xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สิทธิบัตร “ใบกระท่อม” การรุกคืบของ “โจรสลัดชีวภาพ” ที่รัฐไทยไม่เคยจดจำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ร้อนฉ่ามาพร้อมกระแสเล็งปลด “กระท่อม-ยาบ้า” พ้นบัญชียาเสพติดที่ “บิ๊กต๊อก” กำลังผลักดันอย่างแข็งขันอยู่ในเวลานี้ ก็คือ การออกมาแฉเล่ห์กลของ “โจรสลัดชีวภาพ” อย่างญี่ปุ่นที่กำลังยื่นขอจดสิทธิบัตรกระท่อมทั่วโลกรวมถึงไทยด้วย และไม่เป็นที่น่าแปลกใจแต่อย่างใดที่กระทรวงพาณิชย์ จะทำเป็นหูหนวกตาบอดใบ้ เมื่อเรื่องถูกแฉก็ทำตามฟอร์มคือปฏิเสธไว้ก่อนว่า ไม่มี ไม่มี เอาที่ไหนมาพูดกัน ประเภทไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา

ภารกิจตามล่าหาความจริงจึงต้องพึ่งพิงมูลนิธิชีววิถีหรือไบโอไทย องค์กรพัฒนาเอกชนที่เกาะติดความเคลื่อนไหวของเหล่าโจรสลัดชีวภาพที่ทำเนียนเข้ามาบุกปล้นทรัพยากรชีวภาพของไทยไปต่อยอดจดสิทธิบัตรมานับไม่ถ้วน นับตั้งแต่ปี 2527 กรณี “เปล้าน้อย” ที่ญี่ปุ่นก็ได้จดสิทธิบัตรและเปิดตัวยาแก้โรคกระเพาะซึ่งสกัดจากเปล้าน้อยที่ปลูกในไทย เป็นต้นมา

ขณะเดียวกัน เรื่อง “กระท่อม-ยาบ้า” ที่ต่อเนื่องกันมานับตั้งแต่ “บิ๊กต๊อก”พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ออกโรงผลักดันพ้นบัญชียาเสพติด ก็มีการแชร์สนั่นในโลกออนไลน์ โดยไปไกลถึงขนาดว่า มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถอดกระท่อมพ้นบัญชียาเสพติด เรียบร้อยแล้ว ทั้งที่ความจริงกระบวนการยังไม่ถึงขั้นนั้น

พืชกระท่อม จึงคร่อมอยู่สองประเด็นคือ หนึ่ง โจรสลัดชีวภาพกำลังบุกปล้น และ สอง การถอดพ้นบัญชียาเสพติด ซึ่งเรื่องหลังนี้สรุปรวบรัด ณ เวลานี้ ก็คือ ยังไม่ได้เสนอต่อครม.และไม่มีมติ ครม.ออกมาแต่อย่างใด กระทรวงยุติธรรม กำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล ทำความเข้าใจ และฟังกระแสสังคม

การร่ำลือว่ามีมติครม.นั้นอาจมาจากข่าวสมัยที่ นายชัยเกษม นิติสิริ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่มีการประชุมผู้บริหารกระทรวง เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2556 ซึ่งมีความเห็นพ้องกันว่า ควรถอดพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พุทธศักราช2522 แต่เมื่อศึกษาอย่างถี่ถ้วนพบว่าต้องแก้ที่การบำบัดผู้เสพก่อนเป็นอันดับแรก ตามไทม์ไลน์จึงต้องแก้กฎหมายดึงผู้เสพออกจากเรือนจำมาบำบัดก่อน ส่วนการนำพืชเสพติดมาสกัดเป็นยาหรือใช้บำบัดซึ่งต้องแก้กฎหมายเอาไว้ทีหลัง เรื่องจึงซาไป

กระทั่งมาตื่นกันอีกครั้งช่วงต้นปีนี้ ที่มีการแชร์เรื่องกัญชาบำบัดรักษามะเร็ง รวมถึงการออกโรงของ “บิ๊กต๊อก” เพราะก้าวแรกที่จะส่งต่อผู้เสพให้กระทรวงสาธารณสุข นับแสนคนเพื่อไปบำบัดจะเริ่มในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้แล้ว ขั้นต่อไปจึงถึงเวลาเตรียมการถอดพ้นบัญชียาเสพติดฯ พวกก็เลยมโนล้ำ หน้าจับแพะชนแกะสร้างความสับสนไปนิดหนึ่ง

