xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.มั่นใจ ศก.ไตรมาส 2 ฟื้นตัวต่อเนื่อง ไอเอ็มดีเลื่อนอันดับความสามารถแข่งขันไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ธปท.มั่นใจเศรษฐกิจไตรมาส 2 ฟื้นตัวต่อเนื่อง เตรียมปรับประมาณการจีดีพีของปี 59 ใหม่ ด้านไอเอ็มดีเลื่อนอันดับความสามารถแข่งขันไทยขึ้น 2 อันดับ อยู่ที่ 28 ของโลก หลังเดินหน้าปฏิรูปหลายด้าน

นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2559 ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสแรกของปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยว และการลงทุนภาครัฐ ขณะที่ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจจีน และการส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลให้ ธปท.ต้องมีการปรับประมาณการจีดีพีปี 2559 ใหม่ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินวันที่ 22 มิถุนายน จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.1

ส่วนเศรษฐกิจไทยเดือนเมษายน 2559 ขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีแรงส่งจากภาคบริการ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศขยายตัวร้อยละ 9.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนหนึ่งได้รับประโยชน์จากการขยายเส้นทางการบินระหว่างประเทศของสายการบินต้นทุนต่ำ ซึ่งนักท่องเที่ยวรัสเซียขยายตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 46.2 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ภาคการส่งออกยังซบเซาตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยหดตัวร้อยละ 7.6 จากช่วงเดียวกันของปี ประกอบกับกำลังซื้อภายในประเทศได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ส่งผลต่อเนื่องให้การลงทุนภาคเอกชนยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่องชัดเจน สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐแผ่วลงเล็กน้อย ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาเป็นบวกเล็กน้อยครั้งแรกในรอบ 16 เดือน ที่ร้อยละ 0.07 จากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารสด และราคาน้ำมัน อัตราการว่างงานทรงตัวร้อยละ 1 ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 3,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากมูลค่าการนำเข้าที่อยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับรายได้จากภาคการท่องเที่ยวที่ดี

ด้าน นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานศูนย์เพื่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน (TMA) เปิดเผยว่า สถาบันระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาการจัดการ (IMD World Competitiveness Center ) หรือ IMD ได้ประกาศผลการจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศสมาชิกทั่วโลกประจำปี 2559 (2016) จากทั้งหมด 61 ประเทศ เมื่อคืนที่ผ่านมา โดยฮ่องกง ได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศมีความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจสูงสุดในโลก รองลงมาเป็น สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา ลดจากอันดับ 1 มาเป็นอันดับ 3 ตามลำดับ

สำหรับประเทศไทย ได้รับการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นมาเป็นอันดับ 28 จากเดิมอยู่ในอันดับที่ 30 ในปี 2015 โดยมีคะแนน 74.681 เพิ่มจากคะแนน 69.786 และยังเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคอาเซียนที่ได้รับการปรับเพิ่มอันดับขึ้น ขณะที่หลายประเทศในอาเซียนถูกลดอันดับลง เช่น สิงคโปร์ ลดจากอันดับ 3 ลงมาอันดับ 4 มาเลเซีย ลดลงจากอันดับ 14 มาเป็นอันดับ 19 ฟิลิปปินส์ ลดจากอันดับ 41 มาเป็นอันดับ 42 อินโดนิเซีย ลดลงอันดับ 42 มาเป็นอันดับ 48

ทั้งนี้ ยอมรับว่าโครงสร้างพื้นฐานของไทยยังได้อันดับ 49 จึงต้องเร่งเดินหน้าพัฒนามากขึ้น เพราะประเทศเพื่อนบ้านพัฒนาไปมากแล้ว และด้านสุขอนามัย ด้านการศึกษา ซึ่งต้องใช้เวลาในการพัฒนา และต้องใช้เวลาในการพัฒนาด้านต่างๆ เหล่านี้ในช่วง 4-5 ปี ข้างหน้า จึงจะสะท้อนสิ่งที่ได้ดำเนินไปในขณะนี้ หลังจากส่งเสริมการทำวิจัย หักลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า การตั้งกองทุน การปรับปรังการสร้างโรงงาน รง.4 การสร้างโครงข่ายทางด่วน รถไฟฟ้า การเทงบประมาณด้านการศึกษา การปรับปรุงฐานข้อมูลของภาครัฐ โดยยังต้องพัฒนาอีกหลายด้านหลังจากทุกด้านเริ่มพัฒนาดีขึ้นมาเป็นอันดับ และจะทำให้ไทยมีอันดับดีขึ้นจากเดิมได้

ขณะที่ นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ในฐานะคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ กล่าวว่า ตัวชี้วัดสำคัญหลายด้านของไทยปรับขึ้นทั้งด้านการค้าระหว่างประเทศได้อันดับ 6 การจ้างงานอันดับ 3 ฐานะการคลังอันดับ 10 นโยบายการคลังอันดับ 5 สาธารณูปโภคอันดับ 35 ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐหลายปัจจัยถูกจัดอันดับสูงขึ้นจากมาตรการทางภาษี การให้สิทธิประโยชน์การลงทุน สำหรับประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ กฎระเบียบเกี่ยวกับสถาบันการเงิน บทบาทตลาดทุนเป็นแหล่งระดมทุนให้ภาคธุรกิจ แต่ยังต้องปรับปรุงด้านคุณภาพการผลิต

ทั้งนี้ เมื่อเฉลี่ยรวมกันแล้วไทยได้อันดับ 28 การปรับอันดับสูงขึ้น เพราะไทยมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่เข้มแข็งขึ้น แม้ว่าในช่วงที่ผ่านม าจะมีปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจโลก ดังนั้น หลายหน่วยงานจึงต้องปรับปรุงกฎหมายกว่า 200 ฉบับ และล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) สั่งการให้เร่งออกกฎหมายลูกเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน รวมทั้งนำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาให้บริการประชาชน และภาคธุรกิจ จึงมีส่วนช่วยให้การดำเนินธุรกิจในไทยมีความสะดวกยิ่งขึ้น ตลอดจนการออกมาตรการต่างๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคเอกชน

ไอเอ็มดี ระบุว่า ไทยพัฒนาปรับปรุงนโยบายรัฐบาล การใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การเติบโตของจีดีพีที่แท้จริงต่อประชากร จีดีพีต่อหัว 17,021 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี อัตราการว่างงานร้อยละ 0.9 รวมถึงเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน 34.24 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และการลดลงของความเสี่ยงด้านการไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง นับว่าการเมืองมีความมั่นคงมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น