xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ดแข่งขันส่งอัยการสั่งฟ้อง บริษัทเครื่องดื่มชูกำลังรายใหญ่เอาเปรียบ ห้ามร้านค้าขายของคู่แข่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากกระทู้พันทิป
บอร์ดแข่งขันไฟเขียวส่งอัยการสูงสุด ฟ้องผู้ประกอบการเครื่องดื่มชูกำลังรายใหญ่ หลังพบพฤติกรรมเอาเปรียบ ห้ามร้านค้าขายสินค้าของคู่แข่ง ผิดมาตรา 25 และ 27 มีโทษจำคุก 3 ปี ปรับ 6 ล้าน หรือทั้งจำทั้งปรับ จับตาอัยการส่งฟ้องหรือไม่ หลังเคยไม่ฟ้องจนหมดอายุความมาแล้วเคสหนึ่ง ส่วนการแก้ไขกฎหมายแข่งขัน ชง ครม.พิจารณา 26 ก.ค.นี้

นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้คณะกรรมการฯ ที่มีนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องถึงอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาสั่งฟ้องผู้ประกอบการเครื่องดื่มชูกำลังรายใหญ่ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดและมีอำนาจเหนือตลาด ตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ภายหลังคณะอนุกรรมการสอบสวน ได้สืบสวนและสอบสวนพบว่าผู้ประกอบการรายใหญ่มีพฤติกรรมห้ามร้านค้าขายสินค้าของคู่แข่งจริง หากไม่ยอมทำตามจะไม่ส่งสินค้าให้ ถือเป็นการจำกัดโอกาสในการเลือกซื้อหรือขายสินค้าอย่างไม่เป็นธรรม และมีความผิดตามมาตรา 25 และมาตรา 29 ที่ห้ามการผูกขาด ลดการแข่งขัน หรือจำกัดการแข่งขัน หรือตกลงกันกำหนดราคาขาย โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากมีความผิดซ้ำต้องระวางโทษเป็นทวีคูณ

“ตอนนี้กรมการค้าภายในกำลังทำเรื่องส่งไปยังอัยการ ถ้าอัยการเห็นด้วยก็จะดำเนินการฟ้องร้อง แต่ถ้าไม่เห็นด้วย คณะกรรมการฯ สามารถทำความเห็นแย้งถึงอัยการสูงสุดให้ส่งฟ้องได้ซึ่งต้องติดตามดู เพราะที่ผ่านมา เคยมีเคสหนึ่งที่อัยการสูงสุดไม่ส่งฟ้อง จนกระทั่งหมดอายุความ และผู้ประกอบการรายนั้น ไม่ต้องรับผิด ทั้งๆ ที่มีพฤติกรรมแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจริง แต่กรณีใหม่นี้มีอายุความ 10 ปี” นายสันติชัยกล่าว

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาผลการศึกษาและตรวจสอบของคณะอนุกรรมการเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องกรณีการปรับขึ้นค่าภาระหน้าท่า (ทีเอชซี) เป็นอัตราเดียวกัน ของผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางทะเล หรือตัวแทนสายการเดินเรือในประเทศไทย ตามที่สภาผู้ขนส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) และสมาคมผู้นำเข้าและผู้ส่งออกระดับมาตรฐานเออีโอ ร้องเรียน ซึ่งจากการตรวจสอบสรุปได้ว่า ยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดแจ้งเพียงพอที่แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการดังกล่าวได้ตกลงร่วมกัน (ฮั้ว) กำหนดอัตราค่าบริการทีเอชซีเป็นอัตราเดียวกัน จึงยังไม่เข้าข่ายกระทำความผิดตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ที่ประชุมจึงเห็นควรให้ยุติเรื่องดังกล่าว

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์เตรียมเสนอการร่างแก้ไข พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. ... ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาในวันที่ 26 ก.ค.นี้ ก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาตามขั้นตอนต่างๆ แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน และมีการประกาศบังคับใช้ภายในสิ้นปีนี้

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับสาระสำคัญของ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า ที่ปรับปรุงใหม่ เช่น ปรับปรุงนิยาม “ผู้ประกอบธุรกิจ” ให้ครอบคลุมถึงบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกัน, คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเป็นผู้มีอำนาจในการออกประกาศหลักเกณฑ์การเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด, เพิ่มเติมนิยามปัจจัยสภาพการแข่งขันของตลาด, กำหนดให้รัฐวิสาหกิจทุกประเภทต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยกเว้นมีกฎหมายดูแลโดยเฉพาะหรือกำหนดตามนโยบายรัฐ, การจัดตั้งคณะกรรมการอิสระดูแลบริหารจัดการโดยเฉพาะ, ให้จัดสรรเงินจากค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการค้าในอัตราร้อยละ 10 มาเป็นค่าใช่จ่ายในการดำเนินงานของสำนักงานเป็นประจำทุกปี, ให้ทบทวนเกณฑ์ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดอย่างน้อย 1 ครั้ง ภายใน 5 ปี, เพิ่มโทษปรับทางอาญาในทุกพฤติกรรมความผิดจากเดิม 6 ล้านบาทเป็นร้อยละ 20 ของรายได้ในปีที่กระทำความผิด และเพิ่มโทษปรับทางปกครอง กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจฝ่าฝืนคำสั่งของคณะกรรมการฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น