xs
xsm
sm
md
lg

พลังงานไทยในกระแสพลังงานโลก / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 
คอลัมน์  :  โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท  มีแต้ม
 
รัฐมนตรีพลังงาน (พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์) ได้กล่าวในงานสัมมนาในหัวข้อ “พลังงานไทยในกระแสพลังงานโลก” เมื่อวันที่ 8 ก.ย.2559 ตอนหนึ่งว่า พลังงานทดแทนของประเทศไทยที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถทดแทนพลังงานดั้งเดิมได้ หรือสามารถทดแทนได้น้อยมาก ดังนั้น เราจึงอาจเรียกได้ว่า เป็นพลังงานทางเลือกที่เผื่อไว้เลือกใช้มากกว่า เนื่องจากแนวทางการจัดหาไฟฟ้าต้องเป็นไปตาม 2 เงื่อนไข คือ สามารถจ่ายไฟได้ตลอดเวลาที่ต้องการ และราคาต้องไม่เพิ่มขึ้นกว่าเดิมมากนัก http://www.greennewstv.com

ผมได้อ่านรายงานข่าวชิ้นนี้ทั้งหมดแล้ว ไม่พบว่าได้มีการกล่าวถึง “กระแสพลังงานโลก” เพื่อให้คนไทยได้ศึกษาเปรียบเทียบระหว่างทิศทางพลังงานของประเทศไทยกับของชาวโลกในกระแสโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็วมากเลย ทั้งๆ ที่หัวข้อสัมมนาคือ “พลังงานไทยในกระแสพลังงานโลก” ผมไม่ทราบว่าเป็นเพราะผู้สื่อข่าว (สิ่งแวดล้อม) รายงานมาไม่ครบประเด็นหรืออย่างไร

สำหรับคำพูดของท่านรัฐมนตรีพลังงานดังกล่าวพอจะตีความได้ 3 ประเด็น คือ พลังงานทดแทน (1) มีน้อย (2) ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตลอดเวลาที่ต้องการ และ (3) มีราคาแพง

ในบทความนี้ผมจะกล่าวถึง “กระแสพลังงานโลก” ในบางส่วน และกล่าวถึง 3 ประเด็นที่รัฐมนตรีพลังงานกล่าวถึง ดังต่อไปนี้ครับ

ประเด็น พลังงานทดแทนมีน้อย

ในประเด็นนี้ ผมขอนำข้อมูลของรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา มาเปรียบเทียบ นอกจากเพื่อให้เราได้ทราบข้อเท็จจริงเรื่องจำนวนมาก/น้อยแล้ว ยังทำให้เราได้ทราบ “กระแสพลังงานโลก” ด้วยครับ

จากข้อมูลในปี 2558 รัฐแคลิฟอร์เนีย มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์แล้วจำนวน 13,241 เมกะวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าเพียงพอสำหรับการใช้ในครอบครัวชาวแคลิฟอร์เนียได้ถึง 3.3 ล้านครอบครัว ซึ่งโดยเฉลี่ยเขาใช้ไฟฟ้าต่อคนมากกว่าคนไทยเราเสียอีก

นี่หรือครับที่ท่านรัฐมนตรีพลังงานของไทยเราบอกว่ามีน้อย

ในแง่ของ “กระแส” เราจำเป็นต้องเปรียบเทียบกับเวลาที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่ยกเอาข้อมูลในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น

หากย้อนหลังไปเพียง 10 ปี คือ ปี 2006 จนถึงปี 2015 อัตราการเพิ่มของโซลาร์เซลล์ในรัฐนี้มากกว่า 6,500% ถ้าคิดเฉพาะปี 2015 ก็เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 33% (ดูภาพประกอบ) 
 

 
เมื่อย้อนไปถึงปี 2006 หน่วยงานของรัฐบาลที่ชื่อว่า U.S. Energy Information Agency (EIA) ในวันนั้นประเทศนี้ใช้พลังงานฟอสซิลผลิตไฟฟ้าถึง 71% โดยไม่เคยเห็นพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ในสายตา แต่ในปี 2015 พลังงานฟอสซิลได้ลดลงเหลือ 66.8% ในขณะที่พลังงานแสงอาทิตย์ได้เพิ่มขึ้นถึง 5,000% (ทั่วประเทศ)

ปัจจุบัน จากบทความที่ผมอ้างถึงในภาพถัดไป ได้ระบุว่า พลังงานหมุนเวียน (ซึ่งทางราชการไทยเรียกให้สับสนว่าพลังงานทดแทน) ได้ก้าวสู่กระแสหลักแล้วถึง 23 รัฐ 
 

 
ในแง่ของการใช้ถ่านหิน ในไตรมาสที่ 2 ได้ลดลงมาเท่ากับระดับที่เคยใช้เมื่อ 35 ปีก่อน ภายใต้แผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในเวทีประชุมระดับโลกที่กรุงปารีส (COP21)

แต่ประเทศไทยเรากำลังทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม โดยไม่ไว้หน้าท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเกียรติภูมิของประเทศไทยเลยที่ได้ประกาศจะลด 20-25% ภายในปี 2030

ถามจริงๆ ครับ ว่า ถ้าประเทศไทยจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดรวม 8-9 พันเมกะวัตต์ แล้วจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้อย่างไร

ประเด็น ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตลอดเวลาที่ต้องการ

ประเด็นนี้สามารถทำให้คนทั่วไปหลงเชื่อได้ เพราะตอนกลางคืนไม่มีแสงอาทิตย์จะเอาไฟฟ้าที่ไหนใช้ ลมก็เดี๋ยวมาเดี๋ยวก็หยุด แถมมีคำเท่ๆ ว่า“ไม่เสถียร” มาขู่ยิ่งทำให้ดูน่าเชื่อถือมากเลย

เอาอย่างนี้ครับ เรามาดูข้อมูลจริงของการผลิตไฟฟ้าในรัฐออสเตรเลียใต้ และรัฐแทสมาเนีย ประเทศออสเตรเลียกันครับ

รัฐออสเตรเลียใต้ ใช้เชื้อเพลิงเพียง 3 ชนิด คือ ก๊าซธรรมชาติ แสงแดด และพลังงานลม ในขณะที่รัฐแทสมาเนีย ใช้ 3 ชนิด เช่นกันคือ แสงแดด ลม และพลังน้ำ

วันนี้ (11 กันยายน 2559) เวลา 9.50 น. และ 10.50 น. ตามเวลาออสเตรเลีย การผลิตไฟฟ้าในรัฐออสเตรเลียใต้รวม 614 และ 735 เมกะวัตต์ตามลำดับ

คำถามก็คือ ทั้งๆ ที่พลังงานลม และแสงแดดไม่คงที่ (“ไม่เสถียร” ดูภาพประกอบ) แต่ทำไมเขาสามารถผลิตได้ ทั้งๆ ที่ตัวที่ไม่เสถียรมีจำนวนรวมกันกว่า 50% ของกำลังการผลิต

คำตอบก็คือ เขาให้พลังงานลม และพลังงานแสงแดดผลิตให้เต็มกำลังตามที่ธรรมชาติจัดสรรมาให้ ขาดเท่าใดก็นำพลังงานจากก๊าซธรรมชาติมาเสริมให้ครบตามที่ต้องการเท่านั้นแหละครับ

จบ มีปัญหาอะไร?
 

 
ถามจริงๆ ไม่รู้สึกเสียดายแดดบ้างเลยหรือครับ

ไม่สนใจปัญหาที่ท้าทายชาวโลกมากที่สุดในขณะนี้คือ การเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลแล้วทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก

ประเด็น มีราคาแพง

จากบทความของผมเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนเรื่อง “เมื่อมหา’ลัยธรรมศาสตร์ชี้นำสังคมด้วยการติดโซลาร์เซลล์”(http://manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9590000086186) สรุปได้ความว่า

ใช้เงินลงทุนขนาด 15 เมกะวัตต์ เป็นเงิน 750 ล้านบาท หรือเมกะวัตต์ละ 50 ล้านบาทถามว่าแพงไหม?

ตัวชี้วัดง่ายๆ ตัวหนึ่งการหาต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดอายุโครงการ ที่เขาย่อว่า LCOE วิธีการก็คือ นำต้นทุนทั้งหมดมาหารด้วยพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ตลอดโครงการ โดยไม่คิดค่าดอกเบี้ย ไม่คิดค่าเสื่อมประสิทธิภาพ

ในกรณีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต้นทุนเฉลี่ยเมกะวัตต์ละ 50 ล้านบาท ถ้าผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 1.4 ล้านหน่วย เป็นเวลา 25 ปี จะได้ว่าต้นทุนเฉลี่ยหน่วยละ 1.43 บาท ในขณะที่ค่าไฟฟ้าในมหาวิทยาลัยประมาณ 3.80 บาท

ราคาไหนแพงกว่ากัน ท่านผู้อ่านคงคิดได้เองนะครับ ไม่ต้องรอให้ท่านรัฐมนตรีตอบ

วันนี้บทความผมสั้นกว่าทุกครั้ง จึงขอแถมเรื่องราวที่สนามบินนานาชาติที่เมือง Burlington รัฐเวอร์มอนต์ สหรัฐอเมริกา เมืองที่มีประชากรกว่า 4 หมื่นคน และได้ใช้พลังงานหมุนเวียนแล้ว 100% เป็นเมืองแรกของประเทศ 
 

 
เขาใช้พลังงานชีวมวลถึง 43% ซึ่งมาจากไม้โตเร็วที่เขาปลูกขึ้นเอง และเป็นรายได้ของเกษตรกร

เรื่องพลังงานมีหลายมิติครับ ไม่ใช่แคบๆ ตันๆ อย่างที่ท่านรัฐมนตรีพูด และหลอกคนไทยมาตลอด 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น