xs
xsm
sm
md
lg

คุก“เบญจา”3ปี คดีช่วย“โอ๊ค-เอม”เลี่ยงภาษี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน 360 - คุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา “เบญจา หลุยเจริญ” อดีต รมช.คลังยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ พร้อม 3 ขรก. ผิดมาตรา 157 ส่วน “เลขาฯหญิงอ้อ” เจอ 2 ปี ไม่รอลงอาญา ฐานช่วย “โอ๊ค-เอม” ลูกชาย-ลูกสาว “ทักษิณ ชินวัตร” เลี่ยงภาษีซื้อขายหุ้นชินคอร์ป ร่วม 8 พันล้านบาท เมื่อปี 2549 ก่อนศาลอนุญาตให้ประกันตัวคนละ 3 แสนไม่มีเงื่อนไข

วานนี้ (28 ก.ค.) เมื่อเวลา 11.20 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 912 ศาลอาญา แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ ได้มีการอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำ อท.43/2558 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นางเบญจา หลุยเจริญ อดีต รมช.คลัง สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร น.ส.จำรัส แหยมสร้อยทอง น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ นายกริช วิปุลานุสาสน์ ผอ.สำนักกฎหมาย กรมสรรพากร และ น.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ คนใกล้ชิดของเลขานุการส่วนตัวของ คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภรรยานายทักษิณ เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

คดีนี้ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องแผนกคดีทุจริตฯ ในศาลอาญา เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.58 ระบุพฤติการณ์สรุปว่า จำเลยที่ 1-4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของกรมสรรพากรปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อไม่ให้นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรของนายทักษิณ ต้องเสียภาษีอากร หรือเสียภาษีน้อยกว่าที่จะต้องเสีย และได้รับประโยชน์ที่มิควร โดยชอบด้วยกฎหมาย จากการที่นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด เมื่อปี 2549 คนละ 164,600,000 หุ้น ในราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท ขณะที่ราคาตลาดหุ้นละ 49.25 บาท ถือได้ว่านายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา เป็นผู้ได้รับเงินพึงประเมิน ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 และมีหน้าที่ต้องเสียภาษีของส่วนต่างราคาหุ้น คนละ 7,941,950,000 บาท ซึ่งการกระทำนั้นทำให้กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง และราชการเสียหาย จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธต่อสู้คดี

ศาลพิเคราะห์แล้ว คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1-4 ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ โดยมีจำเลยที่ 5 เป็นผู้สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่มิชอบหรือไม่ เห็นว่า คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร เคยมีความเห็นเกี่ยวกับรายได้และส่วนต่างการโอนขายหุ้นให้กับบุคคลธรรมดา เข้าลักษณะเป็นผู้ได้รับประโยชน์ ซึ่งต้องนำเงินนั้นมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 ซึ่งกรณีของนายพานทองแท้และน.ส.พิณทองทา ได้ประโยชน์จากส่วนต่างของการขายหุ้นละ 1 บาท จึงต้องเป็นรายได้ที่นำมาคำนวณเพื่อเสียภาษี โดยผลจากการกระทำของจำเลยที่ 1-4 ในการตอบข้อหารือที่ขัดไปก่อให้เกิดความเสียหายต่อกรมสรรพากร ซึ่งความผิดสำเร็จตั้งแต่การตอบข้อหารือ โดยจำเลยที่ 5 ซึ่งหารือมายังสำนักกฎหมาย แล้วนำคำหารือไปใช้ประโยชน์ จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนด้วย จึงพิพากษาว่า จำเลยที่ 1-4 มีความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ 83 ให้จำคุกคนละ 3 ปี

ส่วนจำเลยที่ 5 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ 86 มีโทษ 2 ใน 3 จึงให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปี และเมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีของจำเลยทั้งหมดจึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ

ต่อมาญาติและทนายความจำเลยได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เพื่อขอปล่อยชั่วคราวระหว่างยื่นอุทธรณ์ โดยจำเลยที่ 1-4 ยื่นหลักทรัพย์เป็นหนังสือรับรองการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ที่ต้องหาคดีของกรมสรรพากร วงเงินไม่เกินคนละ 4.2 แสนบาท ส่วนจำเลยที่ 5 ได้ยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสด จำนวน 3 แสนบาทขอปล่อยชั่วคราว

ล่าสุดศาลได้อนุญาตปล่อยตัว นางเบญจา และพวกรวม 5 คน เป็นการชั่วคราว วงเงินประกันคนละ 3 แสนบาท โดยไม่มีกำหนดเงื่อนไขใดๆ.
กำลังโหลดความคิดเห็น