มีคนถามเสมอว่า นักปั่นหุ้นรุ่นเก่าๆ และรุ่นใหม่ๆ มีกลยุทธ์แตกต่างกันอย่างไร? โดยขอให้เปรียบเทียบนักปั่นแต่ละยุคสมัยให้ฟัง
ตลาดหุ้นเปิดมา 41 ปี ผ่านช่วงเวลาแห่งความคึกคักสุดขีดมาแล้วหลายรอบ โดยแต่ละรอบจะมีนักลงทุนขาใหญ่ และนักปั่นชื่อดังประจำยุค นักลงทุนขาใหญ่รุ่นแรกๆ ช่วงระหว่างปี 2520-2522 ประกอบด้วย นายมา ชาน ลี, นายเสรี ทรัพย์เจริญ หรือนายผิน คิ้วคฑา (คิ้วไพศาล) รูปแบบการปั่นยุคนั้นไม่มีอะไรซับซ้อนเท่าไหร่ โดยใช้วิธีการปล่อยข่าวลือ สร้างข่าวลวง ชี้นำราคากันเท่านั้น
ช่วงระหว่างปี 2531-2536 ชื่อของ “เสี่ยสอง หรือนายสอง วัชรศรีโรจน์” ดังกระฉ่อนขึ้นมา ในฐานะนักลงทุนรายใหญ่ และอยู่เบื้องหลังความร้อนแรงของหุ้นนับสิบบริษัท ก่อนจะถูกกล่าวโทษในคดีปั่นหุ้นธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ (บีบีซี) ในปลายปี 2535 แต่ศาลยกฟ้อง
ต่อมา ในเดือนเมษายน 2536 ถูกกล่าวโทษคดีปั่นหุ้นบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด และต้องพบจุดจบ เพราะถูกศาลตัดสินว่ามีความผิด ถูกสั่งจำคุก แต่ไม่ติดคุกเพราะตำรวจไม่ได้ติดตามจับกุมตัวอย่างจริงจัง ทั้งที่เสี่ยสองป้วนเปี้ยนอยู่ในประเทศ จนคดีหมดอายุความ
หลังคดีหมดอายุความ นายสอง ได้กลับเข้ามาร่วมก๊วนกับนักลงทุนขาใหญ่บางกลุ่ม และมีข่าวว่า อยู่เบื้องหลังความร้อนแรงของหุ้นหลายตัว เพียงแต่ไม่มีบทบาทเป็นตัวจักรสำคัญในการกำหนดทิศทางราคาหุ้นเหมือนในอดีต สิ้นยุคเสื่ยสอง เป็นยุคของ หมอบรรยง พันธุ์วงศ์กล่อม และเสี่ยปู่ หรือนายสมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล ซึ่งมีชื่อเสียงขึ้นมา หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจ ปี2540 โดยปัจจุบันทั้งคู่ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุน ไม่เล่นอย่างหวือหวา ไม่เก็งกำไรที่หมิ่นเหม่ต่อการสร้างราคาเหมือนอดีต
ยุคของหมอบรรยง กับเสี่ยปู่ มีขาใหญ่เกิดขึ้นมากมาย มีเซียนโน่น เสี่ยนี่นับไม่ถ้วน โดยแก๊งปั่นหุ้นกระจายกันไปในลักษณะกลุ่มใครกลุ่มมัน หุ้นใครหุ้นมัน แก๊งไหนปั่นตัวไหน แก๊งอื่นก็จะไม่เข้าไปข้องเกี่ยว นักปั่นหุ้นแต่ละยุคแม้จะดำเนินยุทธวิธีการปั่นที่คล้ายๆ กัน เช่น การปล่อยข่าว สร้างข่าว ตั้งเป้าหมายราคา จุดพลุเก็งกำไร โยนและโยกหุ้น แต่ยุทธศาสตร์ระหว่างนักปั่นหุ้นแต่ละยุคมีความแตกต่างกัน
ยิ่งเปรียบเทียบระหว่างยุคเสี่ยสอง กับนักปั่นรุ่นปัจจุบันแตกต่างโดยสิ้นเชิง เสี่ยสองเข้าไปมีบทบาทในความเคลื่อนไหวราคาหุ้นหลายตัว และหุ้นตัวไหนที่มีข่าวว่า เสี่ยสอง ลุย หุ้นตัวนั้นจะวิ่งหูดับตับไหม้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่เสี่ยสอง เมื่อเข้าหุ้นตัวไหนหลังบรรลุเป้าหมาย ทำกำไรหนำใจแล้ว จะจากไป และเสาะหาหุ้นตัวใหม่เปิดยุทธการปั่นต่อ
ยุทธศาสตร์ของเสี่ยสอง ถ้าเปรียบเทียบกับนักรบโบราณจะเหมือนกับ “อัตติลา” กษัตริย์ฮั่นที่ครองราชย์ ระหว่างปี ค.ศ.434 ถึง ค.ศ.453 อัตติลา เป็นกษัตริย์นักรบที่ยิ่งใหญ่ และเป็นที่หวั่นเกรงกันทั่วยุโรปในยุคนั้น แม้แต่อาณาจักรโรมันยังสั่นสะเทือน แต่อัตติลาไม่ใช่นักล่าอาณานิคม แม้จะโจมตีรุกรานชนชาติอื่น แต่เมื่อรบชนะจะไม่ยึดเป็นเมืองขึ้น โดยจะปล้นสะดม ขนทรัพย์สินก่อนจากไป และเปิดแนวรบใหม่
แต่นักปั่นหุ้นรุ่นล่าสุดวางยุทธศาสตร์ที่แตกต่างจากเสี่ยสอง เพราะไม่ใช่เป็นเพียงการเข้าไปปั่น เพื่อทำกำไรเท่านั้น แต่มีเป้าหมายยึดครองด้วย โดยเข้าไปยึดครองอำนาจการบริหาร และมีหุ้นหลายตัวที่อยู่ภายใต้การยึดครองจนกลายเป็นอาณาจักรหุ้นปั่นที่มีเครือข่ายกว้างขวาง ยุทธศาสตร์นักปั่นรุ่นใหม่ ถ้าเปรียบเทียบกับนักรบผู้ยิ่งใหญ่ในยุคโบราณ จะเหมือนกับอเล็กซานเดอร์มหาราช ของอาณาจักรกรีก ระหว่างปี 356 ถึง 323 ก่อนคริสตกาล
อเล็กซานเดอร์ ขยายอาณาจักรโดยการรบ ตีเมืองแตกพ่ายแล้วจะเข้ายึดครอง ตั้งเจ้าเมืองปกครองแทน เหมือนนักปั่นที่ตั้ง “นอมินี” เข้าไปบริหารงานแทน และการเป็นนักรบที่เก่งกล้า จึงขยายพื้นที่การยึดครองไม่หยุดหย่อน ทำให้กรีกโบราณมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล
นักปั่นรุ่นใหม่บางกลุ่ม ปัจจุบันเข้าไปยึดครองหุ้นในตลาดหลักทรัพย์อยู่จำนวนไม่น้อยเหมือนกัน สร้างอาณาจักรที่มีเครือข่ายกว้างขวาง และกำลังถูกจับตาว่า อาณาจักรของบนักปั่นหุ้นรุ่นใหม่จะสิ้นสุดลงตรงจุดไหน เพราะไม่เคยมีนักปั่นคนใดอยู่ยงคงกระพันได้ตลอดไป เพียงแต่ใครจะจบลงอย่างไรเท่านั้น
ชุมชน ... สุนันท์ ศรีจันทรา