สธ.- สปสช. นำร่อง 60 พื้นที่ทำเครือข่ายสุขภาพอำเภอ ยึดแนวทางใช้พื้นที่เป็นฐาน ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทดลองปฏิบัติจริง สู่การถอดบทเรียน ประเมินปัจจัยเสี่ยงและเส้นทางแห่งความสำเร็จ เพื่อเป็นต้นแบบขยายไปยังพื้นที่อื่น ชี้แนวโน้มทิศทางระบบสุขภาพ ต้องเน้นภาคประชาชนและท้องถิ่นส่วนร่วมมากขึ้น
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ว่า การจัดการสุขภาพระดับอำเภอไม่ใช่เรื่องใหม่ องค์การอนามัยโลกได้ระบุไว้ตั้งแต่ปี 2530 ว่า การจัดการสุขภาพที่เหมาะสม คือ การจัดสุขภาพระดับอำเภอ เนื่องจากขนาดพื้นที่ไม่เล็กไม่ใหญ่ ไม่ซับซ้อนมากนัก แต่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการจัดการได้ไม่ยาก สามารถตอบสนองความต้องการของคนในอำเภอได้ แต่การจะทำให้เกิดการจัดการสุขภาพระดับอำเภอได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือ การบูรณาการร่วมกันภายในท้องถิ่นและภูมิภาค กระทรวงสาธารณสุขใช้หลักการนี้ในการดำเนินการต่อเนื่อง ภายใต้พื้นฐานการขับเคลื่อนระบบสุขภาพอำเภอ (District Health System: DHS) ทั้งการใช้ความรู้นำงานบริการและการใช้ธรรมาภิบาลนำการบริหารจัดการ
“60 อำเภอซึ่งได้มีการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิโดยใช้พื้นที่เป็นฐานและประชาชนเป็นศูนย์กลาง จะเป็นส่วนสำคัญของการถอดบทเรียน สร้างประสบการณ์เรียนรู้ ปัจจัยเสี่ยง อุปสรรคปัญหา การสร้างการมีส่วนร่วมและความเป็นเอกภาพ สู่การขยายดำเนินงานในพื้นที่อื่นให้ประสบผลสำเร็จต่อไป” นพ.สุวรรณชัย กล่าว
ด้าน นพ.ชูชัย ศรชำนิ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนและปฏิรูประบบบริการสาธารณสุข มีประเด็นท้าทาย 5 ประเด็นที่สำคัญในอนาคต คือ 1. ความร่วมมือในการสร้างหลักประกันของทุกภาคส่วน 2. การเงินระยะยาวของระบบเพื่อความยั่งยืน 3. การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิและการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 5 กลุ่มวัย เพื่อลดการเจ็บป่วย 4. การจัดระบบดูแลผู้สูงอายุในชุมชน รองรับสังคมผู้สูงอายุ และ 5. การวิจัยและพัฒนาในการใช้ภูมิปัญญาไทยในการพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการสาธารณสุข ซึ่งการพัฒนาเครือข่ายสุขภาพอำเภอเป็นส่วนสำคัญที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนให้เกิดความสำเร็จ นอกจากการดำเนินการโดยภาครัฐ
การดำเนินงานของการจัดระบบสุขภาพระดับอำเภอ จะอยู่ภายใต้คณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขระดับอำเภอ (คปสอ.) เป็นการบูรณาการร่วมกัน ซึ่ง สปสช. พร้อมให้การสนับสนุนผ่านงบประมาณที่จ่ายตามผลงานและคุณภาพบริการ (Quality and Outcome Framework: QOF) และงบกองทุนส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ทั้งหมดนี้เพื่อทำให้เกิดการจัดระบบสุขภาพที่ดีสำหรับชุมชน โดยเบื้องต้นเป็นการนำร่อง 60 อำเภอ ก่อนขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารยุทธศาสตร์สุขภาพวิถีชีวิตไทย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการดำเนินนโยบายพัฒนาระบบบริการสุขภาพโดยใช้พื้นที่เป็นฐานและประชาชนเป็นศูนย์กลาง คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพระดับอำเภอได้คัดเลือกพื้นที่นำร่อง ซึ่งมีความเป็นเมืองสูง, ห่างไกล ทุรกันดาร, 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และที่มีความพร้อมด้านการเงิน รวม 60 อำเภอ เพื่อศึกษารูปแบบการดำเนินงาน โดยดำเนินงานไปแล้วในระยะหนึ่ง และได้จัดเวทีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รูปแบบการพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอในแต่ละพื้นที่ เพื่อนำไปสู่ปรับปรุงการดำเนินงานระบบสุขภาพในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่