xs
xsm
sm
md
lg

พลังงานไทยในกระแสพลังงานโลก

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

รัฐมนตรีพลังงาน (พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์) ได้กล่าวในงานสัมมนาในหัวข้อ “พลังงานไทยในกระแสพลังงานโลก” เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2559 ตอนหนึ่งว่า พลังงานทดแทนของประเทศไทยที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่สามารถทดแทนพลังงานดั้งเดิมได้ หรือสามารถทดแทนได้น้อยมาก ดังนั้น เราจึงอาจเรียกได้ว่า เป็นพลังงานทางเลือกที่เผื่อไว้เลือกใช้มากกว่า เนื่องจากแนวทางการจัดหาไฟฟ้าต้องเป็นไปตาม 2 เงื่อนไข คือ สามารถจ่ายไฟได้ตลอดเวลาที่ต้องการ และราคาต้องไม่เพิ่มขึ้นกว่าเดิมมากนัก http://www.greennewstv.com

ผมได้อ่านรายงานข่าวชิ้นนี้ทั้งหมดแล้ว ไม่พบว่าได้มีการกล่าวถึง “กระแสพลังงานโลก” เพื่อให้คนไทยได้ศึกษาเปรียบเทียบระหว่างทิศทางพลังงานของประเทศไทยกับของชาวโลกในกระแสโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็วมากเลย ทั้งๆ ที่หัวข้อสัมมนาคือ “พลังงานไทยในกระแสพลังงานโลก” ผมไม่ทราบว่าเป็นเพราะผู้สื่อข่าว(สิ่งแวดล้อม)รายงานมาไม่ครบประเด็นหรืออย่างไร

สำหรับคำพูดของท่านรัฐมนตรีพลังงานดังกล่าวพอจะตีความได้ 3 ประเด็น คือพลังงานทดแทน (1) มีน้อย (2) ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตลอดเวลาที่ต้องการ และ (3) มีราคาแพง

ในบทความนี้ ผมจะกล่าวถึง “กระแสพลังงานโลก” ในบางส่วน และกล่าวถึง 3 ประเด็นที่รัฐมนตรีพลังงานกล่าวถึง ดังต่อไปนี้ครับ

ประเด็น พลังงานทดแทนมีน้อย

ในประเด็นนี้ ผมขอนำข้อมูลของรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกามาเปรียบเทียบ นอกจากเพื่อให้เราได้ทราบข้อเท็จจริงเรื่องจำนวนมาก/น้อยแล้ว ยังทำให้เราได้ทราบ “กระแสพลังงานโลก” ด้วยครับ

จากข้อมูลในปี 2558 รัฐแคลิฟอร์เนียมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์แล้วจำนวน 13,241 เมกะวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าเพียงพอสำหรับการใช้ในครอบครัวชาวแคลิฟอร์เนียได้ถึง 3.3 ล้านครอบครัว ซึ่งโดยเฉลี่ยเขาใช้ไฟฟ้าต่อคนมากกว่าคนไทยเราเสียอีก

นี่หรือครับที่ท่านรัฐมนตรีพลังงานของไทยเราบอกว่ามีน้อย

ในแง่ของ “กระแส” เราจำเป็นต้องเปรียบเทียบกับเวลาที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่ยกเอาข้อมูลในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น

หากย้อนหลังไปเพียง 10 ปี คือปี 2006 จนถึงปี 2015 อัตราการเพิ่มของโซลาร์เซลล์ในรัฐนี้มากกว่า 6,500% ถ้าคิดเฉพาะปี 2015 ก็เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 33% (ดูภาพประกอบ)

เมื่อย้อนไปถึงปี 2006 หน่วยงานของรัฐบาลที่ชื่อว่า U.S. Energy Information Agency (EIA) ในวันนั้นประเทศนี้ใช้พลังงานฟอสซิลผลิตไฟฟ้าถึง 71% โดยไม่เคยเห็นพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ในสายตา แต่ในปี 2015 พลังงานฟอสซิลได้ลดลงเหลือ 66.8% ในขณะที่พลังงานแสงอาทิตย์ได้เพิ่มขึ้นถึง 5,000% (ทั่วประเทศ)

ปัจจุบัน จากบทความที่ผมอ้างถึงในภาพถัดไป ได้ระบุว่า พลังงานหมุนเวียน(ซึ่งทางราชการไทยเรียกให้สับสนว่าพลังงานทดแทน) ได้ก้าวสู่กระแสหลักแล้วถึง 23 รัฐ

ในแง่ของการใช้ถ่านหิน ในไตรมาสที่ 2 ได้ลดลงมาเท่ากับระดับที่เคยใช้เมื่อ 35 ปีก่อน ภายใต้แผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในเวทีประชุมระดับโลกที่กรุงปารีส (COP21)

แต่ประเทศไทยเรากำลังทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม โดยไม่ไว้หน้าท่านนายกรัฐมนตรีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเกียรติภูมิของประเทศไทยเลยที่ได้ประกาศจะลด 20-25% ภายในปี 2030

ถามจริงๆ ครับ ว่า ถ้าประเทศไทยจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดรวม 8-9 พันเมกะวัตต์ แล้วจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้อย่างไร

ประเด็น ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตลอดเวลาที่ต้องการ

ประเด็นนี้สามารถทำให้คนทั่วไปหลงเชื่อได้ เพราะตอนกลางคืนไม่มีแสงอาทิตย์จะเอาไฟฟ้าที่ไหนใช้ ลมก็เดี๋ยวมาเดี๋ยวก็หยุด แถมมีคำเท่ๆ ว่า “ไม่เสถียร” มาขู่ยิ่งทำให้ดูน่าเชื่อถือมากเลย

เอาอย่างนี้ครับ เรามาดูข้อมูลจริงของการผลิตไฟฟ้าในรัฐออสเตรเลียใต้ และรัฐแทสมาเนีย ประเทศออสเตรเลียกันครับ

รัฐออสเตรเลียใต้ใช้เชื้อเพลิงเพียง 3 ชนิด คือ ก๊าซธรรมชาติ แสงแดด และพลังงานลม ในขณะที่รัฐแทสมาเนียใช้ 3 ชนิด เช่นกันคือ แสงแดด ลม และพลังน้ำ

วันนี้ (11 กันยายน 2559) เวลา 9.50 น. และ 10.50 น. ตามเวลาออสเตรเลีย การผลิตไฟฟ้าในรัฐออสเตรเลียใต้รวม 614 และ 735 เมกะวัตต์ตามลำดับ

คำถามก็คือ ทั้งๆ ที่พลังงานลมและแสงแดดไม่คงที่ (“ไม่เสถียร” ดูภาพประกอบ) แต่ทำไมเขาสามารถผลิตได้ ทั้งๆ ที่ตัวที่ไม่เสถียรมีจำนวนรวมกันกว่า 50% ของกำลังการผลิต

คำตอบก็คือ เขาให้พลังงานลมและพลังงานแสงแดดผลิตให้เต็มกำลังตามที่ธรรมชาติจัดสรรมาให้ ขาดเท่าใดก็นำพลังงานจากก๊าซธรรมชาติมาเสริมให้ครบตามที่ต้องการเท่านั้นแหละครับ

จบ มีปัญหาอะไร?

ถามจริงๆ ไม่รู้สึกเสียดายแดดบ้างเลยหรือครับ

ไม่สนใจปัญหาที่ท้าทายชาวโลกมากที่สุดในขณะนี้คือ การเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลแล้วทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก

ประเด็น มีราคาแพง

จากบทความของผมเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนเรื่อง “เมื่อมหา’ลัยธรรมศาสตร์ชี้นำสังคมด้วยการติดโซลาร์เซลล์” (http://manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9590000086186) สรุปได้ความว่า

ใช้เงินลงทุนขนาด 15 เมกะวัตต์ เป็นเงิน 750 ล้านบาท หรือเมกะวัตต์ละ 50 ล้านบาทถามว่าแพงไหม?

ตัวชี้วัดง่ายๆ ตัวหนึ่งการหาต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดอายุโครงการ ที่เขาย่อว่า LCOE วิธีการก็คือ นำต้นทุนทั้งหมดมาหารด้วยพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ตลอดโครงการ โดยไม่คิดค่าดอกเบี้ย ไม่คิดค่าเสื่อมประสิทธิภาพ

ในกรณีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต้นทุนเฉลี่ยเมกะวัตต์ละ 50 ล้านบาท ถ้าผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 1.4 ล้านหน่วยเป็นเวลา 25 ปี จะได้ว่าต้นทุนเฉลี่ยหน่วยละ 1.43 บาท ในขณะที่ค่าไฟฟ้าในมหาวิทยาลัยประมาณ 3.80 บาท

ราคาไหนแพงกว่ากัน ท่านผู้อ่านคงคิดได้เองนะครับ ไม่ต้องรอให้ท่านรัฐมนตรีตอบ

วันนี้บทความผมสั้นกว่าทุกครั้ง จึงขอแถมเรื่องราวที่สนามบินนานาชาติที่เมือง Burlington รัฐเวอร์มอนต์ สหรัฐอเมริกา เมืองที่มีประชากรกว่า 4 หมื่นคน และได้ใช้พลังงานหมุนเวียนแล้ว 100% เป็นเมืองแรกของประเทศ

เขาใช้พลังงานชีวมวลถึง 43% ซึ่งมาจากไม้โตเร็วที่เขาปลูกขึ้นเองและเป็นรายได้ของเกษตรกร

เรื่องพลังงานมีหลายมิติครับ ไม่ใช่แคบๆ ตันๆ อย่างที่ท่านรัฐมนตรีพูดและหลอกคนไทยมาตลอด
กำลังโหลดความคิดเห็น