xs
xsm
sm
md
lg

รอบรู้โรคภัย : อาการปวดจากโรคมะเร็ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อาการเจ็บปวดที่พบในผู้ป่วยโรคมะเร็ง เกิดได้จากหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการที่มีก้อนเนื้องอกลุกลามไปกดทับ เบียดที่กระดูก หรือเส้นประสาท หรืออวัยวะต่างๆภายในร่างกาย

อาการปวดบางครั้งอาจเป็นผลจากการรักษาโรคมะเร็งที่ผู้ป่วยได้รับ หรือพบว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งอาจมีความเจ็บปวดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเป็นโรคมะเร็งเลยก็ได้ และเป็นอาการปวดที่พบได้กับบุคคลทั่วๆไป เช่น ปวดศีรษะเมื่อเป็นไข้ ปวดข้อจากข้อเสื่อม หรือปวดกล้ามเนื้อจากการใช้งาน อาการปวดเหล่านี้ผู้ป่วยโรคมะเร็งสามารถรับการรักษาบรรเทาอาการปวดร่วมไปกับการรักษาโรคมะเร็งที่เป็นอยู่ได้

ปกติเมื่อมีก้อนเนื้อเบียดทับอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งมากผิดปกติ จนทำให้เกิดสัญญาณเคมีวิ่งไปตามเส้นประสาทภายในร่างกาย และส่งให้สมองศูนย์กลางรับทราบ สมองจะประมวลผล และรับรู้ว่ามีความเจ็บปวดทรมานเกิดขึ้นที่จุดใดจุดหนึ่ง หรือกระจายไปทั่วร่างกาย

ลักษณะของอาการปวดจากมะเร็งเป็นอย่างไร
มีได้หลายแบบ เช่น ปวดขึ้นแบบลุกลามขึ้นมาทันทีครั้งเดียวแล้วหายไป ปวดเป็นพักๆ หรือปวดนานต่อเนื่องหลายๆชั่วโมง หรือเป็นวันๆ บางครั้งปวดจนนอนไม่ได้ทั้งคืน บางรายระบุบริเวณปวดได้ชัดเจนว่ามี 1, 2 หรือ 3 แห่งบนร่างกาย แต่บางรายระบุตำแหน่งที่ปวดได้ไม่ชัดเจน คลุมเครือ หรืออาจบอกว่ามีกระจายไปทั่วตัว

อาการปวดอาจแสดงออกมาแบบปวดร้าวไปที่อื่น ปวดตุ๊บๆ ปวดบิดเกร็ง ปวดตื้อๆ ปวดแสบปวดร้อน ปวดเหมือนถูกไฟฟ้าดูด ปวดเหมือนมีปลายเข็มแทง หรือปวดเสียว ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละราย บางครั้งอาการปวดรุนแรงที่เกิดขึ้นและรู้สึกได้ อาจไม่สามารถเห็นได้ด้วยตา เนื่องจากเกิดขึ้นจากอวัยวะภายในร่างกาย

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการรักษาควบคุมความปวดไปแล้ว ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดแทรกซ้อน หรือปะทุรุนแรงขึ้นมาได้เป็นครั้งคราว หรือบางครั้งความปวดจะเกิดขึ้นเฉพาะเวลาทำแผล หรือการขยับตัวย้ายเตียงนอน

วิธีที่ใช้วัดขนาดความรุนแรง ของอาการปวดจากโรคมะเร็ง
ถ้าผู้ป่วยพอนับเลข “0” ถึง “10” ได้ แพทย์มักจะให้ผู้ป่วยกะประมาณความเจ็บปวดด้วยตัวเลข เพื่อเป็นการประเมินความรุนแรง (เหมือนกับการให้คะแนนนางงาม) และบันทึกเอาไว้เปรียบเทียบผลหลังการรักษาทุกวัน เช่น ระดับ “0” เทียบเท่ากับผู้ป่วยไม่มีความเจ็บปวดเหลืออยู่เลย ขณะที่อาการปวดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆตามตัวเลข จนถึงระดับ “10” เทียบเท่ากับอาการปวดที่รุนแรงที่สุดที่เคยพบมาในชีวิตของผู้ป่วย ผู้ป่วยควรจะเป็นผู้แจ้งแพทย์ ให้ทราบถึงขนาดความรุนแรงของอาการปวดที่มีอยู่เอง ด้วยตัวเลขตั้งแต่ “0” ถึง “10”

หรือแพทย์อาจใช้วิธีซักถาม กำหนดความรุนแรงของอาการปวด เป็นแบบตัวเลือก เช่น ไม่ปวดเลย ปวดนิดหน่อย ปวดปานกลาง ปวดมาก และปวดมากที่สุด

นอกจากนี้ แพทย์จะใช้วิธีการตรวจร่างกายของผู้ป่วยเพิ่มเติม เพื่อประกอบการวินิจฉัยระดับความรุนแรงความปวดที่เกิดขึ้น เช่น ถ่ายภาพเอกซเรย์

และแพทย์จะซักถามถึงยาแก้ปวดเดิมที่ใช้ หรือรับประทานก่อนมาพบแพทย์ หรือถามถึงวิธีปฏิบัติตนเองเพื่อลดความเจ็บปวดก่อนมาพบแพทย์ ว่าทำอะไรไปบ้าง ทั้งนี้ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเลือกวิธีที่จะใช้รักษาให้ผู้ป่วยต่อไปได้เหมาะสม

แนวทางการรักษา เพื่อทุเลาอาการปวด
ปัจจุบัน มีวิวัฒนาการทางการแพทย์เกิดขึ้นมากมาย ทำให้การรักษาอาการปวดของผู้ป่วยโรคมะเร็งดีขึ้นมากกว่าในอดีต ปกติแพทย์จะเลือกวิธีการรักษาบรรเทาความปวด ด้วยวิธีการที่จะทำให้ผู้ป่วยเจ็บตัวน้อยที่สุดก่อนเสมอ เช่น การให้ยารับประทาน ให้ยาแปะผิวหนัง และพยายามหลีกเลี่ยงวิธีการฉีดยาหรือผ่าตัดที่ไม่จำเป็น

ทั้งนี้ ปริมาณยาที่ต้องใช้เพื่อบรรเทาอาการ อาจต้องปรับเปลี่ยนตามอาการปวดที่มีอยู่ ยาแก้ปวดชนิดเดียวกันอาจให้ผลแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน แพทย์จะพยายามเลือกยาที่เหมาะสมที่สุด เพื่อให้ได้ผลทุเลาอาการปวดของผู้ป่วย

ผู้ป่วยเองควรบอกแพทย์หรือพยาบาลว่า ยาชนิดใดที่เคยใช้ได้ผลดี หรือยาชนิดใดที่เมื่อใช้ยาไปแล้วไม่ได้ผล หรือเกิดอาการข้างเคียงจากยา หรือแพ้ยา ถ้าหากมีความวิตกกังวล ไม่แน่ใจเกี่ยวกับยาแก้ปวดที่จะใช้ ควรซักถามให้เข้าใจก่อนริ่มใช้ยา

อาการข้างเคียงจากการใช้ยาบรรเทาปวด
พึงระลึกเสมอว่ายาทุกตัวมีข้อดีข้อเสียในตัวเอง ยาตัวเดียวกันในขนาดเท่ากัน แต่แสดงอาการข้างเคียงได้แตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน ควรแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบว่า มีอาการข้างเคียงอะไรเกิดขึ้น เพื่อแพทย์จะตัดสินใจปรับขนาดยา หรือเปลี่ยนชนิดยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยต่อไป

อาการข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากการใช้ยาบรรเทาปวด ได้แก่
ท้องผูกหรือถ่ายอุจจาระลำบาก วิธีแก้ไขคือ พยายามดื่มน้ำมากๆ หรือรับประทานพวกผักและผลไม้ หรือนมเปรี้ยวเพื่อช่วยระบาย การออกกำลังกาย หรือบริหารร่างกายเบาๆ อยู่สม่ำเสมอ ก็ช่วยลดอาการท้องผูก บางครั้งแพทย์หรือพยาบาลอาจจะให้ผู้ป่วยรับประทานยาระบายร่วมไปกับการใช้ยาบรรเทาปวด

อาการคลื่นไส้หรืออาเจียน ซึ่งอาการนี้จะพบได้เฉพาะช่วงแรก เมื่อเริ่มใช้ยาเบรรเทาปวด เมื่อผู้ป่วยใช้ยาบรรเทาปวดไปสักระยะ อาการเหล่านี้จะทุเลาลงได้เอง

อาการง่วงซึม ซึ่งพบได้เช่นกันในช่วงแรกๆ เมื่อเริ่มใช้ยาบรรเทาปวด อาการมักจะหายไปได้เอง

หายใจช้าลง อาการนี้อาจพบได้บางครั้ง เมื่อต้องใช้ยาบรรเทาปวดในขนาดที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่า มีอาการนี้เกิดขึ้น เพื่อแพทย์จะได้เตรียมปรับระดับยา

อาการข้างเคียงที่รุนแรง เช่น การแพ้ยาบรรเทาปวด พบได้น้อยมาก ผู้ป่วยควรปรึกษาหรือแจ้งแพทย์ หรือพยาบาลทราบทันที เมื่อมีปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้น

(ข้อมูลบางส่วนจากแผ่นพับคู่มือสำหรับประชาชน
ศูนย์วิจัยศึกษาและบำบัดโรคมะเร็ง สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์)


(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 187 กรกฎาคม 2559 โดย กองบรรณาธิการ)
กำลังโหลดความคิดเห็น