เมืองไทย 360 องศา
เอาเป็นว่าต้องรอให้ สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาฯ กปปส. แถลงแสดงท่าทีรับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ ที่อุปถัมภ์ค้ำชูจาก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมทั้งแสดงเหตุผลว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวนั้นดีเลิศอย่างไร เสร็จสิ้นเสียก่อน จากนั้น “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ออกมาแสดงบทเข้ม “สั่งทุกฝ่ายหุบปาก” อ้างว่าจะเกิดความวุ่นวายตามมาอีก
จะเรียกว่า “เนียน” กันสุด ๆ ก็อาจตั้งข้อสังเกตแบบนั้นได้ และความหมายก็ต้องออกมาแสดงบทเข้มห้ามทัพกันทุกฝ่าย เหมือนกับรับรู้แล้วว่าตัวเองได้แรงหนุนชัดเจนแล้ว ก็สั่งให้เลิกการแสดง เนื่องจากบทบาทที่แสดงแล้วได้ผล ก็คือ “ห้ามทัพไม่ให้ทุกฝ่ายตีกัน” หรือเปล่า เป็นข้อสังเกตที่ชวนติดตามเป็นอย่างยิ่ง แม้ว่าถ้าจับตามองให้ดีบทบาทแบบนี้ “มีแต่ได้กับได้”
แน่นอนว่า หากพิจารณาจากฝ่ายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ย่อมต้องกังวลว่า หากขืนปล่อยให้วิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ บรรยากาศอาจวุ่นวายเหนือการควบคุม เพราะการวิพากษ์วิจารณ์อาจขยายวงออกไปลามปามมาถึงผลงานของรัฐบาลและ คสช. แน่นอน ด้วยความจำเป็นดังกล่าวจึงต้องหาทางตัดไฟแต่ต้นลม ทำทุกทางเพื่อสกัดกั้นเอาไว้ให้ได้นานที่สุด
ที่ต้องบอกว่า สกัดกั้นให้ “นานที่สุด” นั้น ก็เพราะว่าในความเป็นจริง แล้วมันมัดมือปิดปากไปได้ตลอดจนถึงวันลงประชามติได้หรอก เพราะถึงอย่างไรมันก็ต้อง “เปิดช่อง” เป็นรูระบายออกมาจนได้ หลายฝ่ายเชื่อกันแบบนั้น เพราะเวลานี้ทุกสายตากำลังจับจ้องมองมาแบบตาไม่กะพริบ แน่นอนว่า นาทีนี้ย่อมไม่ใช่มีแต่ในประเทศเท่านั้น ยังมีรัฐบาลต่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ ที่ล้วนมีพลังกดดันสูงทั้งสิ้น แม้ว่าจะมีความพยายามชี้ให้เห็นในทำนองว่า “ชักศึกเข้าบ้าน” หรือบอกว่า เราเป็นเอกราชไม่ใช่เมืองขึ้นใคร ไม่จำเป็นต้องไปสนใจ แต่เชื่อเถอะคนที่พูดแบบนี้ “ปากไม่ตรงกับใจ” โดยเฉพาะคำพูดที่ออกมาจากปากของ ระดับผู้นำ ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รัฐมนตรีความว่า การกระทรวงกลาโหม รองหัวหน้า คสช. ที่กำลังสวมบทเข้ม ไม่ยอมให้องค์กรต่างประเทศ ตัวแทนต่างประเทศเข้ามาสังเกตการณ์การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ก็เถอะ ขอให้จำเอาไว้ว่าในที่สุดแล้วจะยอมให้เข้ามาหรือไม่
มองบางมุมเหมือนกับพวกของ ทักษิณ ชินวัตร ไปดึงเข้ามา ก็อาจจะจริงบ้าง แต่คงไม่ใช่ทั้งหมด เพราะการเคลื่อนไหวมันสอดคล้องกัน และฝ่ายทักษิณ เขาหากินกับประชาธิปไตยเลือกตั้งมาตลอดจึงเข้าทาง ขณะที่ฝ่าย คสช. และมวลชนสนับสนุนนั้นในแนวทางที่มามันขัดกับทางโลกที่กำหนดโดยมหาอำนาจตะวันตก เพราะ คณะรักษาความสงบแห่งชาติมาจากการรัฐประหาร รูปแบบชัดเจนคือ “เผด็จการ” เป็นแค่คณะบุคคล แต่ที่ยังอยู่ได้จนทุกวันนี้ เพราะประชาชนยังให้การสนับสนุน ไม่ใช่เพราะพลังอำนาจของคณะ รสช. ซึ่งเชื่อว่า พวกเขาก็น่าจะเข้าใจ เวลานี้ชาวบ้านยังให้โอกาสยังรอความหวัง
แต่ขณะเดียวกัน แรงกดดันจากนานาชาติ ก็ถือว่าสร้างอิทธิพลไม่น้อย หากสังเกตให้ดีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้จะแสดงให้เห็นว่าเป็นตัวของตัวเอง แต่สังเกตให้ดีในทางปฏิบัติกลับตรงกันข้าม มีการชี้แจง มีการเชิญทูตมาชี้แจง สั่งให้กระทรวงการต่างประเทศชี้แจง มีการพบสื่อต่างชาติ ชี้แจงนักลงทุน จนถึงขั้นถูกกล่าวหาว่า รัฐบาล คสช. เอาใจแต่ทุนใหญ่เสียด้วยซ้ำ แบบนี้จะเรียกว่า “ไม่แคร์” ได้อย่างไร
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณากันตามสถานการณ์ยังเชื่อว่าในที่สุดแล้ว ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะต้องผ่อนปรนให้มีการแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญแน่นอน เพราะการปล่อยให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเดินสาย “อวย” ร่างของตัวเองอยู่ฝ่ายเดียว มันก็ดูกระไรอยู่ รวมไปถึงการเปิดทางให้มีการสนับสนุนคำถามพ่วงให้ ส.ว. แต่งตั้ง ร่วมโหวตเลือกนายกฯคนนอกได้มันก็ยิ่งแล้วใหญ่
ข้ออ้างที่บอกว่าให้ชาวบ้านมีเสรีตัดสินใจด้วยตัวเอง ฟังดูเผิน ๆ เหมือนกับจะดี ให้เกียรติชาวบ้านให้เขาคิดเอง ไม่ต้องไปชี้นำ แต่หากมองอีกมุมหนึ่งมันก็เหมือนการปิดกั้นไม่ให้ชาวบ้านเขาได้รับรู้ข้อมูลทั้งสองฝ่าย ว่า อันไหนดีไม่ได้แล้วค่อยนำมาชั่งน้ำหนักในขั้นสุดท้ายว่าจะต้องตัดสินใจอย่างไรว่าจะรับหรือไม่รับ แบบนี้เหมือนกับการปิดหูปิดตาแล้วออกไปเสี่ยงดวงเอากันในวันลงคะแนน อีกทั้งคราวนี้ก็ยังไม่ยอมบอกว่าหาก “ไม่ผ่าน” แล้วจะทำอย่างไรต่อ มันก็ทำให่อึดอัด มิหนำซ้ำ ยังปฏิเสธความรับผิดชอบอีกหากไม่ผ่าน ทั้งที่ความคิดสำคัญ ประเด็นสำคัญล้วนมาจากความคิดความต้องการของ คสช. ทั้งสิ้น
ไม่เชื่อก็ลองพิสูจน์จากเนื้อหาในบทเฉพาะกาลสองในสามส่วนล้วนมาจากความเห็นของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ลงนามโดยผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาฯคสช. ส่งถึงมือคณะกรรมการร่างฯนั่นแหละ แถมอีกข้อก็มาโผล่ในคำถามพ่วงที่ให้ ส.ว. แต่งตั้ง (สมาชิกรัฐสภา) ร่วมโหวตเลือกนายกฯคนนอก (นอกบัญชีพรรค) ซึ่งที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. อารมณ์ฉุนเฉียวทุกครั้งเมื่อถูกถามว่า จะ “รับผิดชอบอย่างไร” หรือ “ลาออก” หรือไม่หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ
ดังนั้น หากพิจารณาตามความเป็นจริงก็ต้องพูดกันแบบตรง ๆ ว่า นี่คือเกม “เดิมพันอำนาจ” ที่เวลานี้หลายคนมองว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่กล้า หรือ “ไม่อยาก” ลงจากหลังเสือ ไม่กล้าลงจากอำนาจ จึงต้องยื้ออำนาจให้นานที่สุด ด้วยวิธีการที่แบบ “เข้ม” สลับ “ผ่อน” เหมือนกับเวลานี้ที่เริ่มจากการคุมเข้ม แต่เมื่อต้องเจอกับแรงกดดันที่เชื่อว่าน่าจะต้องหนักข้อขึ้นก็คงต้องประนีประนอมมากกว่าเดิม ไม่เช่นนั้น หากกดเอาไว้นานเกินไปก็อาจระเบิด “ตายหมู่” ก็เป็นได้ !!