xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวมั่ว! ครม.ปลดล็อก “กัญชา” จากยาเสพติดเป็นสมุนไพร ความจริงเป็น “กัญชง” ใช้ในงานสิ่งทอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อย. ยันข่าวมั่ว ครม. ปลดล็อก “กัญชา” ออกจากยาเสพติดเป็นพืชสมุนไพร ยันยังเป็นยาเสพติด ไม่มีการรับรองให้กัญชา และยาจากกัญชา ขึ้นทะเบียนเพื่อรักษามะเร็ง เผย การวิจัยในคนยังไม่เพียงพอว่ารักษาได้

จากกรณีการเผยแพร่ประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเป็นประกาศเก่าตั้งแต่วันที่ 2 ส.ค. 2556 เรื่อง การควบคุมกัญชา แต่มีรายละเอียดเป็นเรื่องการควบคุม “กัญชง” ซึ่งเป็นชนิดย่อยของกัญชา โดยระบุว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกประกาศเรื่อง ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 12) กำหนดเพิ่มเติมเงื่อนไขของกัญชา ให้ยกเว้นเปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง เส้นใยแห้ง และผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากเปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง และเส้นใยแห้ง เพื่อส่งเสริมการปลูกพืชกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ นำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ แต่การปลูกหรือการผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษเป็นราย ๆ ไป ทำให้เกิดการรายงานข่าวเข้าใจผิดว่า ครม. มีการถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 มาเป็นยาสมุนไพรเพื่อใช้ในการศึกษา วิจัยรักษามะเร็ง จนเกิดความสงสัยและความเข้าใจผิดต่อสังคม

ล่าสุด นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการ อย. กล่าวว่า ขอชี้แจงว่า ปัจจุบันกัญชายังจัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะได้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ นอกจากนี้ อย. ยังไม่มีการรับรองให้ใช้ “กัญชา” หรือรับขึ้นทะเบียนยาจากกัญชาแต่อย่างใด เนื่องจากยังไม่มีงานวิจัยทางวิชาการในคนเพียงพอที่จะยืนยันว่าสามารถรักษาโรคมะเร็งได้

“ปัจจุบันในต่างประเทศมีการใช้ยาที่ได้จากสารสกัดของกัญชา และที่เป็นสารสังเคราะห์ โดยมีข้อบ่งใช้ของยา ได้แก่ เพื่อบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนที่เกิดจากการใช้เคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็ง เพิ่มความอยากอาหารในผู้ป่วยโรคเอดส์ รักษาภาวะปวดเกร็ง ในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง รักษาอาการปวดในผู้ป่วยโรคมะเร็ง ส่วนการนำกัญชามาใช้ในการรักษาโรคนั้น ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัย เช่น การศึกษาวิจัยในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งชนิดต่าง ๆ เป็นต้น ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ยังไม่มีการรับรองให้มีการนำพืชกัญชามาใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลการศึกษาวิจัยทางคลินิกในคนเพียงพอที่จะยืนยันประสิทธิผลและความปลอดภัย ทั้งนี้ อย. ยังคงมุ่งมั่นส่งเสริมให้เกิดการพัฒนายาที่ดี มีประสิทธิภาพในการรักษา และไม่เคยปิดกั้นความก้าวหน้าทางวิชาการแต่อย่างใด” เลขาธิการ อย. กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น