นักวิชาการ ชี้ ห่วงอนาคตสังคมไทย แก่ -ป่วย - จน หากระบบปฏิรูปสุขภาพอ่อนแอ ชี้ รัฐต้องปรับตัวหนุน ประชาสังคม สร้างระบบสุขภาพคู่ขนาน แนะอย่าปิดทางภาษีบาป ตัดตอนระบบปฏิรูปสุขภาพเสียเอง หวั่นส่งผลเสียต่อประชาชนโดยรวม
วันนี้ (30 พ.ค.) เวลา 10.00 น. ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับศูนย์สันติภาพและความขัดแย้ง และเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสุขภาพ จัดเวทีอภิปราย “นวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาพไทยในยุคปฏิรูป”
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า เราเริ่มทำงานควบคุมบุหรี่มาตั้งแต่ปี 2531 ตอนนั้นยังไม่มีงบประมาณมาสนับสนุน และพยายามเสนอรัฐบาลให้ปรับขึ้นภาษีบุหรี่มาโดยตลอด รวมถึงนำตัวอย่างจากประเทศออสเตรเลีย ที่ใช้นวัตกรรมนำเงินจากภาษีบุหรี่มาสร้างเสริมสุขภาพ จากนั้นได้ขายไอเดีย อ้างอิงงานวิจัยต่าง ๆ เพื่อเสนอรัฐบาล จนสุดท้ายสามารถผลักดันการนำเงินจากภาษีเหล้าบุหรี่มาตั้งเป็นองค์กรสุขภาพ คือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งภารกิจและโจทย์ของ สสส. คือ การทำงานก่อนที่คนจะป่วย โดยเฉพาะปัจจัยที่กระทบต่อสุขภาพมากที่สุด คือ พฤติกรรมของคนในการใช้ชีวิต หากไม่แก้ที่พฤติกรรม จะทำให้คนเจ็บป่วยเข้าสู่ระบบบริการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขณะเดียวกัน ต้องแก้ที่ระบบสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัย สร้างสังคมชุมชนให้เข้มแข็ง สู่สุขภาพที่ดี รวมถึงรณรงค์และมีกฎหมายมาควบคุม ล่าสุด องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กล่าวถึงการจัดเก็บภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะจากธุรกิจยาสูบ โดยถอดบทเรียนจาก 9 ประเทศ ใน 6 ภูมิภาค ระบุว่า สสส. ไทยเป็นนวัตกรรมใหม่ที่โดดเด่น คือ มีโครงสร้างการบริหารงบประมาณที่เป็นอิสระ และมีการดำเนินงานเพื่อสร้างเสริมสุขภาพหลากหลากมิติ ที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนในประเทศ สามารถเป็นต้นแบบให้แก่ประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลก ในการนำแนวทางภาษีนี้ไปใช้พัฒนาประเทศ ซึ่งนี่คือความภาคภูมิใจร่วมกันของคนทั้งประเทศ
“การบริหารงานด้านสุขภาพถือว่ามาถูกทาง ดังนั้น หากจะปรับเปลี่ยนอะไรต้องคิดให้รอบคอบ โดยเฉพาะหลักการสร้างเสริมสุขภาพ เพราะหากดูข้อมูลจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากไลฟ์สไตล์ วิธีการใช้ชีวิต ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงอย่าง เหล้า บุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย อาหาร และมีความเครียด ซึ่ง WHO เล็งเห็นว่ากลุ่มโรค NCDs เป็นปัญหาใหญ่ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ สังเกตจาก สถิติผู้เสียชีวิตจากกลุ่มโรค NCDs ในปี พ.ศ. 2552 พบว่า สาเหตุการเสียชีวิตของประชากรโลกทั้งหมด มีถึง 63% และที่สำคัญกว่านั้น คือ กว่า 80% เป็นประชากรของประเทศที่กำลังพัฒนา” ศ.นพ.ประกิต กล่าว
ด้าน ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ระบบสุขภาพในอนาคตมีความน่าเป็นห่วงในเรื่องของภาระต้นทุน โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมสุขภาพ ซึ่งไม่ใช่เกิดจากเชื้อโรค และนั้นจะนำมาซึ่งค่าใช้จ่าย การสูญเสียทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งสวนทางกับการลดภาระ หากมีการเสริมสร้างสุขภาพ ด้วยเหตุที่ว่าหากสุขภาพดี สามารถทำงานได้จนถึงวัย 60 ปี แต่หากตรงข้ามคือ สุขภาพไม่ดีเจ็บป่วย ก็จะมีการสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์ ในเรื่องของผลิตภาพทางการผลิตของสังคมไทย ฉะนั้น การลงทุนสร้างเสริมสุขภาพดีในวัยทำงาน โดยเฉพาะควรเริ่มตั้งแต่ในวัยเด็ก หากเด็กมีระบบคุณภาพที่ดีเราก็จะมีบุคคลที่มีสุขภาพดีจนอายุเลยวัยทำงาน ซึ่งสังคมไทยเองก็เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เมื่อมีสุขภาพดีแม้จะอายุเลยวัย 60 ไปแล้ว แต่เขาก็จะทำงานดีมีผลิตภาพทางเศรษฐกิจและมีศักยภาพ โดยแรงงานซึ่งจะถูกแทนที่สู่การสร้างสรรค์มากขึ้น
ดร.เดชรัตน์ กล่าวว่า ปัญหาใหญ่คือ ต้นทุน อาจจะมองว่าเงินส่วนใหญ่ในการทำงานด้านนี้อยู่ ที่ สสส. แต่ความจริงแล้วเงินตรงนี้มีแค่ประมาณ 10% ส่วนที่เหลืออยู่ที่ระบบราชการเป็นหลักทั้งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข และ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นหรือ อปท. ทั้งนี้ เราจะทำอย่างไรให้ได้มีโอกาสไปสู่การลงทุนที่เกิดผลอย่างแท้จริงจากหน่วยงานทั้ง 2 ส่วนนี้ในส่วนของภารกิจส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งมันต้องนำไปสู่การประเมินผลและสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน
“ที่ผ่านมา โฟกัสผิดพลาด ว่า สสส. ใช้งบประมาณส่วนนี้มากในการสร้างเสริมสุขภาพ ขณะที่สิ่งสำคัญคือ ต้องตั้งคำถามประสิทธิภาพกลไกที่มีอยู่เดิมว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใดในการทำงาน มิเช่นนั้น สังคมไทยจะเข้าสู่ แก่ - ป่วย - จน ถ้าเราไม่ฟื้นหรือสร้างระบบปฎิรูปสุขภาพ เราไปไม่ถึงไหนในอนาคต ซึ่งเราควรเดินไปทิศทางสู่สังคม แก่ - เข้าใจ - สร้างสรรค์ อันเป็นระบบที่ดีและยังมีความหวัง ซึ่งทั้งหมดจะไปถึงได้ ล้วนเป็นปัจจัยภายในที่รัฐต้องหันมาทบทวนเป็นเบื้องต้น” ดร.เดชรัตน์ กล่าว
ขณะที่ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า การใช้มาตรการภาษีเฉพาะ หรือ ภาษีบาป ประเด็นที่เกี่ยวกับสุขภาพ สิ่งแวดล้อม มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศยุโรป ซึ่งการเก็บภาษีเฉพาะทางนี้ สามารถนำไปสู่มาตรการปฏิรูปการจัดการปัญหาสุขภาพและและสิ่งแวดล้อมได้อย่างชัดเจน เช่น การเก็บภาษีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทำให้เกิดการลดการใช้สารเคมีซึ่งส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและสารเคมีตกค้างในอาหารอย่างเห็นได้ชัด
“เราควรพิจารณาการขยายการใช้ภาษีเฉพาะเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ ไม่ใช่ลดลง ส่วนในกรณีที่เกรงว่าจะมีผลกระทบต่อการคลังทั้งระบบในอนาคตนั้น ควรมองเป็นกรณี ๆ ไป และมองไปที่ประสิทธิภาพการดำเนินงานของกลไกที่เกี่ยวข้อง เช่น กรณีกลไกการปฏิรูปสำคัญของประเทศ เช่น สปสช. และ สสส. นั้น หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าในระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมานั้นเป็นแบบอย่างในการปฏิรูปสุขภาพได้จริง เป็นแบบอย่างให้กับหลายประเทศได้ดำเนินตาม ซึ่งรัฐเองไม่ควรคิดลดทอน หรือตัดตอนระบบปฏิรูปสุขภาพเสียเอง เพราะเมื่อใดที่มีการสกัดกั้น ลดทอนการเก็บภาษีเฉพาะ สุดท้ายแล้วจะสร้างผลกระทบต่อกลไกปฏิรูปในอนาคต กลไกการปฏิรูประบบสุขภาพในแบบสสส. หรือกลไกการทำงานของภาคประชาสังคมนั้น มีความจำเป็นสำหรับการปฏิรูปประเทศคู่ขนานไปกับการดำเนินการของรัฐ ให้มีการหนุนเสริมกันอย่างมีพลัง” นายวิฑูรย์ กล่าว
นายวิฑูรย์ กล่าวด้วยว่า ขณะที่ สสส. เอง ก็ต้องยอมรับว่า ต้องปรับปรุงตัวเองและเพิ่มประสิทธิภาพให้มากยิ่งขึ้นไปอีก เช่น เปิดโอกาสให้หลายฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมด้วยในการขับเคลื่อน ทั้งในกระบวนการประเมินผล กระบวนการสนับสนุนทุน การกำหนดเป้าหมายกระจายการทำงานไปสู่ภูมิภาค หรือ พื้นที่มากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ โดยควรตั้งเป้าหมายงานมุ่งไปสู่ชาวบ้านคนด้อยโอกาสเพิ่มมากขึ้นกว่านี้
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่