xs
xsm
sm
md
lg

“ไบโอไทย” จี้ 4 หน่วยงานรัฐเร่งคัดค้านต่างชาติขอรับสิทธิบัตร “กระท่อม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ไบโอไทย” จี้ 4 หน่วยงานรัฐ สังกัด “พาณิชย์-เกษตร-สธ.” เร่งยื่นคัดค้านขอรับสิทธิบัตรพืชกระท่อม ย้ำกรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องเป็นหน่วยงานหลัก เผยข้อมูลเชิงลึกหลายประเทศยื่นขอเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ห่วงไทยเสียหายหากปล่อยยืดเยื้อทำขั้นตอนอนุมัติสิทธิบัตรเข้าทางต่างชาติยื่นขอรับสิทธิบัตร จวกรัฐฯ ละเลย 20 ปีไม่แก้กฎหมายสิทธิบัตร

วันนี้ (7 ก.ย.) มีรายงานว่า เว็บไซต์มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ได้เผยแพร่บทความแสดงความเห็นต่อกระแสข่าวกรณีการจดสิทธิบัตร “พืชกระท่อม” แม้เมื่อวันที่ 5 ก.ย. นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะออกมาปฏิเสธข่าวว่ามีนักวิจัยญี่ปุ่นได้วิจัยใบกระท่อม และนำไปสิทธิบัตรในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น รวมทั้งในไทยโดย ยืนยันว่ากรณีดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติมของไทย ไม่อนุญาตให้มีการจดสิทธิบัตรพืช หรือสารสกัดจากพืช แต่ พ.ร.บ.สิทธิบัตรไทยจะรับจดเฉพาะกระบวนการ หรือวิธีการที่ใช้ในการสกัดที่มีการพัฒนาขึ้นใหม่ หรือต่อยอดไปจากวิธีการเดิมทั่วๆ ไปเท่านั้น ไม่รับจดสิทธิบัตรสารสกัดใหม่ที่เกิดขึ้น

เว็บไซต์มูลนิธิชีววิถีระบุว่า มีหลายประเด็นที่หน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่และดูแลกฎหมายต่างๆต้องดำเนินการ โดยหน่วยงานหลักที่มีบทบาทมากที่สุด คือ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และกระทรวงสาธารณสุขที่ดูแล พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษด้วย

กรมทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลเรื่องนี้ ต้องรีบดำเนินการยื่นคัดค้านการขอรับสิทธิบัตรในกระท่อมซึ่งยื่นโดยบริษัทมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นโดยด่วน เนื่องจากเมื่อผ่านขั้นตอนการพิจารณาโดยองค์กรตรวจสอบระหว่างประเทศของ WIPO แล้วสิทธิบัตรดังกล่าวจะถูกส่งมายังแต่ละประเทศเพื่อพิจารณาว่าจะอนุมัติหรือไม่

จากการตรวจสอบของไบโอไทยหลายประเทศที่ยื่นคำขอเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD) ซึ่งต้องปฏิบัติตามพันธกรณีเกี่ยวกับการเข้าถึง การทำความตกลงร่วมกัน และการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม แหล่งข่าวจากกรมฯซึ่งให้ข่าวผ่านสื่อมวลชนขณะนี้ยอมรับแล้วว่าญี่ปุ่นได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรกระท่อมผ่าน PCT จริง แต่กลับอ้างว่า “ข้อมูลว่าระยะเวลาการยื่นคำขอตามกระบวนการ PCT นั้นสิ้นสุดลงแล้วตั้งแต่ 29 เมษายน 2559” (ข่าวไทยพีบีเอส https://www.facebook.com/plikpomKhao/videos/2108455789380580/ เวลาตั้งแต่ -4.25 เป็นต้นไป) “ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องคัดค้าน” คำกล่าวดังกล่าวน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งว่ากรมฯ จะปล่อยเวลาให้เนิ่นช้าออกไป เพราะหากเป็นดังกล่าวจริงขณะนี้ขั้นตอนการอนุมัติสิทธิบัตรได้ไปถึงประเทศต่างๆ ที่ฝ่ายญี่ปุ่นประสงค์จะยื่นขอรับสิทธิบัตรแล้ว กรมฯ ต้องรีบดำเนินการคัดค้านไปยังแต่ละประเทศโดยเร็ว เพราะหากไม่ยอมดำเนินการใดๆจะเกิดความเสียหายต่อประเทศ

สิ่งที่เป็นความบกพร่องสำคัญของกรมฯ ก็คือการละเลยไม่ยอมแก้กฎหมายสิทธิบัตรของไทยให้แสดงที่มาของทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น ในขณะที่ประเทศซึ่งการปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวจะทำให้บริษัทยาในประเทศของตนต้องเสียประโยชน์ก็ยังแก้กฎหมายนั้นแล้ว (เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น) เพื่อให้เป็นไปตาม CBD เสียงเรียกร้องให้มีการแก้กฎหมายนี้โดยเครือข่ายวิชาการเกี่ยวกับทรัพยากรชีวภาพมีมานานและต่อเนื่องกว่า 20 ปี แต่ผู้รับผิดชอบยังคงเพิกเฉย อาจเป็นเพราะอิทธิพลของระบบกฎหมายสิทธิบัตรแบบอเมริกันที่ครอบงำผู้เกี่ยวข้องเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทย

กรมวิชาการเกษตรเป็นอีกหน่วยงานที่ควรมีบทบาทเชิงรุกในกรณีนี้ เนื่องจากภายใต้กฎหมายสิทธิบัตรพันธุ์พืช กระท่อมถือเป็นพันธุ์พืชที่ได้รับการคุ้มครอง ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช 2542 นักวิจัยที่ใช้ประโยชน์จากพันธุ์พืชป่า หรือพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป เป็นต้น นั้น ต้องขออนุญาตและต้องทำความตกลงแบ่งปันผลประโยชน์กับรัฐ การให้ข่าวจากกรมโดยเพียงแต่แจ้งว่ายังไม่มีนักวิจัยมายื่นขอขอวิจัยสารสกัดจากกระท่อมจึงไม่มีประโยชน์อะไร

ส่วนกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกต้องร่วมสนับสนุนและผลักดันให้รัฐบาลโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา นอกเหนือจากปฏิเสธการยื่นจดสิทธิบัตรในประเทศไทยแล้ว ยังมีความจำเป็นต้องยื่นคัดค้านการขอจดในต่างประเทศด้วย โดยควรรวบรวมตำรับยาและสูตรยาของหมอพื้นบ้านต่างๆที่ระบุคุณสมบัติเกี่ยวกับการระงับปวดว่าเป็นความรู้ของหมอยาพื้นบ้านและปรากฎในหลักฐานต่างๆของไทย

จากการจัดประชุมวิเคราะห์และแถลงต่อสื่อมวลชนเมื่อวานนี้ (4 ก.ย.) การคัดค้านสิทธิบัตรควรยื่นคัดค้านทั้งในส่วนที่

- เป็นการคัดค้านภายใต้กรอบกฎหมายสิทธิบัตร เช่น อนุพันธ์ของ Mitragynine ที่มีการยื่นขอจดอย่างครอบคลุมกว้างขวางนั้นมีอยู่แล้วในสารสกัดธรรมชาติจากกระท่อมหรือไม่? หรือมีอยู่แล้วในพืชอื่นๆ? คุณสมบัติของกระท่อมในการบำบัดอาการปวดซึ่งเป็นความรู้ของหมอยาพื้นบ้าน การจดสิทธิบัตรของญี่ปุ่นจึงไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมายสิทธิบัตรเองที่ต้องมีความใหม่ และมีนวัตกรรมที่สูงขึ้น?

- เป็นการคัดค้านภายใต้กติการะหว่างประเทศ CBD ที่ทั้งไทยและญี่ปุ่นหรือประเทศที่ญี่ปุ่นกำลังยื่นจดนั้นเป็นภาคี รวมทั้งการอ้างกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชของไทย(ซึ่งเป็นกฎหมายภายในที่เอาหลักการใน CBD มาปรับใช้)

สำหรับการเสนอให้ยกเลิกกระท่อมเป็นสารเสพติดที่ผู้ครอบครองมีโทษทั้งจำทั้งปรับนั้น ขัดขวางต่อการนำสมุนไพรดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ซึ่งจะขอกล่าวเป็นลำดับต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น