ศูนย์วิจัยทองคำเผยดัชนีความเชื่อมั่นทองคำเดือนกรกฎาคม ปรับตัวขึ้นติดต่อกันเดือนที่ 3 ปัจจัยหนุนสำคัญจากค่าเงินบาทที่มีทิศทางอ่อนค่า ส่งแรงซื้อเก็งกำไรคึกคัก แถมภาวะเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว ส่วนทิศทางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีโอกาสแข็งค่าจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ยังเป็นปัจจัยกดดันสำคัญ ด้านผู้ค้ารายใหญ่ชี้ราคาทองคำในตลาดโลกมีเป้าสูงสุดที่ 1,600 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ และราคาทองคำในประเทศสูงสุดมีโอกาสขึ้นแตะ 25,000 บาทต่อบาททองคำ
นายพิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทองคำในเดือนกรกฎาคม 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 7.77 จุด หรือเพิ่มขึ้น 12.83% อยู่ที่ระดับ 68.34 จุด สูงกว่าระดับ 50 จุดต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งสอดคล้องกันทั้งนักลงทุน และกลุ่มผู้ค้า โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญจากค่าเงินบาทที่ยังมีทิศทางอ่อนค่า และแรงซื้อเก็งกำไรที่ยังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีปัจจัยลบจากทิศทางของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีแนวโน้มแข็งค่า ทั้งนี้ จากแบบสอบถามเรื่องความต้องการซื้อทองคำในช่วง 1 เดือนข้างหน้า พบว่า สัดส่วนผู้ที่คิดจะซื้อทองคำในช่วงเดือนกรกฎาคม 2559 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 41.03% ขณะที่สัดส่วนผู้ที่ไม่คิดจะซื้อทองคำในเดือนนี้เพิ่มขึ้นมาที่ 30.40% ของกลุ่มตัวอย่าง เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในระยะ 3 เดือนข้างหน้า ที่ยังสะท้อนมุมมองเชิงบวก จากการปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.86 จุดมาอยู่ที่ระดับ 62.21 จุด
สำหรับบทสรุปความคิดเห็นผู้ค้าทองคำ (Gold Trader Consensus) จากผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่ ผู้ค้าส่งทองคำ และผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำ จำนวน 6 ตัวอย่าง มองว่าราคาทองคำในตลาดโลกน่าจะมีกรอบราคาสูงสุดอยู่ระหว่าง 1,340-1,400 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ส่วนกรอบการเคลื่อนไหวของราคาต่ำสุดอยู่ที่ 1,200-1,300 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ส่วนราคาราคาทองคำในประเทศเดือนกรกฎาคม 2559 จะยังมีโอกาสปรับขึ้นต่อ โดยแบ่งเป็นผู้ค้า 4 ราย มองราคาเฉลี่ยทองคำในประเทศจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนที่เหลือมองราคาทองเฉลี่ยใกล้เคียงกับเดือนมิถุนายน โดยกลุ่มตัวอย่างคาดว่า ราคาทองคำแท่งในประเทศ (ความบริสุทธิ์ 96.5%) ให้ราคาสูงสุดที่ 22,000-24,000 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ และกรอบการเคลื่อนไหวต่ำสุดอยู่ที่ 20,000-22,000 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ
ขณะเดียวกัน ศูนย์วิจัยทองคำยังได้จัดทำแบบสำรวจกรอบราคาทองคำในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 จากผู้ประกอบการรายใหญ่ และตัวแทนซื้อขายอนุพันธ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับทองคำ 6 ราย พบว่า ราคาทองคำในตลาดโลกเฉลี่ยครึ่งหลังอยู่ที่ประมาณ 1,314 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ค่าเฉลี่ยสูงสุด 1,498 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ค่าเฉลี่ยต่ำสุด 1,183 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ กรอบค่าเงินบาทค่าเฉลี่ยครึ่งปีหลัง 35.38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ค่าเฉลี่ยสูงสุด 36.45 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ค่าเฉลี่ยต่ำสุด 34.32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนราคาทองคำในประเทศค่าเฉลี่ยราคาครึ่งหลังปี 2559 เท่ากับ 22,313 บาทต่อบาททองคำ ค่าเฉลี่ยสูงสุด 24,242 บาทต่อบาททองคำ ค่าเฉลี่ยต่ำสุด 20,383 บาทต่อบาททองคำ
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยทองคำยังเก็บข้อมูลต้นทุนหน้าเหมืองจาก 9 บริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ในปี 2558 เพื่อดูแนวโน้มต้นทุนหน้าเหมือง พบว่า ในช่วงปี 2558 ต้นทุนรวมในการประกอบธุรกิจเหมืองทองลดลงมาอยู่ที่ระดับ 868.58 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ จากต้นทุนรวม (All-In Sustaining Cost) เฉลี่ยถ่วงน้ำหนักในปี 2557 ที่อยู่ประมาณ 959 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เช่นเดียวกับต้นทุนเฉพาะการผลิตทองคำ (Cash Cost) เฉลี่ยถ่วงน้ำหนักปรับลดลงเล็กน้อยจาก 676.49 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ในปี 2557 มาอยู่ที่ระดับ 631 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ในปี 2558 สะท้อนถึงความพยายามปรับตัวของเหมืองทองคำเพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มราคาทองคำที่เป็นเชิงลบอีกด้วย