ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -แวดวงอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปในศรีลังกาในห้วงยามนับจากนี้ดูจะอุดมด้วยรสชาติหลากหลายเพิ่มขึ้น หลังจากที่ปรากฏข่าวยักษ์ใหญ่และผู้นำในอุตสาหกรรมอาหารจากเมืองไทยในนาม เจริญโภคภัณฑ์ ตัดสินใจเคลื่อนทัพเข้าเติมเต็มสีสันด้วยการครอบกิจการของ Norfolk Foods เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
ความเคลื่อนไหวของเครือเจริญโภคภัณฑ์เข้าสู่ตลาดศรีลังกาในครั้งนี้ดำเนินการโดยผ่านกลไกของ CPF Investment ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในโครงสร้างของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (CPF) ด้วยการซื้อหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 80 ของบริษัท Norfolk Foods
โดยเป็นการซื้อหุ้นจากทั้งที่ถือครองโดย Expolanka Holdings ร้อยละ 50 และส่วนที่เหลือจาก Mohamed Ziauddin ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนประมาณ 4 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 140 ล้านบาท
การรุกคืบของ CPF ในครั้งนี้ถือเป็นการเปิดแนวรุกใหม่ครั้งสำคัญในอุตสาหกรรมอาหารของศรีลังกา เพราะแม้ว่า Norfolk Foods ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 1994 โดยมี “Crescent” เป็นแบรนด์สำคัญจะอยู่ในฐานะผู้ประกอบการลำดับที่ 3-4 ในอุตสาหกรรมนี้
แต่หากพิจารณาจากความชำนาญการและช่องทางการจัดจำหน่ายของ Norfolk โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มธุรกิจ HoReCa ที่กำลังขยายตัวเติบโตอย่างรวดเร็วควบคู่กับธุรกิจท่องเที่ยวของศรีลังกาแล้ว
นี่อาจเป็นข้อต่อทางธุรกิจที่สำคัญมากสำหรับ CPF ในอนาคตและสอดรับกับยุทธศาสตร์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์อาหารที่ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการผลิตเพื่อค้าปลีก หากแต่ยังให้ความสำคัญกับธุรกิจค้าส่งในกลุ่ม HoReCa ในฐานะที่เป็นหนึ่งกลยุทธ์ในการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องด้วย
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปของศรีลังกาจำนวนไม่น้อย ยังพึ่งพาระบบเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม ซึ่งทำให้เกิดปัญหาด้านปริมาณและคุณภาพของวัตถุดิบในการผลิตอยู่เป็นระยะ
การมาถึงของเจริญโภคภัณฑ์อาหารในครั้งนี้ ทำให้หลายฝ่ายประเมินว่าจะช่วยกระตุ้นและส่งเสริมการพัฒนากระบวนการผลิตให้ทันสมัย ควบคู่กับสภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการแต่ละรายที่จะทำให้อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปของศรีลังกาเพิ่มพูนขีดความสามารถในการผลิตให้สูงขึ้น
กรณีเช่นว่านี้ดูเหมือนผู้บริหารของ Norfolk จะเล็งผลเลิศไว้ล่วงหน้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ Mohamed Ziauddin ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ Norfolk Foods ที่เชื่อว่าการมี CPF มาร่วมเป็นพันธมิตรธุรกิจในครั้งนี้จะช่วยขยายบริบทไม่เฉพาะในมิติของธุรกิจในทางกว้างเท่านั้น แต่จะเป็นส่วนหนุนเสริมสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตในทางลึกอย่างมีนัยสำคัญ
ก่อนหน้านี้ ศรีลังกามีผู้ประกอบการอาหารแปรรูปรายหลักๆ ที่แข็งแรงมากอยู่ 3-4 รายไม่ว่าจะเป็น กลุ่ม Cargills ซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG: Fast-moving consumer goods) และอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป Cargills Quality Foods รวมถึงเครือข่ายร้านซูเปอร์มาร์เก็ตที่เป็นช่องทางการจัดจำหน่าย ภายใต้ชื่อ Cargills Food City
หรือในกรณีของ John Keells Holdings ที่มีทั้ง Keells food Products เป็นหน่วยผลิตใหญ่และเครือข่ายของ Keells Supermarket เป็นหน้าร้านกระจายสินค้าสู่ผู้บริโภค ซึ่งทำให้สินค้าของผู้ประกอบการทั้งสองรายนี้ยึดกุมฐานผู้บริโภคไว้อย่างเหนียวแน่น
ขณะเดียวกัน Ceylon Agro Industries ในเครือ Prima (Ceylon) Group จากกลุ่มทุนสิงคโปร์ ซึ่งมีจุดเน้นอยู่ที่ผลิตภัณฑ์จากแป้งสาลีและสัตว์ปีก (poultry) ก็ถือเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค เพราะมีทั้งเทคโนโลยี ความชำนาญการและลงหลักปักฐานสร้างธุรกิจอยู่ในศรีลังกามาอย่างยาวนาน
ความเป็นไปของยักษ์ใหญ่จากเมืองไทย ที่กำลังจะแสดงผ่าน Norfolk Foods ในสังเวียนธุรกิจของศรีลังกาที่มีผู้ประกอบการรายอื่นๆ ปักหลักรอคอยและแสดงความเป็นเจ้าของอยู่บนเวทีแล้วนี้ จะเป็นอย่างไร เป็นกรณีที่น่าสนใจติดตามไม่น้อย
หรือบางที นี่อาจเป็นเพียงปฐมบทเพื่อการทดสอบสรรพกำลังของแต่ละฝ่าย ก่อนการยาตราทัพใหญ่ในอนาคต