สปสช. แจงจัดซื้อยามะเร็งระดับประเทศ ช่วยผู้ป่วยมะเร็งให้เข้าถึงยาราคาแพงตามบัญชียาหลักแห่งชาติ และยึดแนวทางการรักษาตามที่ราชวิทยาลัยและสมาคมแพทย์กำหนด ยืนยันไม่ได้จำกัดสิทธิแพทย์ใช้ยานอกบัญชียาหลัก แต่ได้เปิดช่องให้เบิกจ่ายได้ภายใต้เพดานวงเงินที่กำหนด พร้อมย้ำงบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีจำกัด ต้องดูแลรักษาคนไทยทั้งประเทศ
ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบบริการยาและเวชภัณฑ์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีนโยบายเพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงการรักษาโดยอนุมัติให้ สปสช.ดำเนินการจัดหายามะเร็งที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติกลุ่มยา จ.2 ในระดับประเทศ โดยมอบให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ทำหน้าที่จัดหาและจัดซื้อ รวมทั้งต่อรองราคายา เพื่อบรรจุสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อเบิกจ่ายให้กับผู้ป่วย
ทั้งนี้ ในการชดเชยยามะเร็ง สปสช. จะอ้างอิงตามแนวทางการสั่งใช้ยาของบัญชียาหลักแห่งชาติและตามแนวทางการจ่ายชดเชยผู้ป่วยโรคมะเร็ง (Protocol) ของ สปสช. ที่จัดทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากราชวิทยาลัย และ สมาคมแพทย์ในสาขามะเร็งที่เกี่ยวข้อง อาทิ มะเร็งปอด มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเต้านม เป็นต้น โดยระบุว่า ผู้ป่วยมะเร็งชนิดใดควรได้รับยามะเร็งรายการใดบ้าง ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐาน แต่ในกรณีที่แพทย์บางท่านต้องการรักษาผู้ป่วยมะเร็งโดยใช้ยามะเร็งนอกรายการที่กำหนดก็ยังสามารถทำได้เช่นกัน เพียงแต่การเบิกจ่ายชดเชยต้องไม่เกินจากเพดานค่ารักษาที่กำหนด
“สปสช. ยืนยันว่า ไม่ได้จำกัดสิทธิการรักษาโรคมะเร็งของแพทย์แต่อย่างใด เพียงแต่ในการเบิกจ่ายต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์เท่านั้น โดยกรณีที่แพทย์ใช้ยารักษาตามแนวทางที่กำหนดในโปรโตคอลจะสามารถเบิกจ่ายชดเชยได้เต็มจำนวน แต่ในกรณีที่แพทย์ต้องการใช้ยาสูตรอื่นที่ไม่ตรงตามแนวทางในโปรโตคอลกำหนด ซึ่งคณะทำงานพัฒนาแนวทางการจ่ายชดเชยค่าบริการโรคมะเร็ง สปสช. กำหนดเบิกจ่ายไม่เกิน 2,300 บาท/ครั้งสำหรับกรณีผู้ป่วยนอก หรือไม่เกิน 4,000 บาท/ครั้ง สำหรับโรคมะเร็งที่ยังไม่ได้กำหนดโปรโตคอล”
ทั้งนี้ สปสช. ได้ดำเนินการจัดหายาผ่านองค์การเภสัชกรรมเพื่อชดเชยเป็นยาให้กับโรงพยาบาลสำหรับกรณียามะเร็งที่มีราคาแพง ซึ่งจะมีผลต่อภาระงบประมาณของโรงพยาบาลและในภาพรวมระดับประเทศ เป็นการใช้กลไกการต่อรองราคาเพื่อให้ได้ราคายาที่เหมาะสมกับงบประมาณที่มีอยู่ จากข้อมูลล่าสุดในปี 2559 มีทั้งหมด 5 รายการ ส่วนรายการยาที่เหลือทั้งหมด สปสช. ได้จ่ายชดเชยเป็นเงินให้แก่โรงพยาบาล
ภก.คณิตศักดิ์ กล่าวว่า การรักษาโรคมะเร็งมีการพัฒนาและคิดค้นยาใหม่ต่อเนื่อง แต่คงไม่สามารถนำยามะเร็งทุกรายการซึ่งอยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติมาบรรจุสิทธิประโยชน์ เพราะเป็นกลุ่มยาราคาแพงมาก ในขณะที่กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีงบประมาณจำกัดและต้องดูแลคนไทยทั้งประเทศ ดังนั้น จึงต้องยึดถือรายการยาตามบัญชียาหลักแห่งชาติ เนื่องจากเป็นยาที่ผ่านการพิจารณาของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาที่เกี่ยวข้องแล้ว หากจะให้ สปสช. อนุมัติเบิกจ่ายยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติให้แก่ผู้ป่วยเป็นการเฉพาะรายนั้นคงไม่สามารถทำได้
อย่างไรก็ตาม หากมีแพทย์เห็นว่ายานอกบัญชีรายการใดที่รักษาได้ผลดีกว่ายาในบัญชียาหลักและจำเป็นต่อผู้ป่วยจริง ก็สามารถที่จะเสนอเพื่อบรรจุในสิทธิประโยชน์ได้ แต่ต้องนำเสนอต่อคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อพิจารณาอย่างรอบด้านทั้งผลทางคลินิกและความคุ้มทางเศรษฐศาสตร์ก่อน ซึ่งหากยารายการดังกล่าวผ่านความเห็นชอบและประกาศเป็นบัญชียาหลักแห่งชาติ ก็จะทำให้ผู้ป่วยในระบบทุกคนมีโอกาสได้รับยาอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ดังนั้น ที่บอกว่า สปสช. จำกัดการใช้ยานั้น ยืนยันว่า ไม่ได้จำกัด เพียงแต่เราเชื่อมั่นในปรัชญาของบัญชียาหลักแห่งชาติเท่านั้น
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่