xs
xsm
sm
md
lg

ความผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ อย่ามีเพียง “สนธิ” ที่สังเวย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ริมฝั่งเจ้าพระยา
โดย...สุนันท์ ศรีจันทรา

พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ประกาศใช้มาเกือบ 25 ปีแล้ว แต่ดูเหมือนเพิ่งจะถูกบังคับใช้อย่างเด็ดขาดจริงจังเป็นครั้งแรกกับ นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตกรรมการบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

นายสนธิถูกตัดสินจำคุก 20 ปีเต็ม ในการจัดทำรายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด(มหาชน)อันเป็นเท็จ เพื่อค้ำ ประกันบริษัท เดอะ เอ็ม กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) บริษัทเครือแมเนเจอร์ ในการขอกู้เงินจากธนาคารกรุงไทยจำนวน 1,078 ล้านบาท รวมทั้งความผิดอื่นต่างกรรมต่างวาระรวม 17 กระทง

แม้จำเลยรวม 4 คน ยอมรับความผิดทุกข้อกล่าวหา ขณะที่ธนาคารกรุงไทยไม่ได้รับความเสียหายใดจากเงินที่ปล่อยกู้ แต่ศาลเห็นว่า ธุรกรรมที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของประชาชนผู้ลงทุน และพ.ร.บ.หลักทรัพย์ก็มีเจตนารมณ์ในการดูแลปกป้องนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ จึงตัดสินลงโทษสูงสุด

คดีนายสนธิจะทำให้สาธารณชนได้รู้จัก พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ มากขึ้น และกรณีนายสนธิ อาจเป็นบรรทัดฐานในการใช้บทลงโทษหนัก สำหรับผู้ที่กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์

พฤติกรรมผิดในตลาดหลักทรัพย์เกิดขึ้นโดยตลอด แต่แทบไม่มีใครที่ต้องรับโทษถึงขั้นจำคุก โดยคดีมักจบลงที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลตลาดหุ้น

ก.ล.ต.ตรวจสอบพบพฤติกรรมความผิดในตลาดหุ้นปีละนับสิบๆคดี โดยความผิดที่ไม่รุนแรง ไม่สร้างความเสียหายในวงกว้าง อาจเพียงตักเตือน สั่งปรับปรุงแก้ไข หรือพักใบอนุญาตทางวิชาชีพ

แต่ถึงจะเป็นความผิดร้ายแรง ก่อพฤติกรรมเอาเปรียบประชาชนผู้ลงทุนอย่างชัดเจน ยังมีทางออกที่จะไม่ต้องถูกดำเนินคดีอาญา โดยยอมรับสารภาพในความผิด ยอมจ่ายค่าปรับแลกเปลี่ยนกับการไม่ถูก ก.ล.ต.ร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดี

ความผิดร้ายแรงในตลาดหุ้นที่เกิดขึ้นเป็นประจำคือ การยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของบริษัทจดทะเบียน การใช้ข้อมูลภายในแสวงหาประโยชน์จากการซื้อขายหรืออินไซเดอร์เทรดดิ้ง การสร้างราคาหุ้นหรือการปั่นหุ้น หรือการสร้างข้อมูลอันเป็นเท็จ เพื่อให้นักลงทุนเข้าใจผิดในฐานะการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน โดยการแต่งบัญชีงบการเงิน

นักลงทุนต้องได้รับความเสียหายอย่างหนัก จากอาชญากรรมรูปแบบต่างๆในตลาดหุ้น บางคนถึงขั้นหมดเนื้อหมดตัว บางคนครอบครัวต้องล่มสลาย บางคนเครียดหนักจนสังหารทั้งครอบครัว ก่อโศกนาฏกรรมสะเทือนใจ

โจรใส่สูทเดินขวักไขว่ในตลาดหุ้น และจ้องหาโอกาสประกอบอาชญากรรมทางการลงทุน เพราะเป็นช่องทางสร้างความมั่นคั่งในพริบตา

การนำข้อมูลภายในมาใช้เอาเปรียบนักลงทุนแต่ละครั้ง อาจกอบโกยเงินนับร้อยล้านบาท การปั่นหุ้นแต่ละตัว อาจเก็บเกี่ยวกำไรนับพ้นล้านบาท การไซฟ่อนทรัพย์สินออกจากบริษัทจดทะเบียน จะทำให้รวยภายในพริบตา โดยไม่ต้องกลัวความผิด

เพราะ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เปิดช่องไว้ ถ้าถูกตรวจสอบพบความผิด ถ้า ก.ล.ต.จับได้ และมีหลักฐานที่จะดำเนินคดี เพียงแต่รับสารภาพ ยินยอมจ่ายค่าปรับ คดีจะถูกตัดตอนโดยปริยาย ไม่ถูกส่งไปให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินคดีต่อ

นักปั่นหุ้นและผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่มีความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ มักจะเลือกแนวทางการประนีประนอมกับ ก.ล.ต.มากกว่า ยอมควักกระเป๋าจ่ายค่าปรับ โดยไม่ต้องเสี่ยงกับคุกตาราง

ค่าปรับคดีอินไซเดอร์ที่มีสถิติสูงสุดอยู่ที่ 200 ล้านบาท นอกนั้นเป็นคดีที่จ่ายค่าปรับระดับสิบล้านบาท หรือไม่กี่แสนบาท ส่วนคดีปั่นหุ้นจ่ายค่าปรับเพียงไม่กี่สิบล้านก็ปิดคดีแล้ว

มีบ้างเหมือนกันที่นักปั่นหุ้นไม่ยอมรับความผิด ไม่ยอมจ่ายค่าปรับ และพร้อมจะสู้คดี ซึ่ง ก.ล.ต.ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยคดีอยู่ระหว่างการสอบสวนข้อมูลพยานหลักฐาน และมีอยู่ในหลายคดีเหมือนกัน

การที่นายสนธิถูกตัดสินเต็มพิกัดตามบทลงโทษขั้นสูงสุดของพ.ร.บ.หลักทรัพย์ จะทำให้ผู้ที่กระทำความผิดในตลาดหุ้น เกิดอาการ “หนาว” ไปตามๆกัน

เพราะคดีนายสนธิสะท้อนให้เห็นว่า ความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯนั้นมีโทษเด็ดขาดและรุนแรงขนาดไหน เพียงแต่ก่อนหน้านี้ ไม่รู้ว่า ขั้นตอนการบังคับใช้มีความผิดพลาดจุดไหน จึงทำให้คนที่กระทำความผิดในตลาดหุ้น สร้างความเสียหายร้ายแรงให้นักลงทุนตลอดเวลาหลายสิบปี จึงลอยนวลไปหมด

และทำไมความศักดิ์สิทธิ์ของ พ.ร.บ.หลักทรัพย์จึงเพิ่งสำแดงเดชในคดีนายสนธิ

แต่อดีตเป็นเรื่องที่ผ่านพ้นไป และนายสนธิไม่ได้ร้องโวยวายในชะตากรรม ไม่ได้น้อยเนื้อต่ำใจที่ถูกตัดสินลงโทษหนัก ไม่ได้ตำหนิกระบวนการ ยุติธรรม แต่น้อมรับความผิด ไม่หนีทั้งที่มีโอกาส และเป็นการสร้างบรรทัดฐานของการเคารพกฎหมาย และแสดงให้เห็นว่า กฎหมายไม่มีข้อยกเว้นกับบุคคลใด

ถ้าคดีของนายสนธิจะทำให้พฤติกรรมผิด พฤติกรรมการเอารัดเอาเปรียบ พฤติกรรมโกงรูปแบบต่างๆในตลาดหุ้นลดลง จะเป็นอานิสงส์สำหรับนักลงทุน เพื่อไม่ให้มีใครก้มหน้าก้มตากอบโกยเงินจากตลาดหลักทรัพย์แล้วจบลงแค่การนำเงินไปจ่ายค่าปรับเท่านั้น ตอนนี้ได้แต่หวังกันว่า การแสดงความเด็ดขาดและการใช้บทลงโทษที่รุนแรง ตามความผิดพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ จะไม่ได้เริ่มต้นและสิ้นสุดที่คดีนายสนธิเพียงกรณีเดียวเท่านั้น

เพราะแก๊งปั่นหุ้น กลุ่มอินไซเดอร์ นักไซฟ่อนเงิน และพวกแต่งบัญชีตบตาประชาชน ยังแฝงตัวอยู่เต็มตลาดหุ้น ก้มหน้าก้มตาสูบเงินจากกระเป๋านักลงทุนอย่างสนุกสนาน

พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ จะถูกนำมาบังคับใช้เด็ดขาดเฉพาะคดี “สนธิ” เท่านั้นหรือ ขณะที่อาชญากรหุ้นตัวจริงถูกปล่อยให้ลอยนวลต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น