รองนายกฯ มอบนโยบาย สสส. บูรณาการการทำงาน มุ่งสร้างความเป็นธรรมสุขภาพ - ขยายฐานผู้รับประโยชน์ - พร้อมรับสังคมผู้สูงอายุ เผย WHO ถอดบนเรียน 9 ประเทศ ใช้ภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ ยก สสส. ต้นแบบนวัตกรรมการเงิน
วันนี้ (24 พ.ค.) พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ด สสส. ครั้งที่ 5/2559 ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาวาระและเห็นชอบร่างแนวนโยบายและจุดเน้นการดำเนินงาน ประจำปีงบประมาณ 2560 ที่สอดคล้องตามทิศทาง เป้าหมาย และยุทธศาสตร์ 10 ปี เพื่อบูรณาการการทำงาน มุ่งเน้นความเป็นธรรมทางสุขภาพ ขยายฐานผู้รับประโยชน์ สร้างความยั่งยืนโดยมุ่งให้ความสำคัญการเชื่อมโยงการทำงานเชิงระบบและกลไก ภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สอดคล้องกับการทำงานของรัฐบาล สร้างวัฒนธรรมสุขภาพ กระตุ้นพลังสังคมตื่นตัวด้านสุขภาพ พัฒนาศักยภาพเครือข่ายสู่นานาชาติ สร้างนวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาพ และการเตรียมพร้อมรับสังคมผู้สูงอายุของไทย ทั้งนี้ มอบหมายให้ สสส. มุ่งให้ความสำคัญการทำงานที่รูปธรรมเพื่อนำไปขยายผลการทำงานให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น
พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า ในการประชุม ดร.นีมาร์ อัสการี่ ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ได้รายงานในที่ประชุมถึงรายงานขององค์การอนามัยโลกเรื่องการจัดเก็บภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะจากธุรกิจยาสูบ “Earmarked Tobacco Taxes: Lesson Learnt from 9 countries” ที่ถอดบทเรียนจาก 9 ประเทศ ใน 6 ภูมิภาค โดยระบุว่า สสส. ไทยเป็นนวัตกรรมใหม่ที่โดดเด่นเทียบกับประเทศกรณีศึกษาอีก 8 ประเทศ คือ สสส. มีโครงสร้างการบริหารงบประมาณที่เป็นอิสระ และมีการดำเนินงานเพื่อสร้างเสริมสุขภาพหลากหลากมิติที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนในประเทศ สามารถเป็นต้นแบบให้แก่ประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลกในการนำแนวทางภาษีนี้ไปใช้พัฒนาประเทศ ที่สำคัญคือ สสส. มีการทำงานที่ใกล้ชิดกับองค์การอนามัยอย่างต่อเนื่อง
พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบ โครงการพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพในศตวรรษที่ 21 โดยมุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรสุขภาพสหสาขาวิชาชีพด้านหมอครอบครัว (Family Care Team) 9 สาขาวิชาชีพ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ โดยทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสร้างความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งพัฒนาให้เกิดกระบวนการเรียนการสอนบุคลากรสุขภาพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน และการพัฒนางานวิจัยตามความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง