คณะอนุฯ สร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เห็นชอบบรรจุ วัคซีนเอชพีวี ป้องกันมะเร็งปากมดลูก เป็นวัคซีนรัฐจัดหาให้ฟรี พร้อมเร่งพิจารณาเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ พ่วงวัคซีนฮิบ วัคซีนโรตา เข้าสู่แผนงานป้องกันโรคด้วย
วันนี้ (2 พ.ค.) นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ภายใต้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ กล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการ ว่า ที่ประชุมแนะนำให้นำวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (วัคซีนเอชพีวี) มาใช้ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโดยเร็ว เนื่องจากเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยสูง มีความคุ้มทุน ซึ่งก่อนหน้านี้ มีการศึกษาการฉีดวัคซีนเอชพีวีนำร่องใน จ.พระนครศรีอยุธยา ส่งผลให้วัคซีนนี้ถูกบรรจุเข้าเป็นวัคซีนที่รัฐจะต้องจัดหาให้กับประชาชนไทยฟรี โดยกลุ่มเป้าหมาย คือ เด็กหญิงอายุ 9 ขวบ ที่กำลังเรียนอยู่ชั้น ป.5 ถือเป็นวัยที่เหมาะสมที่สุดในการได้รับวัคซีนและสอดคล้องตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 6 เดือน ปัจจุบันมีประมาณ 4 แสนคนทั่วประเทศ
นพ.อำนวย กล่าวว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดทำคำของบประมาณปี 2560 เพื่อนำมาใช้ในการจัดซื้อจัดหาวัคซีนเอชพีวี ราวจำนวน 200 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม วัคซีนเอชพีวียังไม่ถูกจัดไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ล่าสุด ได้เสนอเรื่องนี้ไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในฐานะเลขานุการ อนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อให้พิจารณานำวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก อยู่ในรายการบัญชียาหลักแห่งชาติ เนื่องจากหน่วยบริการจะสามารถใช้วัคซีนได้เฉพาะที่อยู่ภายใต้บัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ทั้งนี้ จำเป็นต้องให้วัคซีนเอชพีวีแก่เด็กหญิง เนื่องจากโรคมะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบมากในหญิงไทยเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม โดยมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 6,400 รายต่อปี เสียชีวิตประมาณ 3,000 รายต่อปี
ผู้สื่อข่าวถามว่า คณะอนุฯมีการพิจารณาวัคซีนฮิบ ป้องกันเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อฮิบที่เด็กไทยเป็นชาติเดียวที่ยังไม่ได้วัคซีนนี้หรือไม่ นพ.อำนวย กล่าวว่า มีการพิจารณาโดยจัดเข้าอยู่ในลำดับวัคซีนที่จำเป็นต้องเข้าสู่แผนงานส่งเสริมป้องกันโรค เช่นเดียวกับวัคซีนโรตา ที่ป้องกันโรคท้องร่วงรุนแรงในเด็ก ที่คาดว่าจะบรรจุในปีงบประมาณ 2561 อย่างไรก็ตาม การบรรจุวัคซีนใดเข้าสู่แผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค จะต้องพิจารณาถึงประสิทธิผล ความคุ้มทุนและผลที่จะได้รับด้วย
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่