ตามสื่อต่างๆ ในเวลาต่อมา มีทั้งคนทับถมซ้ำเติมด้วยความสะใจ มีทั้งคนเสียใจ เศร้าใจ และคนเห็นใจ
ความจริงคดีนี้เป็นคดีทางธุรกิจ เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว ก่อนที่ สนธิ ลิ้มทองกุล จะขึ้นมาเป็นแกนนำมวลชน คดีนี้จึงไม่เกี่ยวข้องกับบทบาทของเขาในฐานะแกนนำทางการเมืองคนสำคัญในกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) แต่ประการใด
มองย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ในคดีนี้เกิดขึ้นในช่วงปี 2539 ต่อเนื่องปี 2540 เป็นคดีเกี่ยวข้องกับการทำหนังสือจากบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เพื่อค้ำประกันเงินกู้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้กับ บริษัท เดอะ เอ็ม กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,078 ล้านบาท (โดยหลักทรัพย์ที่นำไปค้ำประกันก็มีมูลค่าสูงกว่าจำนวนเงินที่กู้จากธนาคาร) และไม่ได้นำภาระการค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าวที่เป็นรายการ ที่ทำให้รายได้ของ บมจ.แมเนเจอร์ฯ เปลี่ยนแปลงผิดปกติ ซึ่งต้องแสดงรายการไว้ในงบการเงินประจำปี 2539-2541 และจะต้องนำส่งให้ตลาดหลักทรัพย์และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อีกทั้งโดยข้อเท็จจริงที่ปรากฏก็คือ คดีนี้ไม่มีผู้ถือหุ้นของบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และผู้ถือหุ้นของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ฟ้องร้องดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายแม้แต่รายเดียว หรือแม้แต่ธนาคารกรุงไทยเองก็ไม่ได้ฟ้องร้องดำเนินคดีเช่นกัน (ผู้จัดการสุดสัปดาห์ 10-16 ก.ย.59 ฉบับที่ 358)
หลายคนที่รักห่วงใยผูกพัน สนธิ ลิ้มทองกุล มองว่าคนที่ทุ่มเทเสียสละเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเพื่อสังคมทำไมพระเจ้าต้องบันดาลให้มารับกรรมแบบนี้ เป็นเวรกรรม เป็นกรรมเก่าอะไรหนอ ต่อไปจะมีใครอยากทำ ความดีหรือเสียสละเพื่อสังคมกันอีกเล่า สังคมโดยทั่วไปมองคนติดคุกเป็นคนชั่ว คนไม่ดี ยิ่งติดนานๆ ถึง 20 ปี ยิ่งต้องเป็นคนเลว คนชาติชั่ว อันที่จริงแล้วสังคมไม่ควรมองคนติดคุกแบบฉาบฉวย เพราะคนต้องติดคุกมาจากหลายสาเหตุ ซึ่งไม่เหมือนกัน คนบางคนถูกติดคุกทั้งๆ ที่ไม่ทำความผิด จนตายในคุกยิ่งน่าสงสาร เช่น คดีเชอร์รี่ แอนด์ ดันแคน สนธิ ลิ้มทองกุล ไม่ได้ฆ่าคนตาย ไม่ได้เป็นเจ้าพ่อค้ายาเสพติด ไม่ได้ทำให้ชาติเสียหายหลายหมื่นหลายแสนล้าน ไม่ได้หนีการจับกุมคุมขัง เพียงแค่ทำเอกสารเท็จ ต้องถูกจำคุก 20 ปี เป็นเรื่องที่ผู้คนรักห่วงใยผูกพันสนธิ รู้สึกเศร้าใจ จึงคิดว่าเป็นเรื่องของเวรกรรมหรือกรรมเก่า มีตัวอย่างจริงหลายรายที่ผิดเกี่ยวกับเรื่องธรรมาภิบาลและบรรษัทภิบาล เสียหายหลายแสนล้าน ติดคุกไม่กี่ปี บางรายแค่รอลงอาญา บางรายหนีคุก บางรายพิจารณานานหลายปี คดีขาดอายุความ รัฐบาลพูดจะพัฒนาให้เป็นมาตรฐานสากล ขอให้ทำจริง อย่าลูบหน้าปะจมูกก็แล้วกัน
หลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ เคยปาฐกถาธรรม เรื่อง“ชีวิตที่เจริญด้วยธรรม และการใช้ชีวิตที่ประเสริฐที่สุด” ตอนหนึ่ง โดยยกพุทธภาษิตให้เห็นว่า ความเชื่อว่าสุขหรือทุกข์เป็นผลกรรมเก่านั้นเป็นเรื่องงมงาย เป็นมิจฉาทิฏฐิว่า
สุข - ทุกข์ มิใช่ผลกรรมเก่า
สุข - ทุกข์ มิใช่เพราะพระเจ้าบันดาล
สุข - ทุกข์ มิใช่ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย
ประชาชนไทยโดยเฉพาะพ่อค้าตัวเล็กตัวน้อยจนถึงตัวใหญ่ในวงการธุรกิจ ยังคงจดจำไม่รู้ลืมถึง วิกฤตการณ์ เศรษฐกิจการเงินไทย ปี 2540 หรือวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ที่การลดค่าเงินบาทมีพิษสงร้ายแรงเพียงใด กระทบภาคธุรกิจทั้งประเทศ คนทำธุรกิจประสบปัญหา นักธุรกิจไม่น้อยเป็นบ้า เสียสติ ฆ่าตัวตายหนีหนี้ ขาดสภาพคล่อง หมุนเงินไม่ทัน หาเงินกู้เงินค้ำประกันบริษัทไม่ได้ไม่ทันก็ต้องเจ๊งกันเป็นระนาว ต้องลอยแพพนักงาน ลูกน้องอีกหลายสิบหลายร้อยหลายพันชีวิตต้องตกงาน บริษัทต่างๆ ต้องขวนขวายหาทางพยุงบริษัทของตัวให้อยู่ได้โดยวิธีการต่างๆ ผิดบ้างถูกบ้างด้วยกันทั้งนั้น รู้ๆ กันอยู่ สนธิ ลิ้มทองกุล ในฐานะทำธุรกิจสื่อ ก็หนีไม่พ้นจากสถานการณ์เยี่ยงนี้เช่นกัน เจอผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจจนเกิดปัญหา ปั่นป่วนกันทั้งสังคมจากนโยบายเปิดเสรีการเงินของรัฐที่ผิดพลาด เช่น วิเทศธนกิจ (BIBFS) นำมาซึ่งการกู้เงินจากต่างประเทศเกินตัวจนเกิดเศรษฐกิจการเงินฟองสบู่ ถูกโจมตีค่าเงินบาทจนพ่ายแพ้ต่อกองทุนข้ามชาติเฮดจ์ฟันด์อย่างหมดรูป
มีเรื่องเล่ากันอยู่มากว่า คนที่อยู่ในอำนาจบางคนทั้งที่เป็นนักการเมืองและนักธุรกิจ ได้ประโยชน์จากอัตราแลกเปลี่ยนหรือไม่ การล่วงรู้ล่วงหน้าก่อนประกาศลดค่าเงินบาทอย่างเป็นทางการ (เมื่อ 2 ก.ค.40) จึงรีบเปลี่ยนสกุลเงินที่ถือ ทำให้ร่ำรวยมหาศาลชั่วข้ามคืน ในขณะที่คนบางคนร่ำรวยจากสถานการณ์ แต่ธุรกิจส่วนใหญ่ขณะนั้นขาดทุน ล้มละลาย พินาศย่อยยับ ธุรกิจของ สนธิ ลิ้มทองกุล ก็เป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบต้องประคับประคองตัวมา จนค่อยฟื้นตัวได้ในระยะต่อมา
การทำธุรกิจย่อมมีโอกาสพลาด นักธุรกิจอย่างสนธิ ลิ้มทองกุล ก็ทำผิด ทำพลาด ทำไม่ถูกต้องเช่นเดียวกันกับนักธุรกิจอีกหลายคน สนธิระลึกรู้กับการกระทำของตนเอง ด้วยคำพูดตรงๆ อย่างลูกผู้ชายที่กล้าทำ กล้ารับ ว่า “อดีตเป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น” แม้จะมีโอกาสยื้อคดี เป่าคดี หนีคดีไม่ยอมติดคุกเหมือนนักธุรกิจอีกหลายคน เขาก็ไม่เลือกทางเหล่านั้นเลย เขาเลือกที่จะสารภาพตั้งแต่ศาลชั้นต้นจนถึงศาลฎีกา หลายต่อหลายครั้งเขาเคยพูดเสมอว่าเขายึดมั่นในหลักการให้ความเคารพต่อศาล เพื่อคงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของศาลสถิตยุติธรรม เขาไม่เคยกล่าวตำหนิว่ากระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐานแต่ประการใด
(อ่านต่อฉบับหน้า)