xs
xsm
sm
md
lg

ผลประชามติ 7 สิงหา : สะท้อนความเปลี่ยนแปลง

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ในที่สุดร่างรัฐธรรมนูญที่หลายคนกังวลว่าจะไม่ผ่านประชามติ ก็ได้ผ่านการออกเสียงไปแล้วเรียบร้อย โดยมีผลอย่างไม่เป็นทางการเมื่อนับได้ 94% ของผู้มาใช้สิทธิทั่วประเทศจำนวน 27,623,126 เสียง คิดเป็นร้อยละ 94 และในจำนวนนี้เห็นชอบในประเด็นแรกคือร่างรัฐธรรมนูญ 15,562,027 เสียงหรือร้อยละ 61.40 ไม่เห็นชอบ 9,784,680 เสียงหรือร้อยละ 38.60 ส่วนในประเด็นที่สองหรือคำถามพ่วงเห็นชอบ 13,969,594 เสียงหรือร้อยละ 58.11 ไม่เห็นชอบ 10,070,599 เสียงหรือร้อยละ 41.80 มีบัตรเสีย 869,043 เสียง และแบ่งออกเป็นรายภาคได้ดังนี้

1. ภาคเหนือในประเด็นแรกเห็นชอบร้อยละ 57.67 ไม่เห็นชอบร้อยละ 42.33

ส่วนประเด็นที่สองหรือคำถามพ่วง เห็นชอบร้อยละ 54.09 ไม่เห็นชอบร้อยละ 45.91

2. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในประเด็นแรกเห็นชอบร้อยละ 48.58 ไม่เห็นชอบร้อยละ 51.42 ส่วนประเด็นที่สองหรือคำถามพ่วง เห็นชอบร้อยละ 44.57 ไม่เห็นชอบร้อยละ 55.43

3. ภาคกลางในประเด็นแรกเห็นชอบร้อยละ 69.47 ไม่เห็นชอบร้อยละ 30.53

ส่วนประเด็นที่สองหรือคำถามพ่วงเห็นชอบร้อยละ 66.18 ไม่เห็นชอบร้อยละ 25.65

4. ภาคใต้ประเด็นแรกเห็นชอบร้อยละ 76.66 ไม่เห็นชอบร้อยละ 23.34

ส่วนประเด็นที่สอง เห็นชอบร้อยละ 74.35 ไม่เห็นชอบร้อยละ 25.65

5. กรุงเทพมหานคร ประเด็นแรกเห็นชอบร้อยละ 65.89 ไม่เห็นชอบร้อยละ 34.11

จากผลของการทำประชามติอย่างไม่เป็นทางการข้างต้น จะเห็นได้ว่าประชาชนในทุกภาคยกเว้นภาคอีสาน ส่วนใหญ่ได้ให้ความเห็นชอบทั้งในส่วนของร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วงจึงนับได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไทย ให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ รวมไปถึงประเด็นพ่วงท้าย

ส่วนประเด็นที่ว่าประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่เห็นชอบมากกว่าเห็นชอบนั้น เข้าใจได้ไม่ยากว่าฐานทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยในภาคนี้ ยังคงมีอยู่มาก ถึงแม้จะลดลงไปบ้างแล้วก็ตาม

สำหรับภาคใต้ ซึ่งเป็นฐานทางการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ แต่ออกเสียงให้ความเห็นชอบซึ่งสวนทางกับหัวหน้าพรรค และแกนนำคนสำคัญของพรรคคือ นายชวน หลีกภัย นั้นก็เข้าใจได้ยากเช่นกัน ทั้งนี้เนื่องจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาฯ พรรคประชาธิปัตย์ และเป็นหนึ่งในแกนนำของพรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้ ได้ออกจากพรรคไปเป็นแกนนำทางการเมืองภาคประชาชนในนาม กปปส.และประกาศชัดเจนจะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงทำให้ฐานเสียงทางการเมืองประชาธิปัตย์ในภาคนี้ เทไปทางเดียวกับนายสุเทพ

ดังนั้น การออกเสียงประชามติเมื่อ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่สำคัญหลายประการดังต่อไปนี้

1. การที่ประชาชนให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วงในครั้งนี้ อันมาจากปัจจัยหลัก 3 ประการคือ

