xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ส.ว.ไม่เห็นต้องชงยังไงนายกฯก็ “นอกตะกร้า”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -จริงๆมันก็ไม่มีอะไรในกอไผ่ กับการยัด “คำถามพ่วง” ลงไปในร่างรัฐธรรมนูญของ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) หลังจากที่ทั้งร่างรัฐธรรมนูญ หับคำถามพ่วงผ่านการลงเสียงประชามติมาแบบสบายๆ

ไอ้ที่ไม่น่าจะเป็นปัญหาก็เป็นปัญหาขึ้นมา เมื่อแต่ละฝ่ายตีความไปคนละทิศทาง โดยเฉพาะ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เจ้าของคำถามพ่วงนั่นแหละ ที่ออกมาจุดพลุขอตีความ “แบบกว้าง” ขยายเนื้อหาในคำถามพ่วงจนเตลิดไปไกล

จากคำถามพ่วงยาวยืดที่ไปถามชาวบ้านว่า "ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศ เกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี"

สาระหลักอยู่ที่ท่อนท้าย “...ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี” ก็เข้าใจกันมาตลอดตั้งแต่ก่อนการลงประชามติ 7 สิงหาคมว่า ให้ที่ ประชุมร่วมกันของรัฐสภา นั่นก็คือ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง 500 คน กับ ส.ว.แต่งตั้งอีก 250 คน เป็น "ผู้พิจารณาเห็นชอบ" บุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ

ภาษาชาวบ้านฟังง่ายๆก็ให้ 750 คน ทั้ง ส.ส.+ส.ว.ร่วมกันโหวตนายกฯแค่นั้น

แต่ก็ดันมี สนช.บางคนที่ภาพชัดว่าเป็น “หัวหมู่ทะลวงฟัน” ของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ห้อยโหนกระแสประชามติที่สนับสนุนท่วมท้น ตีขลุมคำถามพ่วงแบบ “ศรีธนญชัย” โดย อ้างรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 กับฉบับปี 50 มาแปลความคำว่า “พิจารณา” หมายรวมถึงทั้ง "เสนอชื่อและลงมติ" ไปพร้อมกัน

ทำเอาสภากาแฟหลายแห่งร้อง เฮ้ย!! เสียงดังไป 3 บ้าน 8 บ้าน ก็เจ้าคำถามพ่วงที่ให้ “ส.ว.ลากตั้ง” ที่มีเชืเอสายมาจาก คสช.ทั้ง 250 คนไปร่วมโหวตนายกฯกับผู้แทนฯที่ชาวบ้านเลือกมากนี่ก็หนักแล้ว ยังจะเอาล่อเอาเถิดไปถึงให้เสนอชื่อนายกฯเสียอีก

ไม่เพียงแต่ สนช.เท่านั้น ยังมีสมาชิก สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) บางคนออกมาร่วมแจม ผลักดันให้ ส.ว.มีสิทธิ์เสนอชื่อนายกฯ และร่วมโหวตได้ตั้งแต่สเต็ปแรกด้วยซ้ำ เคลมกันหน้าด้านๆว่า เสียง “โหวตเยส” คำถามพ่วง เท่ากับ ความต้องการของประชาชนที่อยากให้ ส.ว.ร่วมเสนอและคัดกรองคนที่จะเป็นผู้นำรัฐบาลในภายภาคหน้า

ทั้งๆที่เรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ไม่เคยมีใครเอ่ยถึงก่อนการลงประชามติเลย มีเพียงการอรรถาธิบายเหตุผลความจำเป็นที่ต้องให้ ส.ว.ร่วมโหวตนายกฯเท่านั้น และหากย้อนกลับไปเมื่อครั้ง สนชงเสนอคำถามพ่วง ก็มีการเปิดที่ประชุมถกเถียงกันก่อนตกผลึกออกมา โหวตรับๆกันไป แต่พอประชามติผ่านกลับออกลวดลาย ไม่ยึดตามลายลักษณ์อักษร ไปเสียอย่างนั้น

ก่อนการลงประชามติเราเห็นแต่ข่าว ประมาณว่า สนช.มั่นใจประชาชนเข้าใจคำถามพ่วง ทำไปทำมากลายเป็น สนช.ที่พยายามไม่เข้าใจคำถามพ่วงที่ตัวเองเสนอ

ก็คงอย่างที่ ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าไว้ “ไม่เข้าใจว่า สนช.ทำงานกันยังไง ตอนยกมือโหวตรู้ เข้าใจหรือไม่ หรือเข้าใจแค่ผักถั่วธรรมดา แล้วจะมาเสนอเพิ่มเติมตอนนี้เรื่องอะไรกันแน่ ทำไมไม่คุยให้เรียบร้อยก่อน ในเมื่อบอกว่าไม่ใช่นักการเมือง ไม่มีผลประโยชน์ ตอนนี้สิ่งที่ทำได้คือต้องยึดตามลายลักษณ์อักษรคำถามพ่วง จะทำอะไรมากกว่านี้ไม่ได้ แล้วก็ให้ กรธ.ตัดสินใจจากนั้นก็โยนไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา จะสวยกว่าเยอะ”

เพราะขนาด พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชื่อชั้นทางกฎหมายไม่เป็นรองใครในแผ่นดิน ยังยืนยันว่า การตีความคำถามพ่วงประชามติให้ ส.ว.เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีนั้น ไม่ได้เกินเลยจากที่ถามประชาชน

กระทั่ง “คีย์แมน คสช.” ทั้ง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ที่ดูจะเข้าใจ แต่ก็ไม่สุด เมื่อชี้แจงหลังประชุมร่วม ครม.-คสช.ว่า 5 ปีแรกให้ที่ประชุมร่วมของรัฐสภา คือ ส.ส. 500 คน และ ส.ว. 250 คน เป็นผู้ให้ความเห็นชอบเลือกนายกรัฐมนตรี จากรายชื่อในตะกร้าที่แต่ละพรรคเสนอมา หากรอบแรกได้เสียงถึงครึ่ง คือ 376 จาก 750 คน ก็เป็นนายกรัฐมนตรี ถ้ายังไม่ได้ก็เลือกรอบสอง โดยคราวนี้สามารถเลือกรายชื่อจากนอกตะกร้าได้

แต่ “บิ๊กตู่” ก็ไม่ฟันธงว่าในรอบ 2 ใครมีสิทธิ์เสนอชื่อผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีบ้าง โยนให้เป็นเรื่องของ กรธ.พิจารณา แต่ก็ย้ำว่า นายกรัฐมนตรีจะมาจากไหนก็มา แต่ต้อง “สง่างาม” ด้วย

ดูจะเข้าที่เข้าทางหน่อยก็ “ป๋าป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ระบุว่า ต้องดำเนินการตามขั้นตอน ส.ว.คงเสนอชื่อนายกฯไม่ได้ เพียงแต่เข้าไปร่วมโหวตชื่อที่ ส.ส. เสนอมาเท่านั้น

แต่ก็ยังมีมิ้งเชื้อไว้เล็กน้อยว่า “นอกเสียจากกรณีที่ ส.ส.ไม่สามารถเสนอชื่อนายกฯได้ ก็ต้องให้ ส.ว.เป็นคนเสนอเพื่อหานายกฯ คนนอก”

เมื่อดูท่าจะไม่ดีตามเสียงเตือนของหลายฝ่าย โดยเฉพาะสายนักวิชาการ ที่มองว่า หาก คสช. โดย กรธ. “ทะลึ่ง” ไปแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ “อย่างกว้าง” ตามที่ สนช.ว่าไว้ “เรือแป๊ะ” ที่แล่นฉิวอาจล่มไม่เป็นท่า

โยนหินถามทางตามถนัดไม่สำเร็จ ก็ต้องยอมถอย “หลักกู” พักไว้ เอา “หลักการ” มาก่อน สรุปสุดท้าย กรธ.ของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ก็เคาะออกมาเสร็จสรรพ ตีความง่ายๆไม่แคบไม่กว้าง ผ่านการแถลงของ นรชิต สิงหเสนี โฆษก กรธ.ที่ยืนยันหลังการประชุม กรธ.เพื่อพิจารณาปรับปรุงบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญว่า การเสนอชื่อบุคคลที่จะให้รัฐสภาลงมติเห็นชอบให้แต่งตั้งเป็นนายกฯ นั้น จะเป็นสิทธิเฉพาะสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น

ซึ่งจะมีการเขียนไว้ในส่วนของ “บทเฉพาะกาล” ตรงมาตรา 272 (2) ของร่างรัฐธรรมนูญว่า “ในการเสนอชื่อบุคคล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นที่จะเป็นผู้เสนอโดยต้องมีผู้รับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร”

เคลียร์คัทชัดเจนไปเปลาะหนึ่ง แต่ถามว่าจะทำให้ “โรดแมป คสช.” ในการปั้น “นายกฯนอกตระกร้า” ตามคิวที่เขียนล็อคไว้ในร่างรัฐธรรมนูญไหม ก็ต้องตอบแบบไม่กว้างไม่แคบเช่นกันว่า ไม่!!

เพราะอย่างไรเสียในช่วง 5 ปีแรกภายหลังการเลือกตั้ง ที่ประชุมรัฐสภา โดย ส.ส. และ ส.ว. จำนวน 750 คน จะเป็นผู้โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ถึงจะเป็นตามบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอมา แต่ก็ไม่ยากที่ “บิ๊ก คสช.” จะแทรกเข้าไปอยู่ในโผของพรรคการเมือง อย่าง “ว่าที่พรรคการเมืองใหม่” พรรคประชาชนปฏิรูป ของ ไพบูลย์ นิติตะวัน ก็เตรียมชูนโยบายสนับสนุน “บิ๊กตู่” เป็ฯนายกฯหลังเลือกตั้งไว้เรียบร้อยแล้ว

หรือ “บิ๊ก คสช.” หากเคอะเขิน ไม่อยากไปอยู่ในบัญชีพรรคการเมือง ก็ “นั่งบนภู” รอให้มีใครมาอัญเชิญมาเป็น “นายกฯนอกตระกร้า” ในยามที่ ส.ส.-ส.ว.ติดขัดเข้าเดดล็อคโหวตนายกฯไม่ได้อย่างตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ตามบทบัญญัติในมาตรา 272 (5) ที่ให้รัฐสภาลงมติยกเว้นการเลือกนากรัฐมนตรีตามบัญชีพรรคการเมืองได้

มองมุมไหนเก้าอี้นายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้งก็ถูกล็อคไว้ให้เป็นไปตาม “โรดแมป คสช.” ยากที่ฝ่ายการเมืองริจะไปสกัดได้ นอกเสียจากจะมีพรรคใดพรรคหนึ่งสร้างประวัติศาสตร์เหมือนเมื่อการเลือกตั้งปี 2548 ที่พรรคไทยรักไทยโกย ส.ส.เข้ามาได้ 377 เสียง ซึ่งเกินกว่า 376 เสียงที่ต้องใช้ในการโหวตนายกรัฐมนตรี หรือฝ่ายการเมืองจะไปรวมหัวกันให้ได้ 376 เสียงขึ้นไป ซึ่งก็ไม่ง่าย

ตามารูปการณ์ที่ “พรรค ส.ว.” จะกลายเป็นพรรคใหญ่หลังเลือกตั้ง มี 250 เสียงยืนพื้น และมีบทบาทเป็นอย่างสูง ในการกำหนดตัวนายกรัฐมนตรี มุมที่ “บุคคลนอกตะกร้า” จะมาคว้าพุงปลาไปสวาปามก็เปิดกว้างเสนอ

ส่วนจะ “สง่างาม” หรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่อง.


กำลังโหลดความคิดเห็น