xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” โต้ข่าว ยันญี่ปุ่นไม่ได้ยื่นจดสิทธิบัตรสารใบกระท่อมในไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” เผยนักวิจัยญี่ปุ่นไม่ได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรสารสกัดจากกระท่อมในไทยอย่างที่เป็นข่าว ยันตามกฎหมายสิทธิบัตรไทยไม่รับจดสารสกัดจากพืช และกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช กำหนดใครจะเอาพันธุ์พืชสมุนไพรไทยไปใช้ต้องขออนุญาต และต้องแบ่งปันผลประโยชน์ให้ด้วย ขณะที่เว็บไซต์ biothai แฉยุ่นดอดจดสิทธิบัตรแล้วในญี่ปุ่น-อเมริกา อยู่ระหว่างยื่นขอจดในไทยผ่าน PCT

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวว่ามีนักวิจัยญี่ปุ่นได้วิจัยใบกระท่อม และนำไปสิทธิบัตรในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น รวมทั้งในไทยว่า ยืนยันว่ากรณีดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติมของไทย ไม่อนุญาตให้มีการจดสิทธิบัตรพืช หรือสารสกัดจากพืช แต่ พ.ร.บ.สิทธิบัตรไทยจะรับจดเฉพาะกระบวนการ หรือวิธีการที่ใช้ในการสกัดที่มีการพัฒนาขึ้นใหม่ หรือต่อยอดไปจากวิธีการเดิมทั่วๆ ไปเท่านั้น ไม่รับจดสิทธิบัตรสารสกัดใหม่ที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ พ.ร.บ.สิทธิบัตรของไทยยังไม่อนุญาตให้บุคคลใดถือสิทธิแต่เพียงผู้เดียว กับสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งกระท่อมเป็นพืชพื้นเมืองทั่วไปที่มีอยู่ตามธรรมชาติ จึงไม่ต้องกังวลว่าไทยจะรับจดสิทธิบัตรให้นักวิจัย ทั้งไทยและต่างชาติ และจากการตรวจสอบของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ไม่พบนักวิจัยญี่ปุ่นยื่นคำขอจดสิทธิบัตรสารสกัดใบกระท่อมในไทย อีกทั้งกระท่อมอยู่ในบัญชีสารเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 5 ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ของกระทรวงสาธารณสุข ที่ห้ามผู้ใดผลิต นำเข้า จำหน่าย ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง หากจะดำเนินการต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีก่อน

สำหรับข้อกังวลเรื่องต่างชาติเอาพืชไทยไปพัฒนาต่อยอดโดยไม่ขออนุญาตก่อน และไม่แบ่งปันผลประโยชน์นั้น ไทยมีกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชภายใต้การกำกับดูแลของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กำหนดว่าใครจะเอาพันธุ์พืชไทยไปใช้ต้องขออนุญาตก่อน และต้องเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ซึ่งสอดรับกับอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biodiversity หรือ CBD) ที่มีไทยเป็นสมาชิกด้วย

“ถ้าบริษัทยาข้ามชาติซึ่งเป็นสมาชิก CBD เช่น อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี ญี่ปุ่น เป็นต้น จะเอาใบกระท่อมซึ่งเป็นพืชพื้นเมืองของไทยไปพัฒนาต่อยอดก็ต้องขออนุญาต และเมื่อได้รับอนุญาตแล้วต้องแบ่งปันผลประโยชน์ให้ไทยในฐานะเป็นสมาชิก CBD เช่นกัน แต่บริษัทของประเทศเหล่านี้จะไม่สามารถตั้งฐานการผลิตยาจากใบกระท่อมในไทย หรือส่งออกมาไทยได้ หากไม่ได้รับอนุญาตจาก รมว.สาธารณสุข เพราะกระท่อมซึ่งใบมีสารเสพติดให้โทษถือว่าห้ามผลิต จำหน่ายในประเทศ และห้ามนำเข้าด้วย”

อย่างไรก็ตาม เพื่อเตรียมการรองรับการเจรจาจัดทำความตกลงระหว่างประเทศขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ด้านการคุ้มครองทรัพยากรพันธุกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการแสดงออกทางวัฒนธรรมดั้งเดิมนั้น ไทยได้ร่วมกับประเทศกำลังพัฒนาผลักดันให้มีการกำหนดเงื่อนไขการบอกแหล่งที่มา การขออนุญาตก่อนใช้ และแบ่งปันผลประโยชน์กับประเทศ หรือชุมชนเจ้าของทรัพยากรพันธุกรรม กรณีการนำสมุนไพร ทรัพยากรพันธุกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นไปใช้ก่อนยื่นขอรับจดทะเบียนสิทธิบัตร โดยเมื่อเร็วๆ นี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่ข้องไทยแล้วเพื่อจัดทำฐานข้อมูลพืชสมุนไพร ทรัพยากรพันธุกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย เพื่อให้ภาครัฐและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใช้เป็นแหล่งข้อมูลเพื่อติดตาม ตรวจสอบ และบังคับใช้ตามเงื่อนไขการขออนุญาตก่อนใช้ และแบ่งปันผลประโยชน์ให้ประเทศ/ชุมชน ภายใต้ระบบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ biothai.net ระบุว่า กรณีที่นักวิจัยญี่ปุ่นยื่นจดสิทธิบัตรสารสกัดจากกระท่อมนั้น เป็นความร่วมมือในการศึกษาวิจัยของนักวิจัยญี่ปุ่นร่วมกับนักวิจัยไทย โดยได้นำผลงานการวิจัยดังกล่าวไปยื่นขอจดสิทธิบัตรที่สหรัฐฯ และญี่ปุ่นเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา และปัจจุบันได้รับการจดสิทธิบัตรแล้วใน 2 ประเทศ ล่าสุดนักวิจัยญี่ปุ่นอยู่ระหว่างการยื่นขอจดสิทธิบัตรผ่านสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร (PCT) โดยยื่นขอจดที่ประเทศเดียว แต่สามารถมีผลบังคับใช้ได้ในทุกประเทศที่เป็นสมาชิก PCT ซึ่งรวมถึงไทยด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น