1.1 ประชาชนเบื่อความขัดแย้งอันเกิดจากนักการเมืองแย่งชิงอำนาจรัฐ เพื่อเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเอง และพวกพ้องโดยอ้างประชาธิปไตยบังหน้า

1.2 ประชาชนนิยมชมชอบในการทำงานของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา

1.3 ประชาชนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับความสูญเสียที่นักการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเมืองในระบอบทักษิณได้ก่อขึ้นในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา และส่งผลกระทบถึงปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากโครงการรับจำนำข้าวเป็นตัวอย่าง ดังนั้น เมื่อนักการเมืองประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ประชาชนจึงปฏิบัติการสวนทางกับนักการเมืองโดยการรับ

2. จากการที่ประชาชนในภาคใต้ (ยกเว้น 3 จังหวัดคือ ยะลา นราธิวาส และปัตตานี ซึ่งเป็นฐานเสียงของการเมืองตรงกันข้ามกับพรรคประชาธิปัตย์) ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วง จึงเท่ากับการปฏิเสธการนำทางการเมืองของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์โดยสิ้นเชิง และในขณะเดียวกัน เท่ากับยอมรับการนำทางการเมืองของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งได้ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นผู้นำทางการเมืองภาคประชาชนไปแล้วโดยปริยาย จึงเป็นการบ่งบอกถึงความแตกแยกในพรรคประชาธิปัตย์ไปด้วยในตัว

จากนี้ไปอนุมานได้ว่า ความแตกแยกในพรรคประชาธิปัตย์จะยิ่งชัดเจนขึ้น เมื่อการเลือกตั้งใกล้เข้ามา ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัย 2 ประการดังต่อไปนี้

ประการแรก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และผู้ที่เห็นด้วยกับการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จะลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่? ถ้าลงก็เท่ากับบอกว่า การกระทำที่ผ่านมาไม่ตรงกับความต้องการ ซึ่งนองเนืองในใจไม่ตรงกัน เข้าทำนองเกลียดตัวกินไข่ แต่ถ้าไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งจะยังคงอยู่ในตำแหน่งผู้นำพรรคได้หรือไม่ และยังอยู่จะขัดแย้งกับลูกพรรคผู้ที่ต้องการจะลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ หรือว่าจะขับไล่ผู้ที่เห็นต่างและต้องการลงสมัครรับเลือกตั้งให้ออกจากพรรค ดังที่บางคนได้ออกปากไล่ไปแล้ว

ด้วยเหตุนี้ จึงพอจะคาดเดาได้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์แน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตำแหน่งหัวหน้าพรรค

ประการที่สอง จากการที่ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ สะท้อนให้เห็นว่าฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย ยังมีความมั่นคง จึงทำให้ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคนี้ยังมั่นใจได้ว่า ถ้าลงสมัครรับเลือกตั้งโอกาสที่จะได้รับเลือกมีอยู่ แต่อาจไม่เท่าเดิม ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัย 2 ประการนี้

1. เสียงที่ไม่เห็นชอบต่างจากเห็นชอบไม่ต่างมากนัก จึงอนุมานได้ว่าเสียงส่วนหนึ่งได้เปลี่ยนไปอยู่ในขั้วตรงกันข้ามหรือนอนหลับทับสิทธิ์ เนื่องจากเกิดแรงกระตุ้นก็ได้

2. ถ้าดูจากเนื้อหารัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ ส.ว.ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง 250 คนออกเสียงเลือกนายกฯ ได้ โอกาสนักการเมืองจะได้เป็นนายกฯ ยากขึ้น ดังนั้น จึงอนุมานได้ว่านายทุนที่เคยทุ่มเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะทางการเมือง จะไม่ลงทุนหรือลงทุนน้อยลง เนื่องจากมีโอกาสที่จะได้เป็นผู้นำรัฐบาลมีน้อย หรือแทบไม่มีเลย จากจุดนี้เองจึงทำให้ส่วนหนึ่งของพรรคเพื่อไทยย้ายไปอยู่พรรคอื่นที่มีโอกาสได้ร่วมรัฐบาล

ด้วยเหตุนี้ค่อนข้างจะคาดเดาได้ว่า พรรคเพื่อไทยก็อ่อนแอลง และกลายเป็นพรรคขนาดเล็กก็เป็นได้
กำลังโหลดความคิดเห็น