มาว่ากันเรื่องโจรสลัดชีวภาพกำลังบุกปล้น เรื่องนี้ต้องยกนิ้วให้มูลนิธิชีววิถีหรือไบโอไทย ที่ผนึกกำลังเครือข่ายนักวิชาการ กระทุ้งให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเฉพาะกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ คัดค้านการให้สิทธิบัตรแก่โจรสลัดฯ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการนำใบกระท่อมไปพัฒนาต่อยอดต่อการพัฒนาประเทศไทย เวอร์ชั่น4.0 ซึ่งอาศัยฐานทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นรากฐาน

สำหรับที่มาที่ไป กรณีญี่ปุ่นยื่นขอจดสิทธิบัตรสารและอนุพันธ์ ที่ได้พืชกระท่อมที่มีถิ่นกำเนิดในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไรนั้น จากการสืบสาวของไบโอไทย พบว่า เมื่อสองปีที่แล้ว เอ็ดเวิร์ด แฮมมอนด์ ได้เผยแพร่บทความใน TWN Info Service on Intellectual Property Issues เปิดเผยถึงกรณีของมหาวิทยาลัยชิบะ และมหาวิทยาลัยโจไซ ของญี่ปุ่น จดสิทธิบัตรสารและอนุพันธ์ซึ่งได้จากใบกระท่อม และเป็นข่าวเล็กๆ ในสื่อไทยบางฉบับเมื่อเดือนเมษายน 2559 แต่ไม่มีใครสนใจ

การจดสิทธิบัตรดังกล่าว นอกจากญี่ปุ่น จะได้รับสิทธิบัตรจำนวน 3 สิทธิบัตร คือ สิทธิบัตรสหรัฐ US patent 8247428เมื่อปี 2555 สิทธิบัตรญี่ปุ่น patent 5308352 เมื่อปี 2556และสิทธิบัตรสหรัฐ US patent 8648090 เมื่อปี 2557 แล้ว ขณะนี้ มหาวิทยาลัยชิบะ ยังได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรผ่านสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร หรือ PCT เพื่อให้มีผลในประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นภาคีในสนธิสัญญาดังกล่าว 117 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย

คำขอสิทธิบัตรดังกล่าว ได้ยื่นต่อ WIPO (องค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลก) เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2557 ซึ่งภายใน 2ปีครึ่งหรือ เมษายน 2560 คำขอสิทธิบัตรซึ่งองค์กรตรวจสอบระหว่างประเทศ ได้ตรวจสอบแล้ว จะถูกจัดส่งมายังกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อเข้าสู่การพิจารณาอนุมัติสิทธิบัตรของไทยต่อไป

นั่นหมายความว่า ประเทศไทย มีเวลาอยู่อีกไม่กี่เดือนที่จะคัดค้านหรือขอเข้าไปมีส่วนร่วมแบ่งปันผลประโยชน์ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ แต่หน่วยงานของไทยที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้โดยตรงยังทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ทำเป็นทองไม่รู้ร้อน

ไบโอไทยยังเปิดเผยถึงเบื้องหลังการจดสิทธิบัตรของญี่ปุ่นว่า เกิดขึ้นจากงานศึกษาวิจัยของคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิบะ และมหาวิทยาลัยโจไซ ซึ่งร่วมทำโครงการวิจัยสารกลุ่มอัลคาลอยด์ในพืชกระท่อมของไทยร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยชื่อดังในประเทศไทย

และที่น่าเป็นห่วงมากไปกว่านี้คือ คณะวิจัยจากต่างประเทศกลุ่มนี้ยังคงมี “ความร่วมมือทางวิชาการ” ร่วมกับนักวิจัยในประเทศไทยในมหาวิทยาลัยดังกล่าวอย่างต่อเนื่องในการวิจัยสมุนไพรไทยจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอื่นอีก 10 สถาบัน รวมเป็น 11 สถาบัน โดยนอกเหนือจากกระท่อมแล้ว ยังมีพืชสมุนไพรอีกหลายชนิดที่อยู่ในความร่วมมือทางวิชาการดังกล่าวด้วย

ถามว่า โจรสลัดชีวภาพบุกมาปล้นถึงหัวกะไดบ้านในนามของความร่วมมือทางวิชาการขนาดนี้แล้ว รัฐบาลรู้ยัง? ทันเล่ห์เหลี่ยมเขาไหม?

กรณีสิทธิบัตรกระท่อมที่กลุ่มนักวิจัยญี่ปุ่นได้รับจากการศึกษาวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยไทย คือ “สิทธิบัตรอนุพันธ์ของสารสกัด Mitragynine จากใบกระท่อม กระบวนการผลิต ยา และการนำไปใช้รักษาโรคในคนและสัตว์” นั้น แม้จะไม่มีผลกระทบกับการปลูก การนำใบกระท่อมมาใช้ในรูปแบบใบสด หรือการแปรรูปเบื้องต้น (ตากแห้ง บด ป่น ต้ม เป็นต้น) เพราะพืชพันธุ์และการใช้ประโยชน์พื้นๆ นั้นไม่มีใครสามารถจดสิทธิบัตรครอบครองได้อยู่แล้ว

แต่ที่จะมีผลกระทบก็คือ การวิจัยเพื่อต่อยอดการใช้สาร Mitragynine มาใช้ประโยชน์ทางยาในรูปแบบต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยชิบะและมหาวิทยาลัยโจไซ ได้จดสิทธิบัตรไว้ ทั้งตัวสารและกระบวนการผลิตสารกลุ่มดังกล่าว และกระทบกับการแปรสภาพใบกระท่อมไปใช้ประโยชน์ ซึ่งอาจมีกลุ่มอนุพันธ์ของ Mitragynineที่ญี่ปุ่นได้จดสิทธิบัตรไว้ด้วย แม้สิทธิบัตรนี้ไม่ได้เป็นการจดสิทธิบัตร Mitragynine หรือ7-hydroxymitragynine โดยตรง แต่เป็นการใช้ประโยชน์ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของประเทศไทยแล้วนำไปต่อยอด

รศ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ศูนย์วิจัยและปฏิบัติการเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่า จากการศึกษาสิทธิบัตรของญี่ปุ่นทั้ง 3 สิทธิบัตรที่มีข้อถือสิทธิ์ครอบคลุมอนุพันธ์จากสารสกัดใบกระท่อมคือ มิตราไจนีน (Mitragynine)และเซ่เว่นไฮดรอกซี่มิตราไจนีน(7-Hydroxymitragynine) เป็นจำนวนมาก การนำสารดังกล่าวเป็นยารักษาอาการปวด ในรูปแบบต่างๆ อย่างกว้างขวางซึ่งจะกระทบกับการนำใบกระท่อมไปพัฒนาต่อไปในอนาคต ตัดโอกาสในการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นสำหรับการสร้างประเทศไทย 4.0ตามที่รัฐบาลได้ประกาศ

ขีดเส้นตรงบรรทัดที่ว่า “ตัดโอกาสในการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นสำหรับการสร้างประเทศไทย4.0 ตามที่รัฐบาลได้ประกาศ” นี่เป็นเรื่องสำคัญมาก หากคิดจะต่อยอดพัฒนานำพาประเทศไทยก้าวไปอีกขั้นจากฐานทรัพยากรชีวภาพที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในโลกของประเทศไทย

ประเด็นต่อมาก็คือ การจดสิทธิบัตรดังกล่าวข้างต้นโดยกลุ่มนักวิจัยญี่ปุ่น ยังดำเนินการโดยลำพังปราศจากการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมและยุติธรรมกับประเทศไทย ซึ่งไม่เป็นไปตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ที่กำหนดให้พืชสมุนไพรและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ปรากฏในดินแดนประเทศไทย อยู่ภายใต้สิทธิอธิปไตยของประเทศไทย การวิจัยของนักวิจัยต่างชาติและนักวิจัยไทยซึ่งเกิดขึ้นหลังพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี2542 เป็นต้นมา เกี่ยวกับพันธุ์พืชป่าหรือพันธุ์พืชทั่วไปของไทย ต้องแจ้งและขออนุญาตตามกฎหมาย และในกรณีที่มีการจดสิทธิบัตรซึ่งนำไปสู่ผลประโยชน์ทางการค้าจะต้องขออนุญาตและแบ่งปันผลประโยชน์กับคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช

เมื่อปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า การจดสิทธิบัตรของญี่ปุ่นในกรณีนี้ ไม่มีการปฏิบัติตามพันธกรณีเกี่ยวกับการเข้าถึง การทำความตกลงร่วมกัน และการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมตามอนุสัญญาฯ นั่นก็เท่ากับว่าการดำเนินการของกลุ่มนักวิจัยจากญี่ปุ่นในกรณีนี้เข้าข่ายการกระทำที่เรียกว่า"โจรสลัดชีวภาพ"ที่ละเมิดความตกลงระหว่างประเทศและจริยธรรมการวิจัยระหว่างประเทศ

ถ้ารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังตามเรื่องไม่ทัน จะให้ทำอย่างไร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับการมอบหมายให้ประสานงานและดูแลเกี่ยวกับอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ, กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งดูแล พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช, กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีภารกิจในการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาสมุนไพรไทย รวมทั้งกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ก็รีบตั้งวงหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาปรึกษาหารือกันจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร

ส่วนข้อเสนอจากเครือข่ายนักวิชาการ โดย ผศ.สมชาย รัตนชื่อสกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มีอยู่ 4 ประการ คือ 1) ให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา พิจารณาว่าคำขอสิทธิบัตรดังกล่าวมีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงกว่าจริงหรือไม่เพราะอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่นและอนุพันธ์ดังกล่าว อาจมีอยู่แล้วในกลุ่มสารอัลคาลอยด์จากใบกระท่อม

2) ให้นำกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช มาตรา52 ซึ่งระบุให้นักวิจัยต้องขออนุญาตและแบ่งปันผลประโยชน์เพื่อปฏิเสธการขอสิทธิบัตรในประเทศไทยหากไม่ดำเนินการโดยชอบตามกฎหมาย3)ต้องพัฒนาระบบกฎหมายการคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพ เพราะมีช่องโหว่อยู่ในกฎหมายไทย

และ4)สำคัญที่สุดคือกรมทรัพย์สินทางปัญญา จะต้องแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร ให้แสดงที่มาของทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรมตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ดังที่ประเทศต่างๆ แม้แต่ประเทศพัฒนาแล้ว เช่น นอรเวย์ สวิตเซอร์แลนด์ ได้แก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรในประเทศของตน

ถ้ายังทำเป็นทองไม่รู้ร้อน หรือเอาแต่ปฏิเสธข่าวไม่มีเรื่องอย่างว่าดังที่นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ออกมาบอกปัดไม่มีเรื่องยื่นจดสิทธิบัตรในประเทศไทย ไม่มีอะไรที่ต้องไปคัดค้าน แต่ไม่ได้ไปดูว่าญี่ปุ่นยื่นขอจดสิทธิบัตรผ่านสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร หรือ PCT เพื่อให้มีผลในประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นภาคีในสนธิสัญญาดังกล่าว 117 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย และจะต้องรีบหาทางแก้ไข ก็คาดหมายล่วงหน้าได้เลยว่าไทยแลนด์ 4.0 นั้น พาณิชย์มีส่วนทำพังตั้งแต่ต้น

ถึงตอนนี้แม้ว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญา จะอ้อมแอ้มยอมรับแล้วว่าญี่ปุ่นได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรกระท่อมผ่าน PCT จริง ก็ยังถูไถไปว่า “ข้อมูลว่าระยะเวลาการยื่นคำขอตามกระบวนการ PCT นั้นสิ้นสุดลงแล้วตั้งแต่29 เมษายน 2559” และ “ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องคัดค้าน” ซึ่งตรงข้ามกับข้อมูลของไบโอไทยและเครือข่ายนักวิชาการ

หากยังไม่ชัดเจน ไม่มีทางที่เรื่องนี้จะจบลงง่ายๆ มีทางเดียวคือ กระทรวงพาณิชย์ ต้องทำให้กระจ่างแจ้งว่าอะไรเป็นอะไร จะทำงุบงิบๆ ซุกเรื่องไว้ไม่ได้ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี และเครือข่ายฯ คงไม่ยอมรามือแน่

ทางไบโอไทยและศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา(กพย.) ได้ประสานงานเครือข่ายทางวิชาการและองค์กรภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง ยื่นหนังสือต่อรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ หนึ่ง ให้มีการยกเลิกการจัดประเภทกระท่อมให้เป็นสารเสพติดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522เพื่อให้สามารถปลูก มีไว้ครอบครองเพื่อใช้ประโยชน์ทางยาและงานวิจัย และ สอง เสนอให้รัฐบาลเพิกถอนสิทธิบัตรและยับยั้งสิทธิบัตรซึ่งได้มาจากทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งไม่เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ

นาทีนี้ ประชาชนตื่นขึ้นมาทำหน้าที่ปกป้องฐานทรัพยากรชีวภาพเพื่อต่อยอดก้าวสู่ประเทศไทย เวอร์ชั่น 4.0 แล้ว รอดูว่าองคาพยพหน่วยงานรัฐภายใต้ “รัฐบาลบิ๊กตู่” ว่า จะลุกขึ้นมาต่อกรกับโจรสลัดชีวภาพได้หรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น