ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ลิ่วล้อ-ขี้ข้ากังฉิน เริ่มโดนไล่เช็คบิลกันเป็นทิวแถว ส่วนมาก “รอดยาก” ร่วงกราวราวกับใบไม้ในช่วงฤดูหมดฝน
ล่าสุดกับคิว เบญจา หลุยเจริญ ที่ครั้งหนึ่งเคยรุ่งเรืองได้เป็นถึง รมช.คลัง ในยุครัฐบาล “คุณหนูยิ่งลักษณ์” จากฝีไม้ลายมือสมัยเป็นข้าราชการที่สนองงาน “บ้านจันทร์ส่องหล้า” อย่างถวายหัว จนเป็นที่เอ็นดูของ “นายหญิง” คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร ดูได้จากเส้นทางราชการที่ขึ้นลงตามวัฎจักรของ “ตระกูลชินวัตร”
โดย “เบญจา” ได้เป็นรองอธิบดีกรมสรรพากร ในปี 2546 สมัยรัฐบาลไทยรักไทย พอปลายยุค “ทักษิณ ชินวัตร” ก็ถูกไปแขวนเป็นผู้ตรวจราชการ นั่งตบยุงยาวตลอดช่วงรัฐประหาร 2549 กลับมาเข้าไลน์บริหารอีกครั้งได้เป็น รองปลัดกระทรวงการคลัง เมื่อปี 2551ก็ในสมัยรัฐบาลพลังประชาชน และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ได้เป็นอธิบดีกรมสรรพสามิต ก่อนเกษียณ 3 เดือนลาออกมารับตำแหน่ง รมช.คลัง แบบเชิดๆเริ่ดๆ
จากผลงานอันเอกอุที่ครั้งหนึ่งทำให้ขึ้นเป็นถึงเสนาบดี ในทางกลับกันก็ส่งเจ้าตัวต้องพบกับคราวเคราะห์จนได้ เมื่อล่าสุด ศาลอาญาพิพากษาให้จำคุก “เบญจา” เป็นเวลา 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา ในความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ 83
พ่วงด้วย จำรัส แหยมสร้อยทอง - โมรีรัตน์ บุญญาศิริ - กรช วิปุลานุสาสน์ อดีต ผอ.สำนักกฎหมาย กรมสรรพากร กริช วิปุลานุสาสน์ ผอ.สำนักกฎหมาย กรมสรรพากร ตลอดจน ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษณ์ เลขานุการส่วนตัวของ “คุณหญิงอ้อ” ด้วย
ทั้งหมดถูกลงโทษในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อช่วยเหลือ “หนุ่มโอ๊ค” พานทองแท้ ชินวัตร และ “สาวเอม” พินทองทา ชินวัตร ลูกชาย-ลูกสาวของ “ทักษิณ” เลี่ยงภาษีโอนหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (ชินคอร์ป) จำนวน 1,487 ล้านหุ้น มูลค่า 73,269 ล้านบาท ให้แก่ “กลุ่มเทมาเส็ก” ของประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 ซึ่งการซื้อขายหุ้นในราคา 1 บาท ได้มีการทำหนังสือถาม-ตอบว่า “พานทองแท้ - พิณทองทา” ไม่มีภาระภาษีต้องเสียจากการขายหุ้นชินคอร์ป
เรื่องนี้ถูกตรวจสอบอย่างหนักจาก คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ” (คตส.) ซึ่งตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549 โดย “เบญจา” ตกเป็นผู้ที่ถูกสอบสวนด้วย แต่ด้วยความ “เส้นใหญ่” ก็ยังมีบุญพาวาสนาส่งให้ออกจากกรุผู้ตรวจฯมาเป็นรองปลัดฯตามที่กล่าวไปแล้ว
สำนวนคดีในชั้นสอบสวนของ คตส.ได้โอนถ่ายมายัง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กลังจากที่ คตส. หมดวาระการทำงาน ซึ่ง ป.ป.ช.มีมติให้นำเรื่องดังกล่าวฟ้องร้องต่อศาลอาญา จนนำมาสู่การตัดสินคดี
คำถามหลังจากนี้จะถูกพุ่งตรงไปที่ “โอ๊ค-เอม” ทันทีว่าเมื่อมีเจ้าหน้าที่รัฐ กระทำเอื้อประโยชน์ให้การโอนหุ้น “ชินคอร์ป” ไม่เสียเงินแม้แต่บาทเดียว แถม “ศาลภาษีอากรกลาง” ยังเคยตัดสินเมื่อปี 2553 ว่า สองพี่น้องไม่มีความผิด ไปแล้ว
แม้รอดตัวในกระบวนการยุติธรรม แต่ก็เป็นตอกย้ำการใช้อำนาจเพื่อหลบเลี่ยง-ซ่อนเร้นทรัพย์สอนของตัวเองตามแบบฉบับคนตระกูลชินวัตรได้เป็นอย่างดี
คำตัดสินจำคุก “เบญจา” และพวก สะท้อนให้เห็นความย้อนแยงที่เกิดชขึ้นในสังคมไทย ที่บรรดาพวกตัวการชี้นิ้วสั่ง แถมยังได้ประโยชน์ มักรอดพ้นอาญาแผ่นดิน แต่คราวซวยดันตกมาถึงบรรดา “ลิ่วล้อ-มือไม้” มากกว่า
ชะตากรรมของ “เบญจา” และพวก แม้จะเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม แต่ก็ถูกตีขลุมรวมเป็นเกมถอนรากถอนโคน “เครือข่ายแม้ว” ได้ไม่ผิดนัก อย่างไรก็ตามแม้ “เบญจา” จะเคยเป็นถึงรัฐมนตรี แต่ก็แค่ระดับ “เด็กในบ้าน” ที่ไม่ได้สลักสำคัญอะไรในเครือข่ายตระกูลชินวัตร
สิ่งที่เกิดขึ้นน่าจะกระตุ้นเสียงเชียร์ให้ดังไปถึง “ขุนทหาร คสช.” ให้ลุยล้างบางไปถึงระดับบิ๊กๆ ใน “เครือข่ายแม้ว” ได้แล้ว อย่ามัวแต่รำมวยเชือดลูกเจี๊ยบ ปลาซิวปลาสร้อย ให้เกิดคำถามถึงวาทกรรม “เลือกปฏิบัติ” ต่อไปอีก
ถ้าให้เจ๋งจริง คสช.ต้องสอยให้หมด ไม่ว่าจะ “บิ๊กเนม - โนเนม” ให้เรียบวุธ ไม่ไว้หน้าใคร.