xs
xsm
sm
md
lg

ไม่รับนะจ๊ะ! ไทยเซย์โนยุ่นจดสิทธิบัตรกระท่อม!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รมว.พาณิชย์ยืนยันเอง นักวิจัยยุ่นยังไม่ได้จดสิทธิบัตรกระท่อม ไม่รับจดสารสกัดที่เกิดขึ้นใหม่ หากใครนำพืชไทยไปต่อยอดต้องขออนุญาตและแบ่งผลประโยชน์ให้ไทยด้วย!

เป็นที่ฮือฮากันก่อนหน้านี้และมีการแชร์สนั่นโลกโลกโซเชียลฯ ถึงกรณีที่มีกลุ่มนักวิจัยชาวญี่ปุ่น ได้มีการศึกษาวิจัยสารในใบกระท่อม ซึ่งเป็นพืชพื้นเมืองที่พบได้ทั่วไปในไทย และมีการเตรียมยื่นจดสิทธิบัตรในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น รวมถึงในไทยนั้น ทำให้หลายคนเกิดความกังวลว่า การกระทำเช่นนี้จะทำให้ไทยเสียประโยชน์หรือไม่
ในเรื่องนี้ได้รับคำยืนยันจาก อภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ว่าข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง ทางกลุ่มนักวิจัยญี่ปุ่นยังไม่มีการจดสิทธิบัตร เนื่องจาก พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติมของไทย ไม่อนุญาตให้มีการจดสิทธิบัตรพืช หรือสารสกัดจากพืช

พ.ร.บ.สิทธิบัตรไทย จะรับจดเฉพาะกระบวนการ หรือวิธีการที่ใช้ในการสกัด ที่มีการพัฒนาขึ้นใหม่ หรือต่อยอดไปจากวิธีการเดิมทั่วๆ ไปเท่านั้น ไม่รับจดสิทธิบัตรสารสกัดใหม่ที่เกิดขึ้น ซึ่งคำยืนยันของ รมว.พาณิชย์นี้ ได้สอดคล้องกับคำตอบของทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ว่า ไม่มีการมายื่นขอจดสิทธิบัตรจากนักวิจัยญี่ปุ่นเช่นกัน
ส่วนใครก็ตามที่จะนำพันธุ์พืชของไทยไปใช้ประโยชน์นั้น จะต้องได้รับการอนุญาตและผ่านการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์เสียก่อน เพราะไทยเองก็มีกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช โดยมีหน่วยงานที่ดูแลอยู่คือกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งทั้งหมดนี้เกี่ยวโยงกับ อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biodiversity หรือ CBD) ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในสมาชิกของอนุสัญญาดังกล่าว



“หากบริษัทยาข้ามชาติซึ่งเป็นประเทศสมาชิก CBD และให้สัตยาบันอนุสัญญานี้แล้ว เช่น อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี และญี่ปุ่น เป็นต้น จะเอาใบกระท่อมซึ่งเป็นพืชพื้นเมืองของไทยไปพัฒนาต่อยอดก็ต้องขออนุญาตก่อน และเมื่อได้รับอนุญาตแล้วต้องแบ่งปันผลประโยชน์ให้ไทยในฐานะเป็นสมาชิก CBD เช่นกัน รมว.พาณิชย์กล่าว
ทั้งนี้กระท่อมยังอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 เช่นเดียวกับกัญชา ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ของกระทรวงสาธารณสุข ที่ห้ามผู้ใดผลิต นำเข้า จำหน่าย ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง หากจะดำเนินการต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีก่อน



อีกประเด็นที่มีการพูดถึงอย่างกว้างขวาง คือเรื่องการยื่นถอดถอนใบกระท่อมออกจากบัญชีสารเสพติดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนที่ต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบของกระทรวงสาธารณสุข ว่าจะดำเนินการไปในทิศทางใด
แม้ใบกระท่อมจะมีประโยชน์ทางยา ในเรื่องของการแก้อาการปวดท้องต่างๆ และผู้ที่ต้องใช้แรงงานบางคนยังนิยมนำใบกระท่อมมาเคี้ยวสด เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า มีแรงทำงาน และทำให้อารมณ์ดี แต่โทษในใบกระท่อมเองก็มีมากมายเช่นกัน เพราะหากบริโภคอย่างต่อเนื่องจะทำให้เกิดอาการกระสับกระส่าย ปวดเมื่อยตามข้อ ร่างกายทรุดโทรม เกิดภาพหลอนและพูดจาไม่รู้เรื่อง และถ้าหยุดเสพจะส่งผลให้ร่างกายเกิดความอ่อนล้าอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ซึมเศร้า และบางรายมีอาการก้าวร้าวร่วมด้วย




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น