xs
xsm
sm
md
lg

เลิกอุ้มโซลาร์เซลล์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ริมฝั่งเจ้าพระยา
โดย...สุนันท์ ศรีจันทรา

การเปิดประมูลซื้อกระแสไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ของ “ดูไบ” ล่าสุด กำลังนำไปสู่แนวคิด การปรับเปลี่ยนนโยบายสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ของรัฐบาลครั้งใหญ่ จากปัจจุบันมุ่งไปที่การชดเชยภาคเอกชนเพียงประการเดียว

ดูไบเพิ่งเปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์จำนวนประมาณ 800 เมกกะวัตต์ โดยผู้ชนะการประมูลเสนอราคาขายไฟฟ้าเพียงยูนิตละประมาณ 1 บาทเท่านั้น ซึ่งถือว่าต่ำมาก เมื่อเทียบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ที่การ ไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยทำกับบริษัทเอกชน

กระทรวงพลังงานวางรูปแบบการสนับสนุนภาคเอกชนในการผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ไว้3 แนวทางคือ การใช้อัตราส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าหรือค่าแอดเดอร์ การสนับสนุนเงินตามการลงทุนที่แท้จริงหรือฟีดอินทารีฟส์ และการเปิดประมูล

ช่วงแรกกระทรวงพลังงานสนับสนุนด้วยระบบแอดเดอร์ โดยจ่ายค่ารับซื้อกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หน่วยละ3.50 บาท และค่าแอดเดอร์อีกหน่วยละ 8บาท

แต่ปีที่ผ่านมา ได้สนับสนุนด้วยระบบฟีดอินฟารีฟส์ โดยทำสัญญาซื้อไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์กับบริษัทเอกชนที่ผ่านการคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) กำลังผลิตรวมทั้งสิ้นประมาณ 1,000เมกกะวัตต์ โดยค่าชดเชยรวมยูนิตละ5.66บาท ในสัญญา25 ปี

ปีหน้าคาดว่า กระทรวงพลังงานจะทำสัญญาซื้อไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์จากภาคเอกชนอีกประมาณ 1,000 เมกกะวัตต์ โดยยังไม่ได้กำหนดเงื่อนไขว่า จะสนับสนุนด้วยระบบใด

แต่การประมูลรับซื้อไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ของ “ดูไบ” เป็นช่องทางที่จะ
ช่วยปลดเปลื้องภาระรัฐบาลในการสนับสนุนไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ และจะช่วยให้ประชาชนไม่ต้องแบกรับต้นทุนการใช้ไฟฟ้า

ค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายคิดราคาเริ่มต้นหน่วยละ 2.34บาท ถึงหน่วยละประมาณ 4.42 บาท โดยคำนวณตามประเภทผู้ใช้และจำนวนการใช้กระแสไฟฟ้า โดยค่าไฟฟ้าได้รวมภาระการชดเชยบริษัทเอกชนที่ทำสัญญาขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเข้าไปด้วย

ไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์1เมกกะวัตต์ จะผลิตไฟฟ้าได้ปีละประมาณ 1.5ล้านหน่วย โดยกำลังผลิตรวมของบริษัทเอกชนที่ได้สัญญาขายไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์จำนวน 1,000 เมกกะวัตต์ คิดเป็นไฟฟ้าประมาณ 1,500 ล้านหน่วยต่อปี

คำนวณส่วนต่างระหว่างอัตราค่าไฟฟ้าที่คิดจากประชาชนเฉลี่ยหน่วยละ 4 บาท แต่รัฐบาลจ่ายชดเชยให้บริษัทเอกชนที่ผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ยูนิต ละ 5.66 บาท จึงมีส่วนต่างระหว่างไฟฟ้าที่ขายให้ประชาชนกับไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ที่ซื้อจากเอกชนอยู่ยูนิตละประมาณ1.66บาท ทำให้รัฐบาลมีภาระชดเชยค่าไฟฟ้าประมาณ 2,500 ล้านบาทต่อปี

รวมระยะเวลาตามสัญญาซื้อไฟฟ้า 25 ปี รัฐบาลต้องชดเชยเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 60,000 ล้านบาท

บริษัทที่ได้รับสัญญาขายไฟฟ้าจาก กกพ. จึงกลายเป็นเสือนอนกินไป 25 ปี

นโยบายสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ถูกใช้เป็นเครื่องมือตักตวงผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการพิจารณาคุณสมบัติบริษัทที่เสนอขอทำสัญญาขายไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ซึ่งมักถูกวิพากษ์วิจารณ์ในความไม่โปร่งใส

ส่วนบริษัทที่ได้รับอนุมัติสัญญาขายไฟฟ้า หลายแห่งไม่ได้ผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ตามที่ยื่นเสนอ เพราะไม่มีทุนตั้งแต่แรก โดยเป็นพวกจับเสือมือเปล่า มีเส้นสายวิ่งเต้น จนได้รับสัญญาขายไฟฟ้า ก่อนนำสัญญาเร่ขาย

บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ดำเนินธุรกิจพลังงานทดแทน เป็นกลุ่มผู้ซื้อสัญญาขายไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์รายใหญ่ และใช้วาระการซื้อหุ้นบริษัทที่ได้รับสัญญาขายไฟฟ้า นำไปโฆษณาชวนเชื่อในหมู่นักลงทุน เพื่อปั่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ได้

ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า ต้องแบกภาระการชดเชยโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์มานานแล้ว เพราะต้นทุนการผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์สูง เมื่อรัฐบาลมีนโยบายการส่งเสริม จึงต้องสนับสนุนภาคเอกชน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุน

เมื่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ถูกลง โดยวิธีการเปิดประมูลจากภาคเอกชน จึงไม่มีความจำเป็นต้องควักเงินชดเชยสนับสนุนการผลิต

ไม่มีความจำเป็นต้องอุ้มโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์อีกแล้ว เพราะการเปิดประมูลรับซื้อจะได้ไฟฟ้าราคาถูกกว่า โดยเอกชนรายใดเสนอราคาต่อหน่วยต่ำสุด ชนะประมูลไป

กระทรวงพลังงานไม่ต้องคิดอะไรมาก ลอกแบบการประมูลซื้อไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ของดูไบมาใช้ ประชาชนก็จ่ายค่าไฟถูกลงแล้ว ไม่มีข้อครหาเรื่องเงินใต้โต๊ะใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์อีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น