xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จาก “เสือเอเชีย” กลายเป็น “เห็บสยาม” มันเกินไป๊(เสียงสูง)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจระหว่างประเทศแนวใหม่ภายใต้โมเดล “เห็บสยาม” คือเกาะพันธมิตรกินจนอ้วน พอเพื่อนผอมลง เราก็จะโดดเกาะคู่ค้ารายใหม่ ไม่เน้นการแข่งขันเพราะเราอาจแข่งใครไม่ได้ สะท้อนความคิดทะเยอทะยานของเสือตัวที่ห้าแห่งเอเชียว่าจบสิ้นแล้ว พ.ศ.นี้ ประเทศไทยจึงขอเป็นแค่ “เห็บสยาม” คำที่ฟังแล้วจี๊ดขนาดนายกรัฐมนตรีต้องสั่งเลิกทันที มันเกินไป๊ (เสียงสูง)

โมเดล “เห็บสยาม” ที่ นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยในงานสัมมนา “เศรษฐกิจโลกขยับก้าว...เศรษฐกิจไทยขยับไกล” ที่ กบข.จัดขึ้น เมื่อวันก่อน เรียกเสียงฮือฮาระคนฉงนฉงายและไม่สบอารมณ์ไปตามๆ กัน ไทยเรากากขนาดถึงขั้นต้องไปเกาะประเทศอื่นเขากินแล้วหรือ

อย่างที่ว่า ภาษาทางการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ คิดจะปลุกระดมให้ประชาชนฮึกเหิมออกแรงสู้เพื่อกู้เศรษฐกิจของชาติ ต้องหาคำเปรียบเปรยให้สมศักดิ์ศรีกันหน่อย นี่เป็นจิตวิทยาสังคมที่ปลัดคลังควรรู้ แม้ว่าจะเป็นเรื่องจริง แต่ก็มิอาจทำให้ “พวกโลกสวย” ยอมรับได้

อย่าลืมว่าประเทศไทยเราเคยยิ่งใหญ่ระดับบิ๊กเบิ้มของเอเชีย ขนาดที่ว่าธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เคยมอบสมญานาม “เสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย” ให้แก่ไทย เมื่อคราวองค์กรการเงินโลกมาประชุมใหญ่ประจำปีที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนกันยายน 2534 ซึ่งช่วงทศวรรษนั้น (2528-2538) เศรษฐกิจของไทยรุ่งเรืองสุดขีด โดยมีอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 10 ต่อปีจากนโยบายโหมลงทุนอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก

แต่มาบัดนี้ ส่งออกทรุด บุญเก่าหมด ศักยภาพในการแข่งขันตกต่ำลงทุกด้าน การศึกษาล้มเหลว หรือว่านั่นเป็นที่มาของ “โมเดลเห็บสยาม” ซึ่งมองอีกมุมแล้วก็อาจเหมาะสมที่สุดดังว่า

“โมเดลเศรษฐกิจไทยส่วนตัวมองว่าควรเป็น “เห็บสยามโมเดล” คือเติบโตไปกับประเทศต่างๆ แต่ไม่ทรุดตัวไปตามวัฏจักรเศรษฐกิจ คือเราจะไปเกาะประเทศที่โตดี หากประเทศเหล่านี้โต เราจะโตตามไปด้วย กินจนเราอ้วน แต่เมื่อเกิดเศรษฐกิจขาลง เราจะย้ายไปโตกับประเทศอื่นแทน คือเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจกับทุกประเทศ ไม่ใช่เป็นคู่แข่ง” ปลัดกระทรวงการคลัง อธิบายความ ให้ภาพสวยว่าเรามีศักยภาพ มีความสามารถที่จะไปเกาะกินพันธมิตร ขอเติบใหญ่ไปด้วย

การเบนเข็มเปลี่ยนทิศจากมุ่งแข่งขันมาแสวงหาพันธมิตร นั่นคือหัวใจหลักของ “เห็บสยามโมเดล” ที่กระทรวงการคลัง จะนำมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยเน้นการสร้างพันธมิตรทั้งการค้า การลงทุนกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่มีศักยภาพเศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่อง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งไทยและพันธมิตรให้ขยายตัวด้วยกัน เช่น จีน อินเดีย แอฟริกาและอาเซียน เพราะหากเน้นการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ คงไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจภาพรวมของไทย เนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลกยังอยู่ในภาวะชะลอตัว

ขณะที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีคุมทีมเศรษฐกิจ ยืนยันว่า เห็บสยามโมเดลนั้น ไทยเปรียบเสมือนเสือซุ่ม ในยามที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวจึงขอสร้างความเข้มแข็งจากภายในเพื่อเตรียมตัวลงทุนในอนาคต และพร้อมทะยานสู่เวทีโลกเมื่อมีความพร้อม ขณะนี้จึงขอลับเขี้ยวเล็บให้คมก่อนออกไปสยายปีกในเวทีโลก ซึ่งคำอธิบายของปลัดคลังกับรองนายกฯ สมคิด อาจคล้ายๆ ไปไหนมาสามวาสองศอก คนละเรื่องเดียวกัน ประมาณนั้น

คำอธิบายเท่ห์ๆ ของปลัดกระทรวงการคลัง และรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ ว่าด้วยโมเดลเห็บนี้ ก็น่าหวั่นอยู่ว่าจะไม่ถูกพันธมิตรคู่ค้าหยอด frontline (ยาหยอดกันเห็บ (หมา)) หรือว่ากำจัดให้พ้นทางเพราะมาสูบเลือดสูบเนื้อเพื่อนจนอ้วนพีเสียก่อน และพันธมิตรเขี้ยวเล็บคมจะยอมให้เกาะกินหรือไม่ พิสูจน์กันให้เห็นชัดเจนแล้วจากโครงการรถไฟที่ไทยขอให้จีนมาลงทุน สุดท้ายไทยก็รับประทานแห้ว

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าปลัดคลังกับรองนายกฯ จะพยายามสร้างวาทกรรมกอบกู้เศรษฐกิจอย่างไร งานนี้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ไม่ขอรับมุก และโปรดฟังให้ชัดอีกครั้ง “....ที่มีประเด็นเรื่องเห็บสยามนั้น ผมก็คิดว่าพูดเกินไปหน่อย ได้สั่งการให้ยกเลิกไปแล้ว มันใช้ไม่ได้ทั้งหมดเราต้องยึดหลักประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทุกคนควรภาคภูมิใจในการเดินหน้าไปพร้อมกัน.....”

จะเป็นเสือแห่งเอเชียหรือจะเป็นเห็บสยาม ชีวิตจริงของชาวบ้านชาวช่องเวลานี้คือ หาเงินยากลำบาก ค่าครองชีพสูง สะท้อนเศรษฐกิจไม่ได้ดีสมดังคำโม้ของรัฐบาล แต่ถึงกระนั้นปลัดกระทรวงคลัง ยังคุยเฟื่องว่า เศรษฐกิจของชาติยังดีอยู่ในทุกด้าน นั่นคือ สถาบันจัดอันดับระดับโลกคือ ฟิชท์ เรทติ้งส์ และสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือมูดี้ส์ ประเมินว่าเศรษฐกิจของไทยมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งมากทั้งด้านการเงิน ฐานะการคลัง ทุนสำรองระหว่างประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัด กำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและบริษัทต่างๆ ดีเยี่ยม แต่มีปัญหาอย่างเดียวคือเรื่องของการเมืองที่จะเป็นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทย

ส่วนสาเหตุที่เศรษฐกิจไทยยังซบเซาอยู่นั้น ปลัดกระทรวงคลัง ก็ยกเอางานศึกษาวิจัยมาอ้างอิงว่า ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายการปราบปรามเงินนอกระบบ การคอร์รัปชันและธุรกิจผิดกฎหมายอย่างเข้มงวด จนทำให้เงินที่ผิดกฎหมายหายจากระบบปีละหลายแสนล้านบาท เช่น มีการศึกษาพบว่าในอดีตมีเงินนอกระบบปีละ 280,000-450,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นทั้งเงินหวย เงินท่อน้ำเลี้ยงนักการเมืองและเงินจากธุรกิจผิดกฎหมาย รวมถึงยังมีเงินเรื่องของการให้สินบนหรือเงินใต้โต๊ะที่ต้องให้นักการเมืองปีละ 200,000-300,000 ล้านบาท

“ที่ผ่านมาเงินนอกระบบที่มาจากธุรกิจผิดกฎหมายและเงินใต้โต๊ะเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะในอดีตมีการใช้เงินนอกระบบหรือเงินที่เป็นท่อน้ำเลี้ยงนักการเมืองกันง่ายและมาก ซึ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้....” ความหมายของนายสมชัย ก็คือตอนนี้รัฐบาลปราบคอร์รัปชั่นอยู่หมัด กระทั่งการจัดอันดับคอร์รัปชั่นของไทยดีขึ้นต่อเนื่อง เงินนอกระบบที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจอยู่จึงหดหายไป แต่ผลดีที่จะตามมาคือการทำธุรกิจและบริหารประเทศโปร่งใสมากขึ้น สักวันเศรษฐกิจโดยรวมก็จะดีขึ้นเอง

ไม่ใช่แค่เงินนอกระบบหดหาย ยังมีปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวมากเท่าที่ควรอีกอย่างนั่นคือ การลงทุนในประเทศและการบริโภคลดน้อยลง ขณะที่เงินออมของประชาชนมีเพิ่มมากขึ้นคือมีเงินแต่ไม่ใช้ พอจะใช้ก็ไปท่องเที่ยวต่างประเทศกันมากขึ้น การลงทุนก็เช่นกัน นักลงทุนไทยมีเงินแล้วหอบไปลงทุนต่างประเทศมากกว่าที่ทุนต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนในไทย ได้แต่รอดูว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล็อตใหญ่ตามนโยบายของรัฐบาลที่รอทำคลอด เช่น การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ การช่วยเหลือผู้สูงอายุ การช่วยเหลือผู้ยากจน ปฏิรูปด้านภาษีและระบบการเงินอื่นๆ จะได้ผล กระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลังนี้ได้หรือไม่

สมาคมธนาคารไทย ก็คาดการณ์ว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังน่าจะทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีการใช้จ่ายภาครัฐและการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นแรงขับดันหลัก และยังคงกรอบประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย หรือจีดีพี ในปี 59 ที่ 3-3.5% และส่งออกอยู่ที่ -2-0%

เช่นเดียวกันกับ การคาดการณ์ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่จะประกาศตัวเลขเศรษฐกิจในวันที่ 15 สิงหาคม 2559 นี้ โดย นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสภาพัฒน์ ระบุว่า สภาพัฒน์ จะแถลงการณ์ขยายตัวของเศรษฐกิจ ไตรมาส2/2559 รวมถึงการปรับคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2559 ที่ 3.3% โดยกรอบคาดการณ์อยู่ที่ 3.0% - 3.5%

“ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยติดอยู่ที่ภาคส่งออกและภาคเกษตร แต่ตอนนี้ภาคเกษตรไม่น่ามีปัญหาแล้วกลับมาดีขึ้นได้ จะเหลือเพียงภาคส่งออก จึงคิดว่าจีดีพีไทยจะกลับขึ้นมาเพิ่มขึ้นได้ เพราะเดิมเศรษฐกิจไทยไม่มี 2 ตัวนี้ก็เติบโตได้ 3% กว่า ตอนนี้เกษตรไม่มีปัญหาก็น่าจะกลับขึ้นมาได้” เลขาฯ สภาพัฒน์ คาดการณ์

“โมเดลเห็บสยาม” ฝันเฟื่องของกระทรวงคลังที่ถูกดับฝันชั่วข้ามคืน หรือจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่ยึดเอาประชาชนเป็นศูนย์กลางนั้น จะเฟื่องฟูจริงดังคาดการณ์หรือไม่ พิสูจน์ง่ายๆ ล้วงกระเป๋าแล้วมีเงินเหลืออยู่บ้างไหม พี่น้อง ?? นั่นแหละคือคำตอบ


กำลังโหลดความคิดเห